เปิดแนวปฏิบัติคดีความมั่นคงฉบับใหม่ ตร. ประมวลจากข่าวสาร-สื่อมวลชน-สื่อสังคมออนไลน์ หากพบพฤติการณ์กระทำผิด จัดให้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ แล้วสอบสวนต่อ ส่งสำนวนถึง ผบ.ตร.ทุกครั้ง กำหนดชั้น ‘ลับมาก’ ทุกกรณี
............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ลงนามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่ 558/2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
โดยระบุสาระสำคัญว่า ด้วย ตร.พิจารณาเห็นสมควรแก้ไขปรับปรุงแนวทางปฏิบัติดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแหงราชอาณาจักร และคณะกรรมการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามคำสั่ง ตร. ที่ 122/2553 เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างของหน่วยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และการพิจารณาเห็นชอบหรือเห็นแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้อง ไม่อุทธรณ์ หรือไม่ฎีกาของพนักงานอัยการ ตามมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อีกทั้งเพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 11 (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2559 ลงวันที่ 5 ก.พ. 2559
ทั้งนี้ในคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า 1.ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมายถึง ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะที่ 1 และลักษณะที่ 1/1 ตามลำดับ รวมถึงความผิดอื่นที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน และการกระทำที่มีลักษณะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) และมาตรา 15 (เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะดังกล่าว)
ส่วนข้ออื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น 3.เมื่อปรากฏพฤติการณ์จากข่าวสาร สื่อมวลชน หรือสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นแห่งราชอาณาจักร ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบ ตรวจสอบ รายงานข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นไปยังผู้บัญชาการเพื่อพิจารณาว่า พฤติการณ์กระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือไม่ หากเข้าข่ายเป็นความผิดให้ดำเนินการจัดให้มีคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามระเบียบ แล้วทำการสอบสวนดำเนินคดีต่อไป หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เข้าข่ายเป็นความผิด ให้รายงานข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมความเห็นไปยัง ผบ.ตร. (ผ่านกองคดีอาญา) เพื่อพิจารณาโดยเร็ว
4.เมื่อมีการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำความผิดดังกล่าว เพราะเหตุกระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับ ให้ดำเนินการดังนี้
4.1 ให้ผู้บังคับการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว โดยมอบหมายให้ รองผู้บังคับการ (ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เมื่อทำการสอบสวนเสร็จสิ้นให้ผู้บังคับการเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็น ไปยังผู้บัญชาการเพื่อพิจารณา
4.2 กรณีคดีมีความสำคัญยุ่งยาก ซับซ้อน หรือเกี่ยวพันกันหลายท้องที่ ให้ผู้บัญชาการพิจารณามีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีดังกล่าว โดยมอบหมายให้รองผู้บัญชาการ (ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เมื่อทำการสอบสวนเสร็จสิ้น ให้เสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังผู้บัญชาการเพื่อพิจารณา
5.การรายงานเหตุเบื้องต้น ให้พนักงานสอบสวนสรุปรายงาน โดยให้ปรากฏชื่อผู้กล่าวหา ชื่อผู้ต้องหา ความผิดที่กล่าวหา วันเดือนปีที่เกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ และพฤติการณ์แห่งคดีโดยละเอียด เสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นถึง ผบ.ตร. (ผ่านกองคดีอาญา) ภายใน 3 วัน นับแต่วันรับคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ
นอกจากนี้ในข้อ 8.กำหนดชั้นความลับในการเสนอเรื่องเป็น ‘ลับมาก’ ทุกกรณี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage