บช.น.แถลงสรุปเหตุการณ์ ‘ม็อบ REDEM’ 20 มี.ค. อ้างความรุนแรงเกิดจากม็อบเป็นหลัก ตร.ใช้หลักสากลในการสลายการชุมนุม ลั่นประกาศเตือนสื่อ-แพทย์อาสาให้ออกจากพื้นที่แล้ว แต่โดนลูกหลงช่วงชุลมุน จับกุมผู้ต้องหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 20 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย มี 2 รายโดนตั้งข้อหา ม.112 ด้วย เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์ ยอดคนเจ็บรวม 32 ราย เป็น ตร. 20 ราย
...............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 11.20 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. แถลงสรุปภาพรวมเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม REDEM (Restart Democracy) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมาว่า มีการนัดชุมนุมของกลุ่ม REDEM กลุ่มศิลปะปลดแอก และกลุ่มเพื่อนอานนท์ บริเวณสนามหลวง รวมประมาณ 1,000 ราย และมีเหตุปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกิดขึ้น โดยอ้างว่าเป็นการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายเจ้าหน้าที่โดยใช้ไม้ แผงเหล็ก การใช้วัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) การทำลายทรัพย์สินของราชการ ทุบตีรถตู้ของราชการ มีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ พ่นสี ลากตู้คอนเทนเนอร์ ใช้คีมตัดเหล็ก ตัดรั้วลวดหนามของเจ้าหน้าที่ ขว้างปาก้อนหิน และของแข็งอื่น ๆ ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เผาวัตถุต่าง ๆ บนพื้นถนน โดยไม่เป็นไปตามเจตนาของการชุมนุมโดยสงบ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และประชาชนได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมในครั้งนี้หลายราย และมีทรัพย์สินของราชการเสียหาย ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 20 มี.ค. ถึง 00.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. 2564 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องทำการจับกุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
โฆษก บช.น. กล่าวว่า จากการชุมนุมดังกล่าวสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 20 ราย โดยแจ้งข้อหาหลัก ได้แก่ 1.ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) และมาตรา 51 3. ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 4. เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216 5. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6. ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก และมีผู้กระทำผิดบางส่วน ที่ได้กระทำผิดลักษณะกระทบจิตใจของพี่น้องประชาชนชาวไทยเป็นจำนวนมากอย่างจงใจ ได้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ทั้งหมดถูกส่งตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาคที่ 1 (ตชด.ภ.1)
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนตำรวจได้รับบาดเจ็บ 50 ราย ยังพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ 9 ราย และโรงพยาบาลวชิระ 2 ราย โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากผู้ชุมนุมเป็นหลัก ตำรวจเป็นฝ่ายตั้งรับและรักษากฎหมาย มีหน้าที่รักษาความสงบและรักษาสาธารณสมบัติ และโบราณสถานของชาติ ทั้งนี้ลักษณะการชุมนุมอ้างว่าไม่มีแกนนำ แต่จากการสืบสวนเชิงลึก กลุ่มผู้ชุมนุมมีแกนนำตามปกติแต่ไม่ปรากฏตัวเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการแถลงข่าว พล.ต.ต.ปิยะ นำภาพชายสวมเสื้อสก็อตมาโชว์สื่อมวลชน พร้อมระบุว่า ฝากประชาสัมพันธ์ถึงนักสืบโซเชียลฯ ให้ช่วยหาตัวบุคคลดังกล่าว เนื่องจากเป็นผู้ขว้างระเบิดใส่ตำรวจจำนวนหลายลูก หากใครพบเห็นให้แจ้ง บช.น. หรือกองบังคับการสืบสวนสอบสวน บช.น.
ส่วนกรณีสื่อมวลชนหลายรายถูกยิงด้วยกระสุนยาง ระหว่างตำรวจเข้ากระชับพื้นที่นั้น พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ได้กำชับในการใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนให้เป็นไปตามระเบียบ มีการประกาศเตือนสื่อมวลชน แพทย์อาสา และประชาชนให้ออกจากพื้นที่ แต่ยังมีสื่อมวลชนออกไม่หมด ทำให้ถูกลูกหลงช่วงชุลมุน โดย พล.ต.ท.ภัคพงษ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. รับทราบแล้ว และจะเดินทางไปเยี่ยมอาการ
ขณะที่ พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า ขอย้ำว่าการชุมนุมในห้วงเวลานี้ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยตำรวจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือกีดขวางในพื้นที่การชุมนุม เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบสถานที่สำคัญของราชการ และไม่อยากให้ผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายไปมากกว่านี้ การระงับยับยั้งไว้ระดับหนึ่ง ดีกว่าเกิดความเสียหายกับผู้ชุมนุม และสถานที่ราชการสำคัญ รวมทั้งการระงับยับยั้งผู้ชุมนุมไม่ให้ไปทำร้ายสถานที่สำคัญ
“เรามีมาตรการที่ได้รับการยอมรับระดับสากล ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้ชุมนุม พยายามดูแลสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบ และไม่เกิดความรุนแรงให้มากที่สุด มีการแจ้งเตือนเป็นระยะ ๆ เพื่อควบคุมพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำลงไปยืนยันว่าทำไปเพื่อรักษากฎหมาย” โฆษก ตร. กล่าว
อนึ่ง ช่วงเช้าวันเดียวกัน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สรุปเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม REDEM (Restart Democracy) บริเวณสนามหลวง สี่แยกคอกวัว และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อคืนวันที่ 20 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมาว่า มีการจับกุมผู้ต้องหา 20 ราย เป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว 16 ราย และเยาวชน 4 ราย โดยนำตัวส่งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (ตชด.ภ.1) จำนวน 19 ราย และส่งโรงพยาบาลตำรวจ 1 ราย
โดยรายชื่อผู้ต้องหาบริเวณสนามหลวง 7 ราย โดยมี 5 ราย ถูกกล่าวหาว่า 1. ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) และมาตรา 51 3. ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 4. เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216 5. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6. ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก เหตุเกิดที่บริเวณ รอบสนามหลวง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64 ระหว่างเวลา 19.30 – 20.00 น.
@ตั้งข้อหา ม.112 กับ 2 เยาวชนอายุ 14-15 ปี เหตุวางเพลิงเผาทรัพย์
ส่วนอีก 2 ราย เป็นเยาวชน อายุ 14 ปี 1 ราย และอายุ 15 ปี 1 ราย ถูกกล่าวหาว่า วางเพลิงเผาทรัพย์ บริเวณถนนราชดำเนินใน ปากทางเข้าซอยราชินี แขวงพระบรมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยทั้งคู่ถูกจับกุมได้ที่ ถนนพระราม 6 แยกศรีอยุธยา เขตพญาไท แขวงทุ่งพญาไท จ.กรุงเทพมหานคร
โดนตั้งข้อกล่าวหาว่า 1. หมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 2. ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 3. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) และมาตรา 51 4. มั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 5. เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216
ส่วนรายชื่อผู้ต้องหาบริเวณแยกสะพานวันชาติ 8 ราย ถูกกล่าวหาว่า1. ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) และมาตรา 51 3. ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 4. เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216 5. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซี่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6. ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก เหตุเกิดที่ บริเวณสะพานวันชาติ ถนนประชาธิปไตย แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 มี.ค.64 เวลา 00.30 น.
ผู้ต้องหาบริเวณแยกคอกวัว 5 ราย ถูกกล่าวหาว่า 1. ร่วมกันฝ่าฝืน ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และคำสั่งประกาศที่เกี่ยวข้อง 2. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ศ.2558 มาตรา 34(6) และมาตรา 51 3. ร่วมกันมั่วสุมสมคบกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 4. เจ้าพนักงานสั่งให้ผู้มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกแล้วไม่เลิก ผิดตามมาตรา 216 5. ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซี่งกระทำการตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ 6. ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธโดยร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก
@ศูนย์เอราวัณฯเผยยอดผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 32 ราย
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ จำนวน 20 ราย กลับบ้านได้ 9 ราย และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 11 ราย โดยส่วนใหญ่เกิดจากการถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทำร้าย และถูกวัตถุต่าง ๆ ขว้างปาใส่
วันเดียวกัน มีรายงานจากศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กทม. ระบุว่า นำส่งโรงพยาบาลรวม 32 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ 12 ราย ประชาชน 20 ราย แยกตามโรงพยาบาลต่างดังนี้ โรงพยาบาลกลาง 11 ราย โรงพยาบาวชิรพยาบาล 7 ราย (จนท.2 / ปชช.5) โรงพยาบาลศิริราช 2 ราย โรงพยาบาลตำรวจ11 ราย (จนท.10 / ปชช.1) โรงพยาบาลเลิดสิน 1 ราย ทั้งนี้เป็นข้อมูล ณ เวลา 07.30 น. ของวันที่ 21 มี.ค. 2564
อ่านประกอบ :
ตร.เผยคุมตัวผู้ชุมนุม 5 ราย จนท.เจ็บ 6 นาย ย้ำใช้รถฉีดน้ำ-แก๊สน้ำตาตามกฎหมาย
ตร.ค้น สนพ.ฟ้าเดียวกัน ยึดหนังสือ‘สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย’ก่อนม็อบเตรียมแจก
บช.น.เตรียมกำลังรับมือผู้ชุมนุม แนะ ปชช.เลี่ยงเส้นทางรอบสนามหลวง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage