‘ศุภชัย’ มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม ‘ดีขึ้น’ อาจมีสะดุดบ้าง หากโควิด-19 กลับมาระบาดในบางช่วง หนุนรัฐบาลกู้เงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แม้จะทำให้หนี้สาธารณะทะลุ 60% ของจีดีพี เพราะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ แนะแบงก์ชาติผ่อนคลายเงินกู้ ‘ซอฟต์โลน’ ต้องทำให้การปล่อยกู้ง่ายขึ้น แม้อาจทำให้หนี้เสียเพิ่มขึ้นบ้างแต่ต้องยอม เพื่อให้เอสเอ็มอีอยู่รอด
...................
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อํานวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก’ ในงานครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ตอนหนึ่งว่า เวลามองภาพเศรษฐกิจไปในอนาคต ก็เห็นใจ แต่บางทีบางครั้ง การที่มีคนบอกว่า ปีนี้ไม่ดี ปีหน้าเผาจริง ปีนี้เผาหลอก เราอย่าไปร่วมกระบวนแบบนั้น
“ผมถูกสอนมาโดยครู ซึ่งบอกผมว่า ถ้ามีคนไปยืนอยู่ข้างหนึ่งเยอะๆ ให้เธอไปยืนอยู่อีกข้างหนึ่ง และมองว่าเขาไปทางไหน อย่าได้ทะเล่อวิ่งตามเขาไป ให้ดูและวิเคราะห์ให้ดี ดูสิ่งที่เขาทำ แล้วพยายามมองเป็นมองจากข้างนอกเข้าไปข้างใน จะเห็นอะไรชัดเจนกว่า” นายศุภชัยกล่าว
@เศรษฐกิจไทยมีแต่จะดีขึ้น-แต่อาจมีสะดุดบ้าง
นายศุภชัย ระบุว่า แม้ว่าวิกฤตไวรัสโคโรนา (โควิด-19) จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ และการจ้างงานของไทย แต่เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แล้ว ผลกระทบในรอบนี้น้อยกว่า ขณะที่เศรษฐกิจไทยตอนนี้แข็งแกร่งกว่ามาก และเมื่อมองไปข้างหน้านับจากนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีแต่จะดีขึ้น แต่อาจมีการสะดุดบ้าง เพราะเชื้อที่กลายพันธุ์กลับมาระบาดใหม่ และกว่าที่ทั่วโลกจะฉีดวัคซีนได้ครบทุกประเทศจะต้องใช้เวลาอีก 5-7 ปี
“กลางปีผมถูกถามหนักมาก ถูกถามหลายเรื่อง ให้ผมช่วยวิพากษ์วิจารณ์ว่า เราจะแย่แน่ไหม คำถามแรกๆที่ถาม คือ รัฐบาลลงไปช่วยยืดอายุหนี้ งดดอกเบี้ย ไม่ให้หนี้ที่มีปัญหากลายเป็นหนี้สงสัยจะสูญหรือเป็น NPL (หนี้เสีย) พอเดือนต.ค. หมดวาระไป มันก็ล้มทั้งนั้น ผมบอกว่า ฟังดูก็เป็นอย่างนั้น เพราะตอนนี้มันอุ้มชูอยู่ได้ ด้วยกระบวนการที่รัฐเข้าไปอุ้มชูไว้ สั่งให้แบงก์ช่วยอุ้มกันต่อ
แต่ผมบอกว่าผมไม่เชื่อ เพราะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของแบงก์ ปกติทั่วโลกจะอยู่ที่ 7-8% แต่แบงก์ชาติ (ธปท.) ให้เผื่อไว้เป็น 11% แต่แบงก์ไทยปาเข้าไปถึง 19-20% มันมากกว่าที่แบงก์ชาติวางไว้เท่าตัว ผมบอกว่ามันอาจจะขึ้นจริง ผมไม่ได้เถียง แต่มันจะไม่ขึ้นจนทำให้เราถล่มทลาย อย่าลืมว่าเมื่อปี 2540-41 ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ตัวเลขเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของตอนนี้ ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 5-7% แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยถึง
ภาวะผิดกันเยอะมาก สมัยนั้น เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 5-8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 1 เดือนกว่าก็หมดแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เรามีเงินสำรองมากจนเกินพอ มากจนเกินใช้ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจริงๆเรามี 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็พอ เวียดนามที่เก่งๆขณะนี้ ส่งออกดีกว่าเราในช่วงหลายปีหลัง แต่เวียดนามมีเงินทุนสำรองเพียง 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไกลกว่าเรา แต่อยากให้รู้ว่าความแข็งแกร่งของเงินของเรายังมีอยู่แน่นอน
มีมาถามผมอีกว่าในเรื่องว่างงาน ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่า บ้านเราปกติตัวเลขว่างงานอยู่ที่ 0.9% แรงงานไทยไม่ค่อยว่างงานมาก เพราะเรามีภาคเกษตรที่เป็นตัวรองรับที่ดี อย่างเก่งก็มีการว่างงานตามฤดูกาล ซึ่งทำให้คนว่างงานที่มี 3 แสนคน เพิ่มเป็น 4 แสนคน แล้วก็กลับมาใหม่ มีบางคนเขียนว่า ปีที่แล้วล่มสลาย ปีนี้เผาจริง เพราะคนว่างงานจะถึง 8-10 ล้านคน จาก 3 แสนคน แต่ตัวเลขจริงๆที่ออกมาไม่ถึงขนาดนั้น เพราะตอนนี้เราใกล้ 2% ก็ตก 7-8 แสนคน ในช่วงที่เด็กจบใหม่ออกจากโรงเรียนก็สูงขึ้นมา เพราะยังหางานทำไม่ได้
ส่วนสิ่งที่รัฐบาลลงไป เอาเงินไปอุดๆ แน่นอนว่า เป็นการแจกเงิน แต่เป็นการช่วยให้ธุรกิจยังอยู่ได้ ไม่ต้องปล่อยให้คนว่างงาน อาจมีการลดเงินเดือน แต่คนก็ยังมีงานทำ ผมก็บอกว่า ไม่ถึงแน่นอน 8 ล้านคน 10 ล้านคน เป็นไปไม่ได้ แต่ถึง 1 ล้านคนเป็นไปได้ แต่ถ้าจะไปถึง 2 ล้านคน ผมยังมองไม่เห็น แล้วถ้าพูดถึงเศรษฐกิจไทยต่อไป แนวโน้มไม่น่าจะเลวลง แนวโน้มมีแต่จะดีขึ้น
แต่ดีขึ้นแบบไม่ใช่เรียบๆ เพราะทั่วโลกจะมีการสะดุดบ้าง เนื่องจากกระบวนการที่เราต้องต่อสู้กับโรคระบาดพวกนี้ จะวกเวียนกลับมา เพราะเมื่อสู้ชนะไปส่วนหนึ่งแล้ว เขา (ไวรัส) จะแปรสภาพเป็นพันธุ์อื่น แล้วกลับมาระบาดใหม่ และกว่าเราจะทำให้กว่า 100 ประเทศที่ติดไปให้หายพร้อมเพรียงกัน เขาบอกว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 ปี เพราะถึงตอนนั้นจึงจะได้ฉีดวัคซีนทั่วถึงกันหมด แต่ก็ไม่แน่ใจว่าวัคซีนฉีดไปแล้วจะคุ้มได้มากขนาดไหน” นายศุภชัยกล่าว
@หนุนรัฐบาลกู้เงินดูแลเศรษฐกิจให้อยู่รอด
นายศุภชัย ย้ำว่า ในภาวะที่ค่อนข้างสุดกู่นั้น อย่าได้ลากเส้นในทางเศรษฐมิติ เพราะการลากเส้น ควรทำในภาวะปกติ และเราไม่ควรตื่นตระหนกตกใจกับตัวเลขต่างๆมากเกินไป โดยเฉพาะตัวเลขอัตราการว่างงาน เพราะในยุโรปอัตราว่างงานที่ระดับ 10% หรือสหรัฐที่มีอัตราว่างงานเฉลี่ย 5-6% หรือช่วงที่มีวิกฤตอัตราว่างงานขึ้นไประดับ 10% นั้น เขาถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่มีอัตราว่างงานปกติที่ระดับเพียง 1% อยู่มาก
“เมื่อต้นปีที่แล้ว มีการบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -10% กลางปีลงมาเป็น -8% และ -7% ก่อนจะจบด้วย -6.1% ส่วนเรื่องความน่าเชื่อถือของนโยบายของเรา ที่เราทำได้ดีขนาดนี้ มันก็ดีเกินคาด” นายศุภชัยกล่าว
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องหนี้สินของรัฐบาลนั้น ตนเห็นใจทุกรัฐบาล ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลของประเทศทั่วโลก ที่ต้องกู้เงินมาแล้วถูกโจมตีว่าเป็นรัฐบาลนักกู้ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอด
“เรื่องหนี้สิน พูดกันมากเลย ผมเห็นใจรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว รัฐบาลทั่วโลกโดนโจมตีหมดว่า เป็นรัฐบาลนักกู้กันทั้งนั้น แต่ถามว่ามีประเทศไหนบ้างที่รัฐบาลไม่ออกไปกู้เงินเพื่อมาช่วยทำเรื่อง survival economic หรือเศรษฐกิจที่ต้องการการอยู่รอด และไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจนะ เอาแค่อยู่รอดพอ มีแต่จะกู้มาก กู้น้อย พิมพ์แบงก์หรือเปล่า ทั้งนั้นเลย และตอนนี้ทั้งธนาคารโลก และ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ให้เงินกู้พิเศษสำหรับประเทศยากจนเต็มที่เลย” นายศุภชัยกล่าว
@รับได้หนี้สาธารณะเกิน 60% เหตุสถานการณ์ไม่ปกติ
สำหรับตัวเลขหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50% ของรายได้ประชาชาติ นายศุภชัย มองว่า สมัยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มไปอยู่ที่ 60% แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัว และหนี้สินเริ่มชะลอลงเพราะมีการคืนหนี้ ระดับหนี้สาธารณะก็กลับมาอยู่ที่ 40% ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจชะลอลงอีก และหนี้เริ่มสะสมขึ้น หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นเป็น 45% และ 50% ได้
“หนี้ที่สะสมขึ้นมาจาก 45% เป็น 50% ขณะนี้อยู่ที่ 50% เขาก็บอกว่าเราจะแย่แล้ว เกิน 60% แน่ แต่ขอโทษที 60% เป็นตัวเลขการบริหารหนี้ที่ดี ถ้าทำได้ เพราะถ้าไปดูประเทศอื่น ญี่ปุ่นไม่ต้องพูดถึง ญี่ปุ่นมีปัญหามานานหลายสิบปีแล้ว ตัวเลขเงินกู้รัฐบาล 200% ของรายได้ประชาชาติ สหรัฐก็ 100% เหมือนกัน แต่ของเรา 50-60% ซึ่งปีที่แล้ว ผมไปพูด 2-3 ครั้งว่า กู้ไปถึง 60-80% ผมยังยอม เพราะขณะนี้เป็นช่วงที่ต้องกู้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจ เป็น survival economic
อย่าได้เอามาตรฐานตอนดีๆมาพูดกัน แต่ถ้าเป็นตอนดีๆแล้วไปกู้ขนาดนั้น แสดงว่ากำลังแย่แล้ว ข้างในกำลังเน่า แต่ขณะนี้มันกำลังเน่าบนเปลือก แล้วคุณกำลังรักษาไม่ให้ลงไปข้างใน แต่ถ้าคุณไม่เอา อย่างนี้ผมว่าฉลาดไม่พอ ยิ่งตอนนี้ดอกเบี้ยมันติดพื้นหมด ดอกเบี้ยใกล้ศูนย์หมด อย่างสวิสเซอร์แลนด์ดอกเบี้ยติดลบ ไปฝากแบงก์เขาไล่ เขาบอกว่าไม่อยากได้เงินฝากคุณ หรือถ้าฝากผมจะเก็บดอกเบี้ยคุณ มันอย่างนั้น” นายศุภชัยกล่าว
@กระตุ้นรัฐปล่อยกู้เอสเอ็มอี ‘ชนตอบ้าง ก็ไม่เป็นไร’
นายศุภชัย ยังกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ว่า ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่โดดสูงขึ้นมา จนทำให้ทุกคนตกใจ และมองว่าเป็นปรากฎการณ์ที่แปลกนั้น หากเป็นสมัยก่อนถือเป็นเรื่องปกติ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ทำให้เราต้องติดตามว่า หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจะมีอาการเงินเฟ้อเกิดขึ้นหรือไม่ พร้อมทั้งเห็นว่าเงินกู้จากพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลออกไว้ จะมีเพียงพอในการดูแลเศรษฐกิจแน่นอน
“เงินจากพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินที่รัฐบาลออกไว้ มันยังคงพออยู่แน่นอน แล้วเขาก็ใช้อย่างเหมาะสม บางทีประหยัดหน่อย เพื่อจะเก็บไว้ใช้ให้ยาว กระสุนมีไม่มาก ก็พยายามเก็บกระสุนอย่ายิงมาก แต่ใช้ให้ถูกเรื่อง ถูกเวลา ใช้ให้ครบถ้วนไปเรื่อยๆ ดีกว่าไปถล่มทีเดียวหมดแล้วมากู้ใหม่ แต่ถ้าหากมันหมด ก็ต้องหมด อย่างการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ผมอยากจะพูดว่าให้มันหมดไปเลย ซึ่งแบงก์ชาติกำลังเปลี่ยนวิธีให้ใช้ให้ดีขึ้น ตรงนี้ขอให้มันง่ายเลย
อย่าไปห่วงว่าตอนนี้หนี้มันจะดี หรือหนี้มันจะเสีย ให้เขาได้มีโอกาสไปทำอะไรใหม่ ซึ่งตอนนี้เราต้องการที่สุด คือ การลงทุน ซึ่งการลงทุนในช่วงที่ดีบ้างและไม่ดีบ้าง มันไม่ค่อยจะดีนัก เราก็รู้อยู่ ไม่ใช่ว่าเราโง่ รู้ว่าไม่ดีแต่ยังให้คุณทำ แต่มันต้องทำ เพราะมันเป็น survival economic ต้องพยายามขยายออกไปให้ได้ ชนตอบ้าง ก็ไม่เป็นไร ล้มแล้วฟื้นได้ เงินตรงนี้ปั๊มเข้าไปได้ เพราะถ้าเมื่อมันดี มันพรึ่บเลย ตอที่มันมีอยู่ พอน้ำท่วมมันก็ไม่เห็นแล้ว แต่ถ้าไปชะลอๆอยู่ พอมันดี เขาจะไม่อยู่รอดเลย” นายศุภชัยกล่าว
@ห่วงหนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูง
ายศุภชัย กล่าวถึงปัญหาหนี้สินครัวเรือนว่า ขณะนี้ระดับหนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูงจริง ทั้งนี้ หากหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ก็ถือว่าพอมีเหตุผล แต่ในเวลาปกติต้องทำให้ระดับหนี้สินครัวเรือนลงมาให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติเองเป็นห่วงมาก เพราะจะเป็นภาระใหญ่ต่อไปในอนาคต และเป็นปัญหาโครงสร้างที่ต้องแก้กันต่อไป
นายศุภชัย มองภาพเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าว่า การสะสมของหนี้สินที่อยู่ในระดับสูงมาก เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังวิตกอยู่ ซึ่งเมื่อพ้นจากสถานการณ์โควิดแล้ว ธนาคารโลก และ IMF มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการเพิ่มสภาพคล่องเข้ามาในตลาด หรือยกหนี้ให้ประเทศยากจน ขณะที่โลกในยุคโลกาภิวัตน์กำลังจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่คนมีอำนาจ คือ คนที่มีกำลังด้านอาวุธและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต่อไปต้องเป็นคนที่มียารักษาและวัคซีนด้วย และปัญหาโลกร้อนยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องเข้ามาร่วมกันแก้ไข
“เรื่องกรีนอีโคโนมี จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต เมื่อโจ ไบเดน (ประธานาธิบดีสหรัฐ) มา และทั่วโลกรู้ดีกว่าปัญหาไวรัส มันเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น วาระใหญ่ของโลก คือ เรื่องโลกร้อน ซึ่งมีเป้าหมายลดความร้อนของโลกลง 2 องศาเซลเซียสในอีก 20-30 ปีข้างหน้า และเวลานี้มีการออกรายงานประณาม 70-80 ประเทศที่ไม่ทำตามเงื่อนไขเลย” นายศุภชัยกล่าว
@สนับสนุน 9 ประเด็นฝ่าวิกฤตโควิดปี 64
นายศุภชัย กล่าวถึงประเด็นที่ต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟันฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ โดยเห็นพ้องกับข้อเสนอของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 9 ข้อ ได้แก่ 1.ควบคุมโควิดอย่างเคร่งครัด และแม้ว่าที่ผ่านมามีคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจช้าเกินไป ซึ่งตนเห็นว่าการผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป หากโควิดกลับมาระบาดรอบที่ 2 หรือรอบที่ 3 จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มจะหนักขึ้น
“ของเรารอบที่ 1 เป็นพัน แต่รอบที่ 2 เป็นหมื่นคน รอบที่ 3 อาจเป็นแสน แน่นอนว่าต้องเปิด แต่ต้องเปิดเวลาที่เรามีพลังต้อสู้เต็มที่ มีวัคซีนเต็มที่เราค่อยๆเปิด ขณะที่คนอื่นก็เริ่มปลอดภัยไปกับเราด้วย” นายศุภชัยกล่าว
2.การเมืองมีเสถียรภาพ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นว่าจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพในบ้านเราเป็นเรื่องลำบาก เพราะทั่วโลกก็มีปัญหานี้ โดยเฉพาะประเทศที่ประชาธิปไตยอ่อนแอหรืออยู่ในช่วงฟูมฟัก และตนหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะมี political distancing (การเว้นระยะห่างทางการเมือง) บ้าง คือ ขอให้สงบๆอยู่ห่างกันบ้าง ไม่ต้องประชิดตัวกันนัก เพราะเวลานี้ประชิดตัวมากเกินไปในทุกเรื่อง
“การเมืองไม่มีเสถียรภาพไม่เป็นไร แต่การเมืองที่ใช้เวลาของการเมือง ไปในเรื่องของการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ หรือการแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ดี เพราะต้องใช้งบเดียวกัน” นายศุภชัยกล่าว
3.การช่วยเหลือเอสเอ็มอีและภาคท่องเที่ยว ซึ่งการช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวนั้น โครงสร้างการท่องเที่ยวของไทยต้องเปลี่ยน เพราะหากยังเป็นการท่องเที่ยวแบบ Mass ซึ่งแม้จะทำให้ไทยมีรายได้ แต่แลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อม และถือเป็นต้นทุนที่วัดไม่ได้นั้น ตนไม่เชื่อว่าการท่องเที่ยวแบบ Mass จะไปได้ ซึ่งในหลายประเทศใช้วิธีการจำกัดนักท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากจะลดการทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างรายได้ได้ในระดับที่ดีด้วย
4.ให้ภาครัฐเร่งรัดการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะการลงทุน ซึ่งตนเห็นด้วย 100% แม้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย 5.ขับเคลื่อนการส่งออก 6.เร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนจริง เพราะขณะนี้การลงทุนของไทยอยู่ที่ 23% ของจีดีพี แต่หากไทยจะหลุดพ้นจากประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางจะต้องมีการลงทุน 27-30% ของจีดีพี ทำอย่างไรจะทำให้ได้ และที่ผ่านมาจะพบว่าเอกชนมุ่งลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยว จึงไม่นำไปสู่การผลิตที่ทันสมัยและนวัตกรรมใหม่ๆ
7.เตรียมความพร้อมการท่องเที่ยว 8.เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรเป็นเรื่องยาว และมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายเรื่อง เช่น เรื่องข้าว ตอนนี้การผลิตข้าวหลายประเทศรอบบ้านเรา บางประเทศเท่าเราหรือแซงเราไปแล้ว ซึ่งไทยต้องการการคิดค้นและวิจัยพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ เช่น ข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม เพื่อจะได้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะโลกหันมากินข้าวนุ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และ9.การเตรียมรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก
@อัดฉีดระยะสั้นควบคู่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
“ปัจจัยที่มีสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น การอัดฉีดระยะสั้นต้องทำ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ได้ อย่าอัดฉีดโดยที่เราละเลยเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องผลักดันเศรษฐกิจ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการค้นคว้าด้านชีวภาพที่จะเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาต่างๆ
ส่วนเรื่องการศึกษา การศึกษาของเราจะถดถอยลงไปทุกปีไม่ได้ เพราะทุกปีที่มีการจัดอันดับ เราถดถอยไปทุกปี คงไม่ไหว เช่น เรามีระดับมัธยมศึกษาที่ต่อยอดไปเรียนด้านเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเพียง 45% ของการศึกษาทั้งหมด ขณะที่ประเทศต่อยอดพวกนี้ เขามี 90% ขึ้นไป
…และเรากำลังเป็นสังคมผู้สุงอายุสูงขึ้นไป ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะมีผู้สูงอายุ 30% ของประชากร เราต้องดูแลให้ดี ทั้งการดูแลผู้สูงวัย และทำให้คนวัยทำงานมีความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนคนที่หายไป การเร่งรัดการลงทุน รวมทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการทำให้เอสเอ็มสามารถเข้าถึงเงินทุน เทคโนโลยีและตลาดได้” นายศุภชัยกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/