สธ.แจง 'จตุจักร' ไม่ใช่แหล่งกำเนิดเชื้อโควิด ย้ำยังไม่มีหลักฐานชี้ชัด ขณะที่ทีมเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน พบค้างคาวมงกุฏในไทยมีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับเชื้อโควิด 91.5% แต่ไม่สามารถติดต่อระหว่างค้างคาวสู่คนได้
.............................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวถึงกรณีสื่อต่างชาติรายงานว่าจตุจักรเป็นแหล่งต้นกำเนิดเชื้อโควิดก่อนเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง อาจเป็นเพียงสมมติฐานทางวิชาการที่ตั้งขึ้นมา สืบเนื่องจากการหาหลักฐานว่าพื้นที่ใดในตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งกระจายเชื้อ เมื่อยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นจีน ทำให้เกิดการขยายวงมองว่าประเทศที่มีชายแดนติดกับจีน หรือเป็นประเทศคู่ค้ากับจีน อาจเป็นแหล่งต้นกำเนิดเชื้อ อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้จะมีข้อสันนิษฐานว่า โรคโควิดเกิดจากการแพร่กระจายเชื้อจากสัตว์สู่คน แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆ บ่งชี้ได้ว่ามาจากสัตว์ชนิดไหน อย่างไร หรือว่ามาจากจีนหรือไม่ ซึ่งจะต้องคอยดูหลักฐานทางวิชาการต่อไป
"ต้องติดตามต่อเนื่อง บางทีประเด็นที่มีการสื่อสารทางสื่อหรือการแถลงข่าว อาจจะเป็นประเด็นที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องมาดูข้อมูล ดูว่ามีระบบป้องกันอย่างไร แต่ไทยเรามีระบบป้องกันอยู่แล้ว ถึงจะยังไม่เจอปัญหาใดๆ แต่ก็ได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว" นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนมาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาวที่เมืองไทยมานานเกือบ 20 ปี มีผลการตรวจสอบค้างคาวมงกุฏในไทย ระบุว่า ค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัสหลายชนิด ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวมงกุฏมีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโควิดถึงร้อยละ 91.5 แต่ไม่สามารถติดต่อระหว่างค้างคาวสู่คน
"ก่อนหน้าที่จะมีโควิด ต้องเรียนว่า เราจะมีโรคจากสัตว์คือไข้หวัดนก หรือโรคจากสัตว์ป่าอื่นๆ ก็จะมีโรคซาร์ส โรคเมอร์ส เราพยายามที่จะดูแลเรื่องสัตว์ป่าอยู่แล้ว แต่ในบางเรื่องก็มีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง บางเรื่องก็ทำเป็นมาตรการป้องกันการแพร่โรค คิดว่าในจุดนี้บวกกับการเฝ้าระวังการเกิดโรค ถ้ามีเชื้อใหม่ๆ ขึ้นมา จะมีลักษณะการระบาดหรือการป่วยที่เป็นกลุ่มก้อน ซึ่งก่อนโควิดจะมา เราติดตามมาโดยตลอด ทั้งเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคปอดบวม ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีสัญญาณการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตแบบผิดสังเกต เพราะฉะนั้นจึงเป็นความมั่นใจของกรมควบคุมโรคว่า ไทยเป็นแหล่งต้นกำเนิดเชื้อไม่เป็นความจริง"
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีแนวทางการดูแลความสะอาดของตลาดค้าสัตว์อย่างสม่ำเสมอเป็นเชิงป้องกัน ทั้งนี้หากประชาชนยังกังวลในโรคทางเดินหายใจ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าหากมีสุขอนามัยที่ดีจะป้องกันโรคได้ ขณะเดียวกันขอให้ไม่ล่า ไม่กินสัตว์ป่า รวมทั้งค้างคาว จะเป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage