องค์การเภสัชกรรม ประเดิมทดลองฉีดวัคซีนโควิดของไทยให้อาสาสมัคร 18 ราย เพื่อเก็บข้อมูลวิจัยในมนุษย์ระยะ 2-3 เชื่อครอบคลุมสายพันธุ์แอฟริกาใต้ด้วย คาดปี 65 เริ่มผลิตได้ 25-30 ล้านโดสต่อปี
...............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2564 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานแถลงข่าววัคซีนโควิด ชนิดเชื้อตายที่พัฒนาโดยคนไทย เริ่มวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 พร้อมให้กำลังใจอาสาสมัครที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกในการวิจัย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิดขึ้นเองภายในประเทศ เป็นการสร้างความมั่นคงและพึ่งพาตนเอง ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด ชนิดเชื้อตายด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ผลวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่ามีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี จึงเป็นโอกาสที่ดีในการศึกษาวิจัยฉีดวัคซีนในระยะที่ 1 และ 2 ให้กับอาสาสมัครจำนวน 460 ราย เพื่อให้มีผลการศึกษาครบถ้วน ก่อนนำยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อ อย. และผลิตในโรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม ที่มีเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนด้วยไข่ไก่ฟักที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่พร้อมปรับใช้ผลิตได้ทันที คาดว่าภายในปี 2565 จะขอรับทะเบียนตำรับและเริ่มผลิตวัคซีนได้ โดยกำลังการผลิต ประมาณ 25-30 ล้านโดสต่อปี
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า การผลิตวัคซีนโดยคนไทยเพื่อคนไทย โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์ของบุคลากรองค์การเภสัชกรรม ถือเป็นความหวัง และเป็นการขีดความสามารถใหม่ของประเทศที่จะผลิตวัคซีนได้เอง ลดการพึ่งพาต่างชาติ โดย สธ.ได้สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าใกล้ความสำเร็จในการผลิตวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตายได้เอง เมื่อผลิตได้ก็จะช่วยลดการนำเข้า และมีราคาถูกกว่า โดยปัจจุบันนอกจากการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิดขององค์การเภสัชฯ ชนิดเชื้อตายจากไข่ไก่ฟัก ที่ใกล้จะผลิตได้แล้ว ยังมีของจุฬาฯ ที่วิจัยวัคซีนโควิด ชนิดmRNA และวัคซีนโควิดจากยาสูบ ที่ใกล้สำเร็จ โดยเหลือวิจัยในมนุษย์ จึงไม่ต้องกังวลว่า ไทยจะวัคซีนไม่เพียงพอ เนื่องจากนักวิจัยไทยเก่งมาก สามารถทำงานได้ในภาวะวิกฤตได้ดี
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สำหรับการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิดขึ้นใช้เองในประเทศนั้น อภ.ได้ร่วมมือกับสถาบัน Program for Appropriate Technology in Health (PATH) สหรัฐอเมริกา ที่ได้ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ Mount Sinai ในนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเท็กซัส มาให้ใช้วิจัยพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ปี 2563 โดยมีการตัดแต่งพันธุกรรมหัวเชื้อไวรัสนิวคาสเซิลตั้งต้น ให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโควิด จึงมีความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโรค เพิ่มจำนวนในไข่ไก่ฟักได้
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวอีกว่า ทาง อภ.มีเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน จากการทดสอบความเป็นพิษในหนูแรทที่อินเดีย และทดสอบประสิทธิภาพและการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูแฮมสเตอร์ที่สหรัฐอเมริกา พบว่ามีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้รับอนุญาตให้ฉีดวัคซีนเพื่อศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 นี้ โดยวัคซีนป้องกันโควิดที่ อภ.วิจัยพัฒนาจะมีการทดสอบกับสารเสริมฤทธิ์ (Adjuvant) และจะเลือกสูตรที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจหาประสิทธิผลในการศึกษาวิจัยระยะต่อไป
พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าโครงการวิจัยศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด ชนิดเชื้อตายในอาสาสมัครครั้งนี้ เป็นการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 โดยเริ่มทดลองกลุ่มแรก 18 คน โดยในวันที่ 22 มี.ค. ได้ฉีดในอาสาสมัคร 4 คน แบ่งเป็นช่วงเช้า 2 คน และช่วงบ่าย 2 คน โดยก่อนฉีดในอาสาสมัครมีการคัดเลือกตามเกณฑ์ต่างๆ อาทิ ไม่เคยป่วยโควิด ไม่ตั้งครรภ์ โดยเมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 30 นาทีแรก จะตรวจอาการข้างเคียง 1 รอบก่อน จากนั้นสังเกตอาการอีก 4 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน
ส่วนกรณีวัคซีนโควิดเชื้อตาย จะครอบคลุมเชื้อกลายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือไม่ พญ.พรรณี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในการวิจัยอยู่ และต้องตรวจหาภูมิต้านทานที่กระตุ้นต่อวัคซีนนี้ ว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันอย่างไร ทั้งนี้เชื่อว่าโดยโครงสร้างจะสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานกว้างขึ้น
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B.1.351) อภ.ได้รับความร่วมมือจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ทำการทดสอบวัคซีนในการต้านเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว อีกทั้งจากการทดลองในหลอดทดลองพบว่ารับรับสายพันธุ์ต่างๆ ได้ และได้ผลดีในสายพันธุ์แอฟริกาใต้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage