สธ.เผย WHO และ EMA ยืนยันแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัย-ไม่เกี่ยวข้องกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วน 'คลัสเตอร์ตลาดบางแค' พบป่วยกระจายไป 4 จังหวัด เหตุอากาศไม่ถ่ายเท-เคี้ยวหมาก-สวมใส่หน้ากากอนามัยผิด
...................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์กรณีพบผู้ติดเชื้อในตลาดบางแคว่า ตลาดบางแค เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม ย่านธนบุรีใต้ มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ซอยเพชรเกษม 39/1 เขตภาษีเจริญ ไปสิ้นสุดในเขตบางแค โดยมีตลาดแยกย่อย 6 ตลาดพื้นที่ติดกันและห้างสรรพสินค้าในตลาดสด จากการสำรวจตลาดบางแคของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ตรงทางเดินมีพ่อค้าแม้ค้าจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ผู้เช่าแผงจะเป็นคนไทย ส่วนลูกจ้างจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมักมีพฤติกรรมเคี้ยวหมาก ตะโกนพูดคุย และสวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ใต้คางหรือใต้จมูก ทั้งนี้แม้ว่าจะอากาศร้อนแต่ยังมีประชาชนสัญจรกันมาเป็นจำนวนมาก โดยภาพรวมภายในตลาดทั้ง 6 แห่ง จะมีประชาชนอยู่ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ตลอดเวลา ทั้งนี้ตลาดทั้งหมดมีพื้นที่ติดกัน มีทางเข้าออกหลากหลายทาง ซึ่งไม่พบการเคร่งครัดการตรวจวัดอุณหภูมิ และตลาดบางแห่งเปิดมานานแล้ว ทำให้มีหลังคาที่ค่อนข้างต่ำ และมีระบบระบายอากาศที่ไม่ค่อยดี คล้ายกับตลาดพรพัฒน์ จังหวัดปทุมธานี
อย่างไรก็ตามหลายตลาดได้ทำให้หลังคาสูงขึ้น และติดตั้งพัดลมเพิ่มเติมแล้ว รวมถึงมีการวางแผนการเก็บน้ำทิ้งและตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในตลาดย่านบางแค ปิดตลาดเพื่อทำความสะอาด เพิ่มความเคร่งครัดมาตรการควบคุมป้องกันโรค ได้แก่ การคัดกรองจุดเข้าออกตลาด การเน้นการล้างมือ และการสวมใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงจัดทำข้อเสนอข้อบัญญัติตลาดให้จัดทำทะเบียนผู้ค้าขายและลูกจ้างในตลาด ซึ่งวันนี้จะมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกให้ครบถ้วน เพื่อให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อจะได้สามารถมีบัตรรับรองเป็นเครื่องหมายเลียนแบบวัคซีนพาสปอร์ตจังหวัดปทุมธานี
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า รายงานของกระทรวงสาธารณสุขเบื้องต้น พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ตลาดบางแค ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ ที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 20-59 ปี ทั้งนี้ยังมีผู้ติดเชื้อมีภูมิลำเนากระจายไป 4 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี 5 ราย นครปฐม 3 ราย เพชรบุรี 6 ราย และสมุทรสาคร 1 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ส่งรายชื่อไปให้จังหวัดต่างๆ ติดตาม และนำเข้าสู่โรงพยาบาลเข้าสู่การรักษาต่อไป นพ.โอภาส กล่าว
“คนติดเชื้อที่ตลาดบางแคส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขาย และลูกจ้าง จัดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อระลอกใหม่ มีคนหนึ่งติดเชื้อ และมีภูมิลำเนาอยู่สมุทรสาคร แต่ยังบอกเร็วไปว่ามาจากตรงนั้น ซึ่งความร่วมมือเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการระบาดรอบนี้” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากตรวจคัดกรองกับพ่อค้าแม่ค้า ร่วมถึงลูกจ้างกลุ่มแรงงานข้ามชาติแล้ว สำหรับประชาชนที่เดินทางมาซื้อของในตลาดตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.-13 มี.ค.2564 มีความกังวล ถ้าหากมีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส ให้เข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากกังวลและไม่มีอาการกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับเขตบางแค จะนำรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย และรถตรวจห้องปฏิบัติการด่วนพิเศษ ไปให้บริการตรวจหาเชื้อฟรีที่สวนสาธารณะข้างเดอะมอลล์ บางแค ในวันที่ 15 ก.พ.2564 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. หรือเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค และสถาบันบำราศนราดูร 3 แห่ง
@ ฉีดวัควัคซีนแล้ว 4.49 หมื่นราย คาดสัปดาห์หน้าปรับแผนฉีดใน กทม.ให้มากขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวถึงสถานการณ์การกระจายวัคซีนโควิดว่า มีผู้ที่ได้รับวัคซีนรวมสะสม 44,963 ราย โดยวันนี้ฉีดวัคซีนแล้ว 554 ราย แบ่งเป็น บุคลากรการแพทย์ สาธารณสุข และ อสม. 49 ราย เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 195 ราย บุคคลที่มีโรคประจำตัว 66 ราย ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 244 ราย
ขณะที่มีผู้ได้รับอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนชนิดไม่รุนแรง 4,141 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.21% ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด ซึ่งไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด และยังไม่พบผู้ใดได้รับผลข้างเคียงรุนแรง
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้เกือบทั้งหมดฉีดวัคซีนครบแล้ว และใกล้ครบแล้ว รวม 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก สมุทรสงคราม ราชบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรปราการ ส่วนอีก 2 จังหวัด ยังมีตัวเลขการรับวัคซีนไม่ถึง 50% จากจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีน ได้แก่ สมุทรสาคร และกทม. ซึ่งกทม.ยังมีตัวเลขที่น้อยมาก เพียง 13.5% คาดว่าสัปดาห์จะมีการปรับแผนการฉีดในกทม.ให้รวดเร็วมากขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตามทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
@ WHO และ EMA ยืนยันวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัย-ไม่ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
นพ.โอภาส กล่าวถึงกรณีหลายประเทศในสหภาพยุโรป และไทยชะลอการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า โดยส่วนใหญ่แล้วบุคคลที่จะเป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จะพบในชาวต่างชาติแถบยุโรปมากกว่าไทย โดยเฉพาะที่ขา เนื่องจากหากไม่ขยับเท้า เลือดจะไม่สามารถไหลเวียนไปสู่หัวใจหรือปอดได้ ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และเมื่อเลือดค้างเป็นเวลานานในหลอดเลือด จะทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่าย ซึ่งมีความอันตรายคือ หากเกิดเป็นเกล็ดหรือก้อนเลือดกระจายไปที่ปอด จะทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนล้มเหลว จะเสียชีวิตได้
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบเป็นตัวเลข หากประชากร 1 ล้านคน เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 10 ราย หากมีประชากร 3 ล้านคน จะเกิดภาวะลิ่มเลือดได้ 30 ราย อย่างไรก็ตามในกรณีของการพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีน 7.3 ล้านรายพบว่ามี 22 ราย แสดงว่าปกติ ทั้งนี้หากเกิดขึ้นเพิ่มชึ้นเป็น 2 เท่า แบบนี้ถึงจะเรียกว่าไม่ปกติ” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ทั้งองค์การอนามัยโลกและองค์กรยาของสหภาพยุโรป (European Medicines Agency: EMA) ให้การยืนยันอย่างเป็นทางการว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าปลอดภัย ไม่เกี่ยวข้องทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องจากเมื่อทำการสอบสวนโรคพบว่าเกิดขึ้นเพียงที่เดียวที่เดนมาร์กและการเกิดนั้นไม่ถือว่าผิดปกติจากสิ่งที่เคยเป็น และในหลายๆประเทศ อย่างอังกฤษไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ปัจจุบันหลายประเทศดำเนินการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อแล้ว ซึ่งไทยได้เตรียมหารือคณะอาจารย์แพทย์และผู้เกี่ยวข้องต่างๆให้ทราบในสัปดาห์หน้า หากไม่พบปัญหาใด จะมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าต่อไปตามแผนที่กำหนด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage