รัฐสภาเริ่มแล้ว ถกแก้ รธน.วาระ 2 กมธ.เสนอปรับรายละเอียด 7 ประเด็น เลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน - ใช้เสียง 2 ใน 3 จากรัฐสภาถึงแก้ไขได้ แต่สุดท้ายแพ้โหวต 441 ต่อ 178 คะแนน กลับไปใช้ 3 ใน 5 จากรัฐสภาตามร่างเดิม
.............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.35 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรยาชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. เสนอรายงานต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าในการพิจารณาครั้งนี้มีผู้เสนอคำขอแปรญัตติรวม 109 คน สำหรับสาระสำคัญที่ กมธ.ได้ประชุมกันทั้งหมด 12 ครั้ง ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดที่แตกต่างจากชั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ดังนี้
1.คะแนนเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 และวาระ 3 ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสองสภา
2.กำหนดให้มีการตรวจสอบกระบวนการตรารัฐธรรมนูญ
3.ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
4.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจนำบทบัญญัติในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องบังคับใช้โดยอนุโลมกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
5.เมื่อตำแหน่ง ส.ส.ร.ว่างลง ให้เลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน เว้นแต่จะเหลือเวลาในการจัดทำร่าง รธน.ไม่ถึง 90 วัน
6.ให้ ส.ส.ร.มีอำนาจแต่งตั้ง กมธ. ยกร่าง รธน.หรือพิจารณาร่าง รธน.จาก ส.ส.ร. สำหรับ กมธ.อื่นอาจแต่งตั้งจากบุคคลภายนอก โดยคำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการทำหน้าที่ โดยให้มีจำนวน กมธ.ตามความจำเป็น
7.เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่าง รธน.เสร็จแล้ว ให้นำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณา อภิปรายแสดงความคิดเห็นให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันโดยไม่มีการลงมติ และให้ประธานรัฐสภา ส่งร่าง รธน.ให้ กกต.ภายใน 7 วันเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ
นายวิรัช กล่าวด้วยว่า ประการสุดท้ายขอเรียนว่า เมื่อ กมธ.พิจารณาแก้ไขที่มาของ ส.ส.ร.ให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 200 คน จำเป็นต้องตัดบทบัญญัติมาตรา 256/4 มาตรา 256/7 มาตรา 256/8 และมาตรา 256/9 ออกทั้งหมดและได้เสนอร่าง รธน.ตามที่ได้มีการแก้ไขต่อที่ประชุมรัฐสภาด้วยแล้ว
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า จำนวนเสียงการแก้ รธน. ในวาระ 1 และวาระ 3 ที่ใช้เสียง 3 ใน 5 ตามร่างที่พรรคร่วมรัฐบาลเหมาะสมอยู่แล้ว หากใช้เสียง 2 ใน 3 ตามที่ กมธ.แก้ไขคิดว่าไม่เหมาะสม เพราะถ้า ส.ว.ไม่เห็นด้วยจะไม่มีทางแก้ รธน. เสียงของส.ส.ขณะนี้มี 487 คน ถ้าต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา หรือ 492 คน ต่อให้ประธาน สภาฯลงมติด้วย ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญวาระ1และ3ได้
ส่วน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ตัวเลข 2 ใน 3 ในการแก้รัฐธรรมนูญถือว่าสูงเกินไป ที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญ 8 ฉบับ ให้ใช้เสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่กึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา การอ้างว่า การแก้รัฐธรรมนูญควรทำได้ยากนั้น จะต้องไม่ยากเกินไปให้เกิดทางตันหรือวิกฤติทางรัฐธรรมนูญได้ ถ้าจะเกินกึ่งเล็กน้อยถือว่า พอรับได้ แต่ถ้าใช้เสียง 2 ใน 3 ไม่ควรเห็นด้วยเป็นอันขาด ขณะนี้มี ส.ส.เกือบ 500 คน ยังแก้ไม่ได้เลย หาก ส.ว.ไม่ยินยอม ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ประชาธิปไตยแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ อยากให้กลับไปใช้เสียง 3 ใน 5 เหมือนเดิม
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง กมธ. เพราะการแก้ไขวิกฤติ รธน.คือการแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตอีก ส่วนที่แก้ไขในปัจจุบัน หากมีผลบังคับใช้ ทำนายได้ว่า รธน.จะไม่มีทางแก้ และมีทางเดียวคือล้มกระดานแก้ รธน.ด้วยการรัฐประหาร ทั้งทราบว่า บุคคลที่เสนอให้แก้ไขเป็น 2 ใน 3 คือคนที่ยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สร้งาการไยม่ยอมรับและนำไปสู่วิกฤติของรัฐธรรมนูญ
@ กมธ.แพ้โหวต กลับไปใช้ร่างเดิมใช้เสียง 3 ใน 5 แก้รธน. วาระ 1และ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา ใช้เวลาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 3 ว่าด้วยการแก้ไข มาตรา 256 เรื่องการแก้ไขรัฐธรมนูญ นานเกือบ 4 ชม. ที่ประชุมซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ในการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 และวาระ 3 โดยให้กลับไปใช้ร่างเดิมคือเสียง 3 ใน 5 ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3 ด้วยคะแนน 441 ต่อ 178 คะแนน งดออกเสียง 13
@ภูมิใจไทย วอล์คเอาต์ งัดข้อ พปชร.เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจก่อนแก้ไข รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระสำคัญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม วาระที่ 2 อย่างไรก็ดีเมื่อเริ่มการประชุมนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่ค้างการพิจารณาในครั้งที่แล้ว และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และวุฒิสภา (วิป 3 ฝ่าย) ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้
@ภท.-พปชร.งัดข้อเลื่อนวาระถกร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯก่อนแก้ รธน.
อย่างไรก็ดีนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย คัดค้านการเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าว เพราะการพิจารณาต้องเป็นไปตามวาระการประชุม จึงไม่เห็นด้วย อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ และถูกบรรจุในระเบียบวาระแล้ว
เช่นเดียวกับนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า หากนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อน จะทำให้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 เสร็จไม่ทันก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ. 2564 เพราะร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับที่ขอเลื่อนขึ้นมา มีผู้ขออภิปรายจำนวนมาก
@ปธ.วิป รบ.ลั่นไม่มีเจตนายื้อแก้ รธน.
ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปฝ่ายรัฐบาล ระบุว่า แม้พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เข้าร่วมการประชุมวิป 3 ฝ่าย แต่ได้แจ้งผลการประชุมให้พรรคภูมิใจไทยทราบแล้ว ส่วนการเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมาพิจารณาก่อน ไม่ได้มีเจตนายื้อการแก้รัฐธรรมนูญ ขออย่าวิตก ถ้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ไม่ทันวันที่ 25 ก.พ. 2564 จะให้พิจารณาต่อวันที่ 26 ก.พ. 2564
หลังจากนั้นที่ประชุมจึงลงมติ โดยเสียงข้างมาก 331 เสียงต่อ 160 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 ราย เห็นชอบให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน
@ภูมิใจไทยวอล์คเอาต์
ภายหลังการลงคะแนนเสร็จสิ้นลง และเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแหงชาติฯ ปรากฏว่า ส.ส.พรรคภูมิใจไทยทั้งหมด ได้เดินออกจากห้องประชุมทันที โดยไม่ร่วมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับแต่อย่างใด
มีรายงานข่าวระบุว่า ส.ส.พรรคภูมิใจไทยจะกลับเข้ามาร่วมประชุมอีกครั้ง เมื่อถึงวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว
(นายภราดร และ ส.ส.ภูมิใจไทยแถลงยันแก้ไข รธน.เป็นเรื่องด่วน, ขอบคุณภาพจาก https://www.thaipost.net/)
@โฆษก ภท.แจงไม่ได้งัดข้อ พปชร.-ยันเรื่องแก้ รธน.สำคัญที่สุด
ภายหลังการวอล์คเอาต์ดังกล่าว ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แถลงท่าทีของพรรคถึงกรณีนี้ โดยนายภราดร กล่าวว่า พรรคไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อนระเบียบวาระร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ที่ค้างการพิจารณาจากครั้งที่แล้ว และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อนการแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณาในวาระ 2 เนื่องจากบรรจุในระเบียบวาระไว้เรียบร้อยแล้ว
“พรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนตลอดตั้งแต่แรกในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เป็นพรรคแรกที่ประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไข โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) วันนี้เจตนารมณ์ของเรายังไม่เปลี่ยน มีเจตนาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ อะไรก็แล้วแต่ที่จะขัดขวางไม่ให้การแก้ไขเดินหน้า เราไม่เห็นด้วย” นายภราดร กล่าว
โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวอีกว่า หลังจากนายชวน นัดให้ประชุมร่วมรัฐสภา 2 วัน ลำดับความสำคัญของพรรคภูมิใจไทย เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญสำคัญที่สุด ส่วนอีก 2 เรื่องแม้มีความสำคัญ แต่เมื่อเวลามีจำกัด จึงเห็นว่าไม่ควรเลื่อนเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อนเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มั่นใจว่าเวลาที่ใช้จะเหลือเพียงพอหรือไม่ แม้ประธานรัฐสภาบอกว่าอาจนัดประชุมเพิ่มเติมในวันที่ 26 ก.พ. 2564 แต่เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ได้นัดหมายในระเบียบวาระ จึงกังวลว่าจะมีกระบวนการมาดึงรั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้เดินหน้าหรือไม่
“ไม่กล้ามองว่าใครมีเจตนายื้อเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่พฤติกรรมที่ผ่านมาของแต่ละพรรค แสดงให้เห็นว่าใครมีเจตนาอย่างไรในการแก้ไข เราเพียงแต่ไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณา เพราะเรื่องข้อจำกัดที่มีเวลาพิจารณาแค่ 2 วัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่มาก มีเนื้อหาสาระที่สมาชิกแปรญัตติไว้จำนวนมาก จึงกังวลว่าจะไม่สามารถพิจารณาได้เสร็จในสมัยประชุมนี้” นายภราดร กล่าว
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาในวันนี้เชื่อมโยงประเด็นจากเหตุการณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหรือไม่ นายภราดร กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่อยากให้เรื่องรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาโดยด่วน
@‘วิรัช’ปัดตั้งธงแก้รายมาตรา-รอคำวินิจฉัยศาล รธน.ก่อน
ช่วงเช้า วันเดียวกัน นายวิรัช รัตนเศรษฐ กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ. 2564 ว่า หากยังไม่มีคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาไปก่อน โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าหากไม่เสร็จ จะเลื่อนเวลาออกไป ดังนั้นต้องพยายามพิจารณาให้เสร็จให้ได้ หลังจากที่ลงมติวาระ 2 รายมาตราไปแล้ว ต้องเตรียมการหลังจากนั้น 15 วัน ถึงจะเปิดประชุมวิสามัญได้ แต่กำหนดวันอยู่ที่การเสนอขึ้นไป และได้รับการโปรดเกล้าฯลงมา จึงเป็นไปตามเวลาและข้อกำหนด
“ผมไม่สามารถดึงเวลาให้เร็วหรือช้าได้ ส่วนเรื่องบรรยากาศที่ไม่ดี ถึงไม่ดีต้องเดินต่อ เพราะมาถึงวันนี้แล้ว หากบอกว่าบรรยากาศไม่ดีตั้งแต่วันแรก ไม่มีคนเชื่อ จะให้ลงมติอย่างเดียว ตั้งแต่ก่อนรับหลักการ ขณะนี้รับหลักการ ตั้ง กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเข้าสู่สภาวาระ 2-3 แล้ว” นายวิรัช กล่าว
เมื่อถามว่า วิปฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีการตั้งธงในการแก้ไขกับรายมาตราอยู่แล้วหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า จากที่เคยตอบไปว่า หากไม่ผ่านจะแก้เป็นรายมาตรา ขอสรุปว่าตอนนี้ยังไม่ได้นึกถึงตรงนั้น แต่รัฐบาลมุ่งว่าจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ได้ 200 คน หลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกครั้ง ต้องดูเหตุและผลว่าในช่วงนั้นจะเป็นอย่างไร จะพยายามทำให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่า ผลของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยออกมา ไม่ว่าผลจะเป็นบวกหรือลบ จะมีผลต่อวาระ 3 หรือไม่ นายวิรัชกล่าวว่า มีผล หากศาลให้ดำเนินต่อได้ จะเดินต่อ หากต้องหยุด ก็ต้องหยุด ส่วนถ้าศาลไม่ให้ตั้ง ส.ส.ร. จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทันทีหรือไม่ ต้องปรึกษากับประธานวิปฝ่ายค้าน ว่ามีความเห็นอย่างไร ต้องมีความเห็นร่วมด้วยทั้ง 3 ฝ่าย และหากต้องขยายเวลาการประชุมไปถึงวันที่ 26 ก.พ. 2564 ไม่มีปัญหา แต่อย่าเพิ่งเร่งรัด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage