'โฆษกศาลปกครอง' เผยศาลฯสั่งจำหน่ายคดีเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์ประมูล 'สายสีส้ม' แล้ว หลังรฟม.ล้มประมูล แต่ยังเหลือประเด็นชดใช้ค่าที่ปรึกษาฯ 5 แสนบาทที่ต้องพิจารณา ขณะที่ 'คีรี' ร้องนายกฯระงับประมูล ขอให้รอศาลพิพากษาคดีก่อน
........................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2564 ในการแถลงข่าวผลการดำเนินงาน 20 ปี ศาลปกครอง นายจำกัด ชุมพลวงศ์ รองโฆษกศาลปกครอง กล่าวถึงคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติมการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีในประเด็น เนื่องจากหมดเหตุที่ศาลจะต้องวินิจฉัย เพราะรัฐบาลได้มีการยกเลิกการประมูล และเปิดการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าดังกล่าวใหม่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ศาลยังต้องพิจารณาต่อไป คือ กรณีบีทีเอสซี ขอให้ศาลสั่งให้ รฟม.ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 500,000 บาท จากการจ้างที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคในการยื่นประมูลโครงการ
ขณะที่เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวระบุตอนหนึ่งว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2564 BTSC ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคดีอาญาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2564 ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และการดำเนินกระบวนการทางอาญาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ BTSC ฟ้องรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ว่าได้มีการกระทำ
แต่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ได้เริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนด้วยการประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนใหม่ โดยให้เอกชนกรอกความเห็นตั้งแต่วันที่ 17-19 มี.ค.2564 ซึ่งกำหนดสาระสำคัญของวิธีประเมินข้อเสนอเป็นให้พิจารณาคะแนนซองที่ 2 และซองที่ 3 โดยมีคะแนน 100 คะแนน แบ่งเป็นซองที่ 2 ข้อเสนอเทคนิค 30 คะแนน และซองที่ 3 ซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 70 คะแนน
โดยเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่ให้รฟม. นำมาใช้บังคับในการคัดเลือกเอกชน โดยศาลปกครองชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสารคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1 ข้อเสนอแนะผู้ยื่นข้อเสนอ และการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ้มเติมครั้งที่ 1 น่าจะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่มีการนำเสนอวิธีประเมินข้อเสนอใหม่ไปขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน
"ขอให้นายกรัฐมนตรี...ได้ตรวจสอบการกระทำของผู้ว่าการ รฟม. คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย หากปรากฎผลทางการพิจารณาคดีว่า การกระทำที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้อง และขอให้นายกรัฐมนตรีโปรดสั่งการยัง รฟม.ให้หยุดการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เป็นเป็นกรณีพิพาทนี้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา" หนังสือระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage