ศาลรธน.วินิจฉัย กรณีพ.ร.บ.เวนคืนฯ ม.34 กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้เงินค่าเวนคืน ต้องร้องขอรับเงินภายในกำหนด 10 ปี เป็นบทบัญญัติที่ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุเพิ่มภาระประชาชนเกินจำเป็น-จำกัดสิทธิบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
.................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 โดยวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เพิ่มภาระเกินความจำเป็นและจำกัดสิทธิของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
ศาลฯให้เหตุผลว่า การที่มาตรา 34 ของพ.ร.บ.เวนคืนฯ กำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนต้องดำเนินการร้องขอรับเงินค่าทดแทนที่วางไว้ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่มีการวางเงินหากไม่ดำเนินการภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีผลให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดินนั้น
1.เป็นบทบัญญัติที่ยึดถือความสะดวกของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนและยังไม่คำนึงถึงกรณีที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน อาจมีเหตุขัดข้องในการแสดงสิทธิของตน หรือมีกรณีที่อาจทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิของตนได้ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
2.รัฐย่อมมีหน้าที่จ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้เพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหายที่บุคคลนั้น ได้รับจากการที่รัฐได้พรากเอากรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลเหล่านั้นไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการแบกรับภาระหน้าที่ของบุคคลที่มีต่อสาธารณะเกินไปกว่าบุคคลที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกันมากพออยู่แล้ว
3.บทบัญญัติมาตรา 34 จึงเป็นการลิดรอนสิทธิของบุคคลผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนเพิ่มเติมไปอีก
4.มีผลเป็นว่ารัฐใช้อำนาจเวนคืนไปโดยที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ได้รับค่าทดแทนที่เป็นธรรมและยังกระทบกระเทือนต่อหลักการเรื่องสิทธิของบุคคลที่ต้องได้รับเงินค่าทดแทนจากการถูกเวนคืน จนถึงขั้นทำลายหลักประกันที่ว่าทรัพย์สินของประชาชนจะไม่ถูกเวนคืนไปใช้ประโยชน์สาธารณะ โดยปราศจากการจ่ายค่าทดแทนที่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 37 วรรคสาม
“พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 34 จึงเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เพิ่มภาระเกินความจำเป็นและจำกัดสิทธิของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง”คำวินิจฉัยระบุ
สำหรับคดีนี้ ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดี 3 ราย ในคดีหมายเลขดำที่ 688/2560 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามาตรา 212 สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์ ชัยสันติกุลวัฒน์ ยื่นฟ้องการประปานครหลวง (กปน) และผู้ว่าฯ กปน. ว่า นายวิบูลย์ บิดา ของผู้ฟ้องทั้งสาม เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 9949 อ.บางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งถูกเวนคืนตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี และ อ.กำแพงแสน อ.ดอนตูม อ.บางเลน จ.นครปฐม พ.ศ.2539 เพื่อสร้างคลองส่งน้ำดิบ
ต่อมานายวิบูลย์เสียชีวิต ผู้ว่าฯ กปน. มีหนังสือลงวันที่ 22 มี.ค.2542 แจ้งนายวิบูลย์ เพื่อตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนและรับเงินค่าทดแทน 2.15 ล้านบาท ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และนางลออ ชัยสันติกุลวัฒน์ มารดา จึงติดต่อกับกองจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากยังมีปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว นางลออ มีหนังสือลงวันที่ 15 เม.ย.2542 แจ้งข้อเท็จจริงให้ผู้ว่าฯ กปน. ทราบไว้ก่อน และขอสงวนสิทธิที่จะคัดค้านและอุทธรณ์การกำหนดเงินค่าทดแทนดังกล่าว
ต่อมาผู้ว่าฯ กปน. มีหนังสือลงวันที่ 9 ธ.ค.2542 แจ้งนางลออ เกี่ยวกับการเข้าครอบครองใช้ที่ดินและให้ไปรับเงินค่าทดแทนในวันที่ 10 ธ.ค.2542 แต่นางลออ ได้มีหนังสือลงวันที่ 10 ก.พ.2543 อุทธรณ์การกำหนดเงินทดแทน หลังจากนั้นผู้ว่าฯ กปน. มีหนังสือลงวันที่ 2 มิ.ย.2543 แจ้งนายวิบูลย์ว่า ได้นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารออมสิน สาขาบางเลน ในชื่อนายวิบูลย์เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2543
อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2555 ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม พบว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 9949 สูญหาย ซึ่งกรมที่ดินออกใบแทนโฉนดให้เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2558 จากนั้นผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ไปติดต่อขอรับเงินค่าทดแทนดังกล่าวจาก กปน. และผู้ว่าฯ กปน. หลายครั้ง
ต่อมาผู้ว่าฯ กปน. มีหนังสือลงวันที่ 28 ก.พ.2560 แจ้งว่า การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นขอรับเงินค่าทดแทน ซึ่งกปน.นำไปฝากไว้กับธนาคารออมสินแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2543 เกินกว่า 10 ปี นับจากวันที่มีการวางเงิน เป็นผลทำให้เงินค่าทดแทนตกเป็นของแผ่นดินตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 ซึ่งบัญญัติว่า การร้องรอรับเงินที่วางไว้ตามมาตรา 31 ให้ร้องขอรับภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีการวางเงิน ถ้าไม่ร้องภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ให้เงินตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้สั่งให้ กปน. และผู้ว่าฯ กปน. จ่ายเงินทดแทนที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม
ทั้งนี้ ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ผู้ฟ้องคดีทั้งสามโต้แย้งว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 ไม่ได้ระบุเหตุผลหรือความจำเป็นในการจำกัดสิทธิไว้ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ ต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิไว้ด้วย
อีกทั้งการกำหนดให้เงินทดแทนตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่มาตรการที่มีเหตุผลหรือมีความจำเป็นเพื่อให้ กปน. ทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายเวนคืนที่ดิน เพราะคลองส่งน้ำดิบ สร้างเสร็จไปก่อนที่บทบัญญัติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายให้บังคับเฉพาะกรณีที่ไม่ร้องขอรับเงินค่าทดแทนภายใน 10 ปีเท่านั้น อันเป็นการบังคับกับกรณีใดกรณีหนึ่งเป็นการเฉพาะ มิได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 34 จึงไม่มีผลบังคับใช้
ศาลปกครองกลาง เห็นว่ายังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติมาตรา 34 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 จึงส่งคำโต้แย้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดังกล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage