สธ.แจงปมเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลังหลายประเทศในสหภาพยุโรปชะลอการฉีด'วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า' คาดเกี่ยวกับช่วงอายุ-เผ่าพันธ์ุ-โรคประจำตัว ไม่ใช่วัคซีน เหตุพบจำนวนผู้เสียชีวิตเกี่ยวข้องวัคซีนทุกชนิดน้อย อย่างไรก็ตามขอให้รอผลสอบอีก 2-3 สัปดาห์ เพื่อความชัดเจน-ปลอดภัยของประชาชน
................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2564 รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในสถานการณ์ระบาดของโรค ที่สามารถผลิตวัคซีนได้ภายใน 1 ปี ถือว่ามนุษย์มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างสูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าวัคซีนจะเป็นคำตอบสุดท้าย ยกตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ เมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา มีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดไปทั้งหมด 17 ล้านโดส มีผู้เสียชีวิต 100 ราย จากการสอบสวนพบว่าการเสียชีวิตเกือบทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวที่มีมาก่อนแล้ว มีเพียง 1 รายเท่านั้น ที่เข้าข่ายอาจจะเสียชีวิตเนื่องจากวัคซีน
"อาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีน สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะใช้มาหลาย 10 ปี หรือแม้แต่วัคซีนใหม่ ๆ ก็ตาม ดังนั้นกรณีการพบผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศสหภาพยุโรป 22 ราย จาก 3 ล้านโดส เป็นลิ่มเลือดที่อุดอยู่ในเส้นเลือดดำ ซึ่งไม่ได้เหนือความคาดหมาย แต่สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องสอบสวนว่าตกลงวัคซีนมีความเกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง สร้างความมั่นใจให้กับทุกท่าน" รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนที่เข้าสู่ตลาดมากถึงประมาณ 2-3 พันล้านโดส ซึ่งคาดว่าส่งออกสู่ตลาดสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในตอนนี้ ส่วนวัคซีนของไฟเซอร์ที่ผลิตออกมาก่อนหน้านี้ เมื่อนำไปฉีดที่แสกนดิเนเวีย มีพบผู้เสียชีวิตด้วยเช่นกัน แต่เมื่อสอบสวนแล้ว กลับพบว่าวัคซีนไม่ใช่สาเหตุเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุ เมื่อมีโรคประจำตัว แล้วได้รับอาการข้างเคียงของวัคซีน ร่างกายจะอ่อนแอ ฟื้นตัวได้ยากกว่าวัยหนุ่มสาว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่ขอชะลอการใช้วัคซีนก่อน ซึ่งล็อตที่ผลิตจากแถบทวีปยุโรป แต่ก็มีบางประเทศคือแคนาดา อินเดียและออสเตรเลียที่ยังดำเนินการฉีดวัคซีนต่อ เนื่องจากยังไม่พบใครมีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้ไทยนำล็อตวัคซีนมาจากเกาหลีใต้ด้วย ซึ่งเป็นคนละล็อตที่เกิดปัญหา
"วัคซีนมีความปลอดภัย ขอให้เข้าใจว่าจากเอกสารที่เขาส่งมา เป็นการศึกษาวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง 3 หมื่นราย แต่เมื่อฉีดจริง 3 ล้านโดส ซึ่งแตกต่างกันถึง 100 เท่า ดังนั้นโอกาสต่างๆที่จะมาเกี่ยวมาพัน จึงมีความเป็นไปได้ ไทยจึงได้ชะลอการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ก่อน ซึ่งคาดว่าประมาณอีก 2-3 อาทิตย์ผลการตรวจสอบว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าดังกล่าวทำให้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหรือไม่ คงจะออกมา" รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวถึงการคาดการณ์การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังจากฉีดแอสตร้าเซนเนก้าว่า ผลที่ออกมาน่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะยิ่งเสี่ยง
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันมีสาเหตุอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.เป็นผู้มีอายุ 50 ปีตอนปลายขึ้นไป โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะมีการเคลื่อนไหวร่างการในประมาณน้อย ทำให้เลือดไหลช้า และมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้ 2. เผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในทวีปยุโรปและแอฟริกาจะมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเยอะกว่าประมาณ 3-5 เท่า และ 3. มีโรคประจำตัว ยกตัวอย่างเช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง และโรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือหญิงตั้งครรภ์
"โรคนี้เจอบ่อยในผู้สูงอายุ แต่ถือว่าเจอน้อยมากสำหรับชาวเอเชีย จนกระทั่งใบเซ็นยินยอมเพื่อการผ่าตัดของไทยยังไม่มีระบุเงื่อนไขภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่ที่ยุโรปมี ดังนั้นขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าไทยเราเจอน้อยจริงๆ" รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลตัดสินใจชะลอการให้วัคซีนชั่วคราว รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี เมื่อมีความกังวล ควรจะตรวจสอบให้แน่ชัด ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของไทยดีขึ้น ทำให้สามารถรอได้
"ผลข้างเคียงของวัคซีน อย่าง ปวด บวม แดง ร้อน มีแน่นอนประมาณ 20% เนื่องจากการศึกษาวิจัยในจำนวน 3 - 4 หมื่นราย ก็เจอแบบนี้ ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจในข้อคิดเห็นและคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข" รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว
@ วัคซีนที่ไทยนำเข้า ป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้ระดับหนึ่ง
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวตอบข้อซักถามกรณีวัคซีนที่ไทยนำเข้า มามีประสิทธิภาพในป้องกันเชื้อโควิดกลายพันธุ์ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไวรัสจะทำเพื่อความอยู่รอด ซึ่งคณะแพทย์หลายๆ สถาบันได้นำเชื้อไวรัสโควิดที่ระบาดภายในไทยไปตรวจ พบว่าเกือบทั้งหมดยังเป็นเชื้อไวรัสดั้งเดิม ที่ยังไม่มีการกลายพันธุ์ ทั้งนี้ในอนาคตหากเชื้อเกิดการกลายพันธุ์วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะมีประสิทธิภาพลดลงจากเดิมเล็กน้อย เนื่องจากร่างกายรับรู้ได้บ้างส่วน และพอจะสู้กับไวรัสได้บ้าง ส่วนของซิโนแวค ยังมีผลการวิจัยไม่มาก แต่ตามทฤษฎี ซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโควิดชนิดเชื้อตาย ทำให้สามารถต่อสู้กับโควิดได้ดีในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามขอให้ติดตามผลกันต่อไป
@ คลายกังวล! สธ.เผยผู้ร่วมชุมนุมหน้ายูเอ็นเสี่ยงต่ำ
ก่อนหน้านี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ตอบข้อซักถามกรณีพบผู้ชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ วันที่ 28 ก.พ.2674 จำนวน 2 รายติดโควิดว่า หากผู้ป่วยโควิดสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด และอยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเทสะดวก จะทำให้คนรอบข้างมีความเสี่ยงต่ำ ในกรณีดังกล่าวจะพบว่าผู้ชุมนุมรอบข้างสวมใส่หน้ากากอนามัย และอยู่ในพื้นที่อากาศโปร่ง ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า มีความเสี่ยงต่ำ ผู้ที่ไปเข้าร่วมชุมนุมในวันเดียวกันไม่ต้องกังวลมาก
ข่าวประกอบ :
ปลอดภัยไว้ก่อน! คณะแพทย์แจงเหตุชะลอฉีด'แอสตร้าเซนเนก้า'รอผลสอบจากอียูก่อน
นายกฯ พร้อม ครม.เลื่อนฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังอียูสั่งระงับ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage