เสวนาอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา 'พิศิษฐ์' อดีตผู้ว่าฯ สตง.ย้ำ รธน.ปี 60 ทำองค์กรอิสระอ่อนแอ ทุจริตไม่ลด แต่แยบยลมากขึ้น 'รสนา' แนะรัฐเป็นเจ้าภาพสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ช่วยลดปัญหาตั๋วแพง ส่วน 'ธีรชัย' ห่วงสร้าง 'โซลาร์ฟาร์ม' สำรองไฟ อาจทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2564 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับสภาที่ 3 จัดเวทีเสวนา อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนอกสภา โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนแบกรับภาระค่ารถไฟฟ้าที่มีราคาแพง ส่วนหนึ่งมาจากการที่รับปล่อยให้มีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นย่านทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ทั้งที่ๆ รัฐลงทุนสายสีส้มฝั่งตะวันออกทั้งหมดอยู่แล้ว หากจะสร้างฝั่งตะวันตกด้วยคงไม่ยาก
นางสาวรสนา กล่าวอีกว่า แม้รัฐจะอ้างว่าการเปิดประมูลดังกล่าวจะช่วยลดหนี้สาธารณะ แต่การกู้เงินของรัฐ ธนาคารจะคิดดิดเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี แต่หากเป็นเอกชนประมูลได้ การกู้เงินจากธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 4 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าหากเอกชนได้ไป ต้นทุนจะมีมากขึ้น เท่ากับค่ารถไฟฟ้าจะแพง ไม่สามารถคิดราคาถูกได้ และรัฐก็ไม่สามารถกำหนดเพดานราคาค่ารถไฟฟ้าได้ด้วย
“การที่รัฐเข้ามาลงทุนในการสร้างรถไฟฟ้าในย่านเศรษฐกิจ รัฐยังมีโอกาสกำหนดโครงสร้างราคาค่าโดยสารทั้งระบบรวมทุกสายที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชนในระยะยาวได้ หนี้สาธารณะจะลดลง แถมยังสามารถกำหนดเพดานราคาให้กับประชาชนได้แม้กระทั่งราคา 20 บาทตลอดสายก็สามารถทำได้" น.ส.รสนา กล่าว
@ห่วงสร้าง'โซลาร์ฟาร์ม'สำรองไฟฟ้า ทำ ปชช.มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า กรณีกองทัพบกร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือผลิตโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่แก่งเสี้ยน จ.กาญจนบุรี 3,000 ไร่ กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรทั้งประเทศ และสามารถเก็บสำรองไฟฟ้าเผื่อใช้ได้กว่า 50% อยู่แล้ว ซึ่งการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มเข้ามาอีกเพื่อเก็บสำรองไว้ใช้จะมีในประมาณที่เยอะขึ้น แต่ประชาชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บสำรองไฟฟ้าด้วยเช่นเดียวกัน จึงอยากเรียนถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่าการอนุญาตให้กองทัพบกร่วมลงนามข้อตกลงดังกล่าว ได้คิดรอบคอบแล้วหรือไม่ และประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง รวมถึงการสร้างใช้พื้นที่ของกองทัพในเชิงพาณิชย์โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ พื้นที่ดังกล่าว ควรส่งคืนให้กับกรมธนารักษ์หรือไม่ สะท้อนให้เห็นถึงความมีเงื่อนงำ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ควรจะทำให้ประชาชนมั่นใจในการบริหารประเทศให้มากกว่านี้
@ทุจริตไม่ลดลง แต่แยบยลมากขึ้น
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการปฏิรูปประเทศ พบว่าเรตติ้งของการแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชันช่วงแรกดีขึ้น แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งเข้ามา ปรากฏว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) เพื่อการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน หรือคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตร.) เพื่อตรวจสอบติดตามการใช้จ่ายเงินของรัฐ พอเกิดการเปลี่ยนแปลงกลับล้มเลิกกันไป ทำให้ดัชนีค่าชี้วัดความโปร่งใสในบ้านเมืองได้ 38% ซึ่งเท่าเดิม แต่หากเทียบเป็นลำดับพบว่าลดจากลำดับที่ 80 ไปเป็นลำดับที่ 100 แล้ว
“การทุจริตไม่ได้น้อยลง แต่แยบยลมากขึ้น และจะสร้างปัญหาในอนาคตแน่นอน ปัจจุบันตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้องค์กรอิสระส่วนหนึ่งถูกปิดปาก คือ ไม่ให้ สตง. ทำงานได้อย่างคล่องตัวตามหลักสากล และยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบที่กระทรวงการคลังดูแล อันนี้ไม่เรียกว่าองค์กรอิสระ แม้แต่การแจ้งให้ประชาชนรับทราบโดยปกติ มาในปัจจุบันตอนนี้ก็ไม่สามารถทำได้” นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 เป็นการปิดกั้นการทำงานอย่างอิสระของ สตง. ทำให้ สตง.ไม่สามารถแสดงบทบาทหรือศักยภาพในการตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันมีองค์กรอิสระอีกหลายหน่วยงานประสบปัญหาเดียวกัน ดังนั้นปัญหาต่างๆ จะต้องช่วยกันแก้ไข หากยังปล่อยไว้แบบนี้ ปล่อยให้อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะยิ่งเลวร้ายลง และดัชนีชี้วัดความโปร่งใสจะยิ่งถดถอยลงไปอีก
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage