กฤษฎีกาปรับปรุงเสร็จแล้ว! ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ-กมธ.สภานัดถก 1 เม.ย. คาดเปิดประชุมสภาวิสามัยฯได้กรอบเดิม 7-8 เม.ย. – ‘วิษณุ’ คอนเฟิร์มไม่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายปม 208 สมาชิกรัฐสภาโหวตเห็นชอบแก้ไขร่าง รธน.วาระ 3
.............................................
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ถึงความคืบหน้าในการพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรับปรุงเนื้อหาร่างเสร็จสิ้นแล้วเมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค. 2564 และคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ จะหารือกันในวันที่ 1 เม.ย. 2564 ดังนั้น วันที่ 1-2 เม.ย.น่าจะคุยกันเรียบร้อย และน่าจะประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้
เมื่อถามว่า กรณีมีการร้องเรียนถึงสมาชิกรัฐสภา 208 รายที่ลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 สุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไปร้องกันแล้ว แต่ไม่ต้องกลัวเพื่อนเยอะ ถ้าถามว่าสุ่มเสี่ยงหรือไม่ มองว่าไม่
รายงานข่าจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ภายหลังการประชุม ศบค.ดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม เรียกนายวิษณุ ขึ้นไปหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า เกี่ยวกับรัฐมนตรีที่รับตำแหน่งใหม่ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรหลังจากนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า อาจมีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ภายในวันที่ 7-8 เม.ย. 2564
วันเดียวกัน นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวว่า นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับแก้เนื้อหาของร่างกฎหมาย หลังจากที่มาตรา 9 ได้ปรับแก้ไขตาม กมธ.เสียงข้างน้อย โดยเพิ่มสิทธิรัฐสภาและประชาชน สามารถเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีทำประชามติ โดยเจ้าหน้าที่กฤษฎีกาขอเวลา 1 สัปดาห์ปรับแก้ไขว่า กฤษฎีกาแจ้งว่า ไม่สามารถพิจารณาเนื้อหาให้เสร็จทันตามกำหนด เพราะมีเนื้อหาที่โยงกับมาตรา 9 หลายมาตรานั้น
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอเรียนว่า การให้ข่าวเช่นนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะกรณีดังกล่าวหาได้เป็นเช่นที่มีการให้ข่าวแต่อย่างใดไม่ ในการนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงขอให้ผู้ให้ข่าวบิดเบือนความจริงเช่นนี้ แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในความเสียหายต่อชื่อเสียงของสำนักงาน และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานต่อการกระทำเช่นนี้
อ่านประกอบ :
ถก กม.ประชามติฯยังลุ้น! ‘วิษณุ’เคลียร์‘ชวน’-ตอบไม่ได้ประชุม 7-8 เม.ย.หรือไม่
'ชวน'ไม่เข้าใจ 7-8 เม.ย.ถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯเร็วอย่างไร-'วิษณุ'ชี้ กม.มีปัญหา
‘ชวน’เล็ง 7-8 เม.ย.เปิดประชุมสภาวิสามัญฯถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯให้จบ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage