ผบช.น.แถลงมาตรการรับมือชุมนุม 6 มี.ค. ยันทำตามสถานการณ์-ไม่ปิดจราจร ขณะที่สมาคมนักข่าวฯ ย้ำสื่อใช้ปลอกแขนทำข่าวพื้นที่ชุมนุม เพื่อความปลอดภัย
.........................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงมาตรการการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกการจราจร กรณีมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง 5 กลุ่ม นัดรวมตัวทำกิจกรรมรวม 4 จุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ห้าแยกลาดพร้าว และหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ขณะนี้ตำรวจได้เตรียมกำลังไว้ดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว
"กทม.ยังคงประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 ก่อความวุ่นวายผิดกฎหมายอาญามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งตำรวจขอย้ำเตือนว่า การกระทำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการกระทำความผิดทั้งสิ้น และจำเป็นต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉพาะการชุมนุมที่กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 ตำรวจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไปแล้ว 22 คน รวมทั้งที่ผ่านมา ดำเนินคดีชุมนุมไปแล้ว 158 คดี ส่งให้อัยการไปแล้ว 116 คดี ส่วนอีก 42 คดี กำลังสืบสวนดำเนินคดี" พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีตำรวจได้รับบาดเจ็บแล้ว 90 นาย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 27 นาย เสียชีวิต 1 นาย ส่วนประชาชนได้รับบาดเจ็บ 10 คน ส่วนกรณีชายพกพาวัตถุระเบิดที่ตำรวจทำการจับกุมนั้น จากการสืบสวนสอบสวนเบื้องต้นพบ อ้างว่าไปเรียนจากต่างประเทศ บอกไม่ชัดเจนว่านำระเบิดไปทำอะไร ได้มีการผลิตเอง ตำรวจจึงพาไปตรวจค้นที่บ้านที่ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มีลักษณะให้เป็นผู้ป่วยทางจิต ซึ่งต้องรอผลพิสูจน์จากแพทย์ก่อน อย่างไรก็ตามไม่พบความเชื่อมโยงกับเรื่องทางการเมือง ขณะนี้ได้ทำการฝากขังที่ศาลอาญา
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดวางเครื่องกีดขวางตู้คอนเทนเนอน์ การใช้อุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยและยับยั้งอันตราย หากมีการละเมิดกฎหมายตำรวจจับกุมได้ทันที
ด้าน พลตำรวจตรีจิรสันต์ ยืนยัน ตำรวจจะไม่ปิดการจราจร เว้นแต่กลุ่มผู้ชุมนุมจะปิดการจราจร ตำรวจจึงต้องปฏิบัติตามแผนที่รองรับไว้ดังนี้ จุดที่ 1 กรมทหารราบ 11 จะส่งผลกระทบถนนพหลโยธิน ตั้งแต่แยกเทพารักษ์ไปจนถึงแยกเกษตร และถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่ ม.ราชภัฏ ถึงวงเวียนบางเขน ซึ่งสามารถใช้เส้นทางหลีกเลี่ยงได้ที่ถนนวิภาวดี หรือถนนโทลเวย์ จุดที่ 2 ห้าแยกลาดพร้าว จนขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้เส้นทางไหน แต่แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยง ห้าแยกจนถึงแยกรัชดาภิเษก ซึ่งควรหลีกเลี่ยงตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
จุดที่ 3 แยกราชประสงค์ ส่งกระทบถนนราชดำริ ตั้งแต่ซอยมหาดเล็ก 1 จนถึงแยกประตูน้ำ และถนนเพลินจิต ถึงแยกราชประสงค์ และแยกเฉลิมเผ่า ซึ่งควรหลีกเลี่ยงตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป และ จุดที่ 4 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ้ามีการลงไปที่บนผิวจราจร จะกระทบ ถนนราชดำเนิน ถนนดินสอถนนวันชาติ จนถึง แยกมหรรณพ โดยคาดว่ามารวมตัวประมาณ 17.00 น. ควรหลีกเลี่ยงตั้งแต่เวลา 15.00 น
@ สมาคมนักข่าวฯ ย้ำสื่อใส่ปลอกแขน ทำข่าวพื้นที่ชุมนุม
ขณะเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีความห่วงใยสื่อมวลชนภาคสนาม จึงได้กำหนดการใช้ปลอกแขนสัญลักษณ์ในการทำข่าวชุมนุม เพื่อลดความเสียหายของอุปกรณ์การทำงานและไม่เป็นผู้บาดเจ็บ
โดยแถลงคำชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่มีการจัดตั้ง ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.) ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2563 เป็นต้นมา และได้จัดทำ ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน ในการปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวการชุมนุม โดยมีเงื่อนไขในการลงทะเบียนขอรับปลอกแขน สำหรับสื่อมวลชนที่มีต้นสังกัดเป็นสมาชิกของ 3 องค์กรสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ส่วนกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ให้พิจารณาเป็นกรณีๆไป นั้น
จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 6 เดือน ศูนย์ประสานงานฯ ได้รับฟังเสียงสะท้อนทั้งปัญหาและความคิดเห็น ที่ต้องทำความไม่เข้าใจ ดังนี้
1. ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน ที่มีโลโก้ 3 องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีเพียงสีเดียว คือ สีขาว โดยทุกปลอกแขนมี เลขกำกับเฉพาะของแต่ละชิ้น เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน ติดตามตรวจสอบได้ว่าปลอกแขนเลขดังกล่าวเป็นของใคร สังกัดใด ภายใต้การกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน
2. ปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชน เป็นสัญลักษณ์บอกฝ่ายมีไว้เพื่อแสดงตัวตนอย่างบริสุทธิ์ใจในการลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุมตามหลักสากลที่สื่อมวลชนหลายประเทศพึงใช้ ที่ต้องการเสรีภาพในการทำข่าวการชุมนุมอย่างรอบด้าน ปราศจากการกดดันและคุกคามจากทุกฝ่าย
3. ปลอกแขนฯ ไม่สามารถใช้แทนบัตรประจำตัวสื่อมวลชนได้ โดยเฉพาะในกรณีที่สื่อมวลชนต้องเข้าไปทำข่าวในสถานที่ต่างๆ อาทิ สถานที่ราชการ สถานที่ส่วนบุคคล ที่ต้องใช้บัตรประจำตัว บัตรผ่าน หรือ ต้องแลกบัตรเพื่อรับอนุญาตของสถานที่นั้นๆ
ทั้งนี้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด มีความห่วงใยสื่อมวลชนภาคสนาม เพื่อความปลอดภัยในการทำข่าวการชุมนุม ขอให้ทีมข่าวภาคสนามและกองบรรณาธิการ จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อความปลอดภัย ประเมินความเสี่ยงของสถานการณ์ร่วมกัน เพื่อลดความเสียหายของอุปกรณ์การทำงานและไม่เป็นผู้บาดเจ็บ หากเกิดปัญหาหรืออุปสรรคใดในการทำหน้าที่ กรุณาแจ้งข้อมูลเพื่อให้องค์กรวิชาชีพมีส่วนในการช่วยประสานและคลี่คลายปัญหา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage