รัฐสภามีมติ 565 เสียง ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ พร้อมตั้ง กมธ. 49 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน ขณะที่พรรคภูมิใจไทย งดส่ง ส.ส.ร่วมพิจารณาด้วย
.....................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 ที่ประชุมรัฐสภา ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนน 565 เสียง ต่อ 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) รวม 49 คน โดยกำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยที่มีโควตาจำนวน 3 คน แจ้งว่าไม่ขอประสงค์เข้าร่วม ส่วนรายชื่อ กมธ. ที่น่าสนใจ อาทิ นายวิชา มหาคุณ , พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย , พล.ต.อ.อำนวย นิ่มมะโน , นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายสิระ เจนจาคะ เป็นต้น
(ข่าวประกอบ : ภูมิใจไทยวอล์คเอาต์! งัดข้อ พปชร.กลางสภาเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯถกก่อนแก้ไข รธน.)
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการลงมติ สมาชิกรัฐสภาได้อภิปราย แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการแทรกแซงทางการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้าย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ
นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องการให้มีการกระจายอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายไปยังพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันมีการรวมศูนย์ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้ามสายงาน ที่ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่ตนเองไม่มีความถนัด
ส่วนนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เป็นการปฏิรูปตำรวจ เนื่องจากมาตรา 106 ที่อนุญาตให้ผู้บังคับบัญชาใช้อาวุธหรือกำลังบังคับกับลูกน้องได้ ถ้าทำโดยสุจริตไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา ถือเป็นการให้อำนาจตำรวจผู้ใหญ่กดขี่ตำรวจชั้นผู้น้อย เพื่อให้ควบคุมตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างสมบูรณ์แบบ ให้เป็นตำรวจของนายโดยสมบูรณ์
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ปฏิรูปไว้หลายเรื่อง แต่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษไว้ 2 เรื่อง คือ การปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปศึกษา ที่เป็นเช่นนี้เพราะทั้ง 2 เรื่องเป็นเรื่องยาก แค่เริ่มลงมือทำก็ยาก และจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ก็ยากขึ้นไปอีก ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงกำหนดเรื่องนี้ไว้ชัดเจนมากกว่าเรื่องอื่น
นายวิษณุ กล่าวอีกว่ามีการพูดตามสื่อและในสภาแห่งนี้ประหนึ่งว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีอยู่ 3 ฉบับ และพูดประมาณว่า ครม.ไม่พอใจฉบับที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ จึงส่งต่อไปให้หลายหน่วยงานพิจารณา ตั้งแต่คณะกรรมการกฤษฎีกา , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึง ครม. แต่ในความเป็นจริงทั้งหมดคือฉบับเดียวกัน เนื้อหาร่างกฎหมายฉบับนี้ 80% มาจากฉบับที่ พล.อ.บุญสร้าง และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ดำเนินการ ส่วนที่ 10-20% มาจากตำรวจขอแก้ไข และรัฐบาลก็เสนอมายังรัฐสภา
“มีผู้ใหญ่ของประเทศที่ผมเคารพนับถือหลายคน เคยกล่าวไว้ว่าการจะออกกฎหมายจัดระเบียบอะไรสักอย่างต้องคำนึงถึงระบบและตัวบุคคล ช่วยกันทำระบบให้ดีที่สุดแต่อย่าคิดว่าจะแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะในที่สุดก็อยู่ที่คนด้วย เหมือนกับบ่ายวันนี้จะมีการพิจารณารัฐธรรมนูญ ก็คือการวางระบบ จะสำเร็จสัมฤทธิ์หรือไม่ อยู่ที่คน คนจะเข้ามาอยู่ในระบบรัฐธรรมนูญฉันท์ใด คนที่เข้ามาอยู่ในระบบตำรวจก็ฉันท์นั้น กฎหมายตำรวจแห่งชาติคือกฎหมายวางระบบ แต่ที่สุดอยู่ที่ตำรวจ ที่มีทั้งดีและไม่ดี โดยท่านผู้ใหญ่ที่วางหลักนี้ไว้ให้ ก็คือ ประธานรัฐสภา นั่นเอง” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายวิษณุ กล่าววต่อว่า สมาชิกหลายคนถามว่าเมื่อมีกฎหมายนี้แล้วส่วยจะหมดหรือไม่ ตั๋วจะหมดหรือไม่ ประชาชนจะนอนตายตาหลับหรือไม่ ขอตอบว่าเราทำระบบให้ดีที่สุด แล้วไปเคี่ยวเข็ญที่คน ทำผิดต้องลงโทษ ทั้งระบบและคนต้องคู่กันไป สิ่งที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายมาทั้งหมดนั้น ขอความกรุณาโปรดนำไปใส่ไว้ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จะปรับปรุงแก้ไขออกมาอย่างไร ไม่มีความขัดข้อง และรัฐบาลวางใจ นอนใจ เชื่อใจ ว่าสุดท้ายแล้วร่างกฎหมายฉบับนี้ที่จะออกมาจะเป็นฉบับปฏิรูปเท่าที่เคยมีมา
(ที่มาข่าว : https://www.thaipost.net/main/detail/94102)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage