'ชวน' ไม่เข้าใจ 'วิษณุ' ปมเปิดประชุมสภาวิสามัญถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ 7-8 เม.ย. เร็วเกินไปหมายถึงอะไร เผยเป็น กม.ด่วนที่ รบ.เสนอเอง ด้าน ‘เนติบริกร’ ไม่คอนเฟิร์ม รบ.ชุดนี้แก้ร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ขออย่าเพิ่งวิจารณ์ ให้ดูต่อไป นายกฯให้พรรคร่วมไปหารือกันก่อน ส่วน กม.ประชามติฯ อาจมีการแก้ไขอีกรอบ แบไต๋บางจุดมีปัญหาไม่ชอบด้วย รธน.-ชงกฤษฎีกาดำเนินการ
............................................................
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 7-8 เม.ย. 2564 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ เร็วเกินไปว่า เรื่องนี้อยู่ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ได้พูดคุยกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ. ทราบว่าจะมีการประชุมในวันที่ 1 เม.ย. 2564 จะเสร็จ แต่ถ้ารอให้เสร็จแล้วทำเรื่องกราบบังคมทูลเกล้าฯเพื่อเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ อาจจะไม่ทันในวันที่ 7-8 เม.ย. 2564 เพราะต้องมีระยะเวลาในการทำเรื่องทูลเกล้าฯ คณะ กมธ.ให้การรับรองแล้วว่าพิจารณาเสร็จทัน อย่างไรก็ดีกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายด่วนของรัฐบาล ไม่ใช่สภาเป็นผู้เสนอ ประธาน กมธ. ผู้นำฝ่ายค้าน และนายวิษณุ ได้พูดคุยกันเบื้องต้นแล้วว่า จังหวะเวลาเปิดประชุมสมัยวิสามัญ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าวันที่ 7-8 เม.ย. 2564 เหมาะสม เพราะหลังจากนี้จะเป็นวันหยุดยาวของสมาชิกรัฐสภา
“ผมไม่เข้าใจว่าเร็วเกินไปหมายถึงอะไร ถ้าไม่เร็วก็ต้องไปพิจารณาในสมัยสามัญเดือน พ.ค.เลย ถ้าไม่ใช่เรื่องด่วนก็พิจารณาแบบนั้นได้ แต่ในกรณีนี้ถือเป็นเรื่องด่วนที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายเป็นห่วงร่างกฎหมายดังกล่าวอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ นายชวน กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะเราทำหน้าที่ต่อฝ่ายที่เสนอกฎหมายมาให้ได้รับการพิจารณาตามวาระที่สภาดำเนินการ เพื่อไม่ให้กฎหมายค้างพิจารณา แต่การเปิดประชุมสภาวิสามัญที่ผ่านมา เปิดมาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ให้จบ แต่บังเอิญเกิดปัญหาขึ้นมาต้องมาพิจารณาอีกรอบ
เมื่อถามว่า ถ้ามีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้กระบวนการพิจารณาสะดุดหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า คนละเรื่องกัน การไปร้องแล้วแต่สมาชิกหรือใครก็ตามที่จะไปร้อง แต่สภามีหน้าที่กำหนดระยะเวลาโดยหารือกับทุกฝ่าย เพราะสภากำหนดเองไม่ได้ ถ้าเกิดรัฐบาลหรือฝ่ายอื่นไม่พร้อม หรือไม่ประสงค์จะเปิดประชุมก็เป็นสิทธิ์ เพราะผู้เสนอเปิดประชุมวิสามัญคือฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น จึงอยู่ที่รัฐบาลว่าต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เป็นอย่างไร หากรัฐบาลเปลี่ยนใจไม่เร่งเสนอกฎหมายก็เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล เราไม่มีปัญหาอะไร สภามีหน้าที่ดูแลนัดวันประชุมและกำหนดวาระให้ เพื่อให้เสร็จภารกิจเท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลได้แจ้งมายังสภาให้ยืนยันว่าติดปัญหาอย่างไร ตนตอบไปแล้วว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาลที่เป็นเรื่องด่วน
@'วิษณุ'ไม่คอนเฟิร์มแก้ รธน.ได้ใน รบ.นี้-นายกฯให้พรรคร่วมฯหารือ
วันเดียวกัน ในช่วงเช้า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครเริ่ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลไปหารือกันก่อน ได้ความอย่างไรกลับมาคุยกับรัฐบาลอีกครั้ง อย่างไรก็ดีรัฐบาลคือพรรคร่วมรัฐบาล แม้พรรคร่วมรัฐบาลอาจเห็นไม่ตรงกัน ให้คุยกันเสียก่อน นับหนึ่งตรงนั้นแล้วค่อยมาสองที่รัฐบาล หลังจากนั้นค่อยคิดต่อไปว่ารัฐบาลจะมาเกี่ยวข้องขนาดไหน อย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบเลยว่าจะแก้อย่างไร
เมื่อถามว่า ขณะนี้สังคมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เป็นไร วิจารณ์ไป คอยดูต่อไป อย่างเพิ่งวิจารณ์
เมื่อถามว่า เจตจำนงของรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไปใช่หรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เจตจำนงในการแก้ไข ไม่ได้แปลว่าเป็นเจตจำนงแก้ไขทั้งฉบับ
เมื่อถามอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คอยดูต่อไป
@เผยร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ อาจมีการแก้ไขอีกรอบ
ส่วนกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯฉบับใหม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา แต่ติดอยู่ที่มาตรา 9 อย่างไรก็ดีต้องดำเนินการต่อไป แต่จะเดินอย่างไรแล้วแต่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ กำลังทำงานกันอยู่ หากทำเสร็จ แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ เพื่อนัดเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ส่วนจะเป็นวันใดแล้วแต่ อยากให้รัฐสภาช่วยยืนยันมาอีกครั้ง
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนก่อนหน้านี้รัฐสภาต้องการเปิดประชุมสมัยวิสามัญในวันที่ 7-8 เม.ย. 2564 คิดว่าเร็วไป เพราะขณะที่มีหนังสือ ยังไม่มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ แต่ไม่เป็นไร กำลังให้เลขาธิการ ครม. ประสานไปที่รัฐสภาอยู่ โดยการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2564 เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญฯไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ใส่วันที่ ดำเนินไปไม่มีปัญหา ส่วนจะติดอะไรหรือไม่ ไม่ทราบ
“ยังไม่เห็นว่าเขาแก้มาตราที่ต่อเนื่องจากมาตรา 9 อย่างไร ถามกันขึ้นมาว่า หากถลำลึกลงไปในทางที่เกิดปัญหายุ่งยากในการบังคับใช้ เช่น ข้อความเกิดขัดแย้งกันและเกิดภาระของรัฐบาล ใครขออะไรมาก็ต้องทำประชามติทุกครั้งจะทำอย่างไร ได้เสนอความเห็นไป ความเป็นจริงใคร ๆ ก็ทราบว่าเป็นกระบวนการธรรมดา เมื่อออกกฎหมายมาแล้ว มีความบกพร่องในการบังคับใช้ก็แก้เท่านั้นไม่มีปัญหา ส่วนจะแก้ช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ดำเนินการ ในอดีตก็เคยมี กรณีออกกฎหมายมาแล้ว อีก 7 วัน ก็แก้กฎหมายฉบับนั้นเลยมีหลายฉบับ และไม่เป็นเรื่องใหญ่โต เช่น เมื่อปี พ.ศ.2517 ได้ออกรัฐธรรมนูญมาลงกระปรมาภิไธย ประกาศใช้แล้ว อีก 7 วันก็มาขอแก้เรื่องการสรรหา ส.ว. เป็นต้น” นายวิษณุ กล่าว
@ปัดเกมการเมืองแต่มีความผิดพลาดแก้ไขได้
เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่า หากร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ผ่านวาระ 3 และมีการประกาศใช้แล้ว รัฐบาลจะเสนอแก้ไขมาตรา 9 จะถูกมองว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า บอกไปแล้ว หากเกิดการบังคับใช้กฎหมาย หรือมีความผิดพลาด สามารถแก้ไขได้
"บางครั้งผิดพลาดแล้วถวายขึ้นไป ก็ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ที่เรียกว่าวีโต้กลับมาด้วยซ้ำไปในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ได้ถวายและรับมาแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องหมายครุฑพ่าห์มาแล้ว" นายวิษณุ กล่าว
@แบไต๋พบบางจุดมีปัญหาไม่ชอบด้วย รธน.-ชงกฤษฎีกาดำเนินการ
เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลขอแก้ไขในมาตราที่แพ้โหวตวาระ 2 จะถูกวิจารณ์มากหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่ได้บอกว่าอยู่ดี ๆ เพราะแพ้โหวตแล้วรับทำอะไรใหม่ แต่ต้องพบความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอื่น ๆ อีกหลายข้อ ขณะนี้ประเด็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็มีปัญหา
เมื่อถามย้ำว่าปัญหาส่วนใด รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่บอก เพราะยังแก้ไขไม่ถึง ได้บอกไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาว่า แก้สิ่งเหล่านี้เสีย อย่าให้เกิดปัญหา
เมื่อถามว่า จะแก้ที่มาตรา 9 เป็นหลักหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะมาตรา 9 ผ่านไปแล้ว เป็นมาตราอื่นแทน เพียงแต่มาตรา 9 เป็นต้นเหตุให้แก้มาตรา 10-13 เกือบจะไม่ต้องกลับไปแก้มาตรา 9 ด้วยซ้ำ
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายวิษณุ และนายชวน จาก https://www.thaipost.net/
อ่านประกอบ : ‘ชวน’เล็ง 7-8 เม.ย.เปิดประชุมสภาวิสามัญฯถกร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯให้จบ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage