‘บอร์ดธปท.’ ห่วงกระทบประสิทธิภาพการบริหารจัดการ มีมติปรับลดสวัสดิการเบิกค่ารักษาโรงพยาบาล ‘ราชการ’ ที่บริหารแบบเอกชน โดยให้เบิกค่ารักษาพยาบาลเหลือ 50% หลังพบปี 63 การเบิกค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม 11.4% แตะระดับ 1,080 ล้านบาท มีผล 1 ก.ย.64
..................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งต่อพนักงาน ธปท.ว่า คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ดธปท.) ได้มีมติเห็นชอบให้ ธปท. ปรับหลักเกณฑ์สวัสดิการรักษาพยาบาลสำหรับโรงพยาบาลราชการบริหารแบบเอกชน ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ,โรงพยาบาลรามาธิบดี พรีเมี่ยมคลินิก และศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน หรือให้เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ 50%
ทั้งนี้ เนื่องจากในระยะหลังปรากฎว่ามีโรงพยาบาลราชการบางแห่งได้จัดตั้งโครงการหรือหน่วยงานใหม่ที่ให้การรักษาพยาบาล โดยมีรูปแบบการดำเนินงานและค่าบริการสูงเหมือนโรงพยาบาลเอกชน และธปท.ได้ให้พนักงานเบิกค่ารักษาได้เต็มจำนวนเหมือนโรงพยาบาลราชการปกติ ทำให้ค่ารักษาพยาบาลรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 11.4% เป็น 1,080 ล้านบาทในปี 2563 โดยในส่วนของโรงพยาบาลราชการบริหารแบบเอกชนโตขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 23.7%
“แนวโน้มที่เร่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ หากไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อรักษาประสิทธิภาพการทำงานของ ธปท. ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” รายงานข่าวระบุ
ธปท.ตัวอย่างว่า 1.หากงบประมาณรวมของธปท.ขยายตัวปีละ 2% ใกล้กับคาดการณ์เงินเฟ้อ และค่ารักษาพยาบาลยังคงสูงขึ้นในอัตราเร่งเช่นที่ผ่านมา ค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% ของงบประจำปีในปี 2573 จากประมาณ 10% ในปี 2563 ซึ่งจะจำกัดความสามารถในการจ่ายเงินเดือน VP และผลประโยชน์อื่นแก่พนักงานให้เพิ่มขึ้นได้เพียง 0.5% และคาดว่าจะส่งผลต่อความสามารถในการรักษาและดึงดูดพนักงานชั้นแนวหน้าให้อยู่กับองค์กร
และ2.หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คาดว่างบประมาณค่ารักษาพยาบาลจะสูงกว่างบประมาณด้านไอทีภายใน 5 ปี และในกรณีที่ ธปท. ต้องคุมงบประมาณรวมให้ขยายตัวประมาณ 2% จะทำให้ไม่เหลือค่าใช้จ่ายด้านไอทีเลยในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางการยกระดับศักยภาพองค์กร
“หากไม่ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์เดิมของการให้สวัสดิการรักษาพยาบาล ในไม่ช้า ธปท. ในฐานะองค์กรภาครัฐจะต้องประสบปัญหาการควบคุมงบประมาณในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อ ธปท. ในแง่ที่เป็นองค์กรที่รักษาธรรมาภิบาลอย่างเต็มที่ และกระทบความสามารถในการลงทุนเพื่อรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงานและความยั่งยืนของ ธปท. ในระยะยาว
เช่น การรักษาระบบแรงจูงใจที่เหมาะสมสำหรับพนักงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญของ ธปท. การพัฒนาทักษะพนักงาน การดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับ ธปท. ตลอดจนการลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ มีความจำเป็นสำหรับขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถตอบ โจทย์ที่มีความท้าทายมากขึ้นในอนาคต” รายงานข่าวระบุ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้หาแนวทางแก้ไขเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งความพยายามเจรจาเพื่อลดค่ารักษาพยาบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผล รวมทั้งพิจารณาทางเลือกระหว่างการปรับสวัสดิการโดยจ่ายให้โรงพยาบาลราชการที่บริหารแบบเอกชนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน คือ เบิกได้ 50% หรือให้เบิกตามรายการและอัตราตามที่กำหนด เช่น ตามบัญชียาหลักเช่นเดียวกับราชการ
แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วพบว่าทางเลือกหลังมีข้อจำกัดต่อพนักงานมากกว่า จึงเห็นว่าการปรับการให้ความช่วยเหลือสำหรับ โรงพยาบาลราชการบริหารแบบเอกชนให้เป็นเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนจะเหมาะสมที่สุด ซึ่งหากไม่มีการปรับเกณฑ์ดังกล่าว ธปท. จะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นจากที่ควรเป็นประมาณ 8 พันล้านบาทในช่วง 10 ปี หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลของ ธปท. ถือได้ว่าไม่ด้อยกว่าองค์กรชั้นนำอื่น โดยเกณฑ์ที่ปรับจะให้ความช่วยเหลือสำหรับโรงพยาบาลราชการบริหารแบบเอกชน ให้เป็นเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน (เบิกได้ 50%) ขณะที่ยังเบิกได้เต็มในโรงพยาบาลราชการแบบเดิม (รวมถึงคลินิกพิเศษตอนเย็นหรือเสาร์อาทิตย์)
นอกจากนี้ ได้เพิ่มการดูแลสุขภาพให้แก่พนักงานมากขึ้นในเชิงป้องกัน ได้แก่ (1) เพิ่มวัคซีนทางเลือก โรคปอดอักเสบและโรคงูสวัด (2) เพิ่มการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อลดเวลาพักพื้นโดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์รวมทั้งเพิ่มการดูแลสุขภาพให้พนักงานกลุ่มประกันสุขภาพในด้านทันตกรรมและค่ารักษาบุตรแรกเกิดที่ปัจจุบันประกันไม่คุ้มครอง โดยการปรับเกณฑ์จะมีผลในวันที่ 1 ก.ย.2564 เพื่อให้พนักงานมีเวลาปรับตัว 6 เดือน ยกเว้นการเพิ่มวัดชีน และการเพิ่มครักษาบุตรแรกเกิดให้มีผลทันที
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ธปท.เป็นหน่วยงานที่มีจัดสวัสดิการให้พนักงานเทียบกับองค์กรชั้นนำต่างๆ ภายใต้ 3 หลักการ คือ 1.ดูแลให้พนักงานมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพอย่างเพียงพอและเหมาะสมกับสถานะพนักงานของ ธปท. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐแห่งหนึ่ง 2.เทียบเคียงได้กับองค์กรชั้นนำ เพื่อสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีคุณภาพได้ และ3. ไม่เป็นภาระทางการเงินมากจนกระทบงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต
“ในด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล ธปท. จึงมีนโยบายต่อเนื่องมาโดยตลอดในการให้พนักงานเบิกค่าใช้จ่ายได้เต็มจำนวนกรณีรับการรักษาที่โรงพยาบาลราชการ ซึ่งสามารถให้บริการได้อย่างครบถ้วนมีมาตรฐาน และคิดค่าบริการในราคาที่เหมาะสมโดยไม่ได้แสวงหาผลกำไรเหมือนโรงพยาบาลเอกชน แต่หากพนักงานประสงค์จะรับการรักษาใน โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ธปท.ก็ยังให้ความช่วยเหลือให้เบิกค่าใช้จ่ายได้ 50% ทั้งนี้ หลักการให้สวัสดิการดังกล่าวข้างต้นจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณมากจนเกินควร และสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติขององค์กรเอกชนชั้นนำทั่วไป รวมทั้งดีกว่าที่ข้าราชการได้รับ” รายงานข่าวระบุ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/