‘ปกรณ์วุฒิ’ ส.ส.ก้าวไกล ย้อนเงื่อนปม เพลย์เวิร์ค-อสมท ปมจ่ายค่าคืนคลื่น 3.2 พันล. แบ่งจ่ายคนละครึ่ง แฉ‘ไอ้โม่ง’ล็อบบี้ผ่าน‘บิ๊กป้อม’ล็อคชื่อตั้งอนุกรรมการฯจ่ายเงินเยียวยา ปล่อยคนมีส่วนได้เสียนั่งบอร์ด-มีคนสนิทน้อง‘พล.อ.ประวิตร’จริงหรือไม่ ชี้‘บิ๊กตู่’เป็นประธาน สคร.รู้อยู่แก่ใจกลับยืนยันหน้าตาเฉยว่าไม่พบความผิดพลาด 'บิ๊กตู่' ส่งข้อมูลต่อให้ ป.ป.ช.แล้ว แล้ว ส่วนสรรหาอีกชุด อยู่ในขั้นตอน - รอ พ.ร.บ.ฉบับใหม่
................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 ราย เป็นวันที่สี่ โดนเมื่อประมาณ 20.00 น. ที่ผ่านมา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมวล.กลาโหม รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากแต่งตั้งคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินของแผ่นดิน
@ย้อนเงื่อนปม Playwork-อสมท ปมจ่ายค่าเสียหายเรียกคืนคลื่น 3.2 พันล.
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ในเดือน ก.พ. 2563 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดประมูลคลื่นเพื่อนำไปใช้ในเทคโนโลยี 5G และหนึ่งในคลื่นที่ถูกนำมาประมูล 5G คือคลื่น 2600MHz ซึ่งต้องเรียกคืนจากเจ้าของสิทธิเดิม คือบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ MCOT ดังนั้น ในวันที่ 10 มิ.ย. 2563 กสทช. มีมติให้มีการชดเชย ให้กับ MCOTจากการเรียกคืนคลื่น 2600MHz เป็นเงินจำนวน 3,235 ล้านบาท ปรากฏว่า จำนวนเงิน 3,235 ล้านบาท ที่ชดใช้ให้ MCOT จะต้องแบ่งให้บริษัทเอกชนคือบริษัท เพลย์เวิร์คฯ หรือ Playwork คู่สัญญากับ MCOT ครึ่งนึงหรือประมาณ 1,617 ล้านบาท ทั้งนี้ MCOT เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ต่อมา MCOT เซ็นสัญญากับ Playwork ตั้งแต่ปี 2553 และ ตลอด 9 ปี ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินธุรกิจใด ๆ และสัญญาฉบับนี้เคยถูกลงมติโดย กสทช. ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ความไม่ชอบมาพากลก็เริ่มขึ้น ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีทั้งการแทรกแซงองค์กรอิสระ ระงับการสรรหาบอร์ด กสทช. ใหม่ ทำให้มีผลกับมติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง และยังมีการส่งคนของตัวเองไปนั่งที่นั่งในตำแหน่งทั้งในกรรมการตรวจสอบ กสทช. และ อนุกรรมการพิจารณาค่าชดเชยเยียวยา ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดเรื่องวุ่นวายในปี 2563
“ในส่วนของตัวเลขเงินเยียวยาจำนวน 3,235 ล้านบาทให้กับ MCOT และสัดส่วนการแบ่งเงินเยียวยา 50:50 กับบริษัท Playwork มาจาก มติ 3:2 เสียง ของ กสทช. ในวันที่ 10 มิ.ย. โดยมาจากการเลือกใช้ผลการศึกษาของที่ปรึกษาคือจุฬาลงกรณ์ ทั้งที่มีการจ้างที่ปรึกษาอีก 2 เจ้า ได้แก่ TDRI และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาทำการศึกษา ผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มีตัวเลขสูงที่สุดที่ในการจ่ายค่าเยียวยาให้กับ MCOTและที่ประชุมมีการเลือกตัวเลขในกรณีที่เป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจตามผลการศึกษาของที่ปรึกษาเพื่อประเมินมูลค่าการเยียวยา ที่ประชุมเลือกตัวเลขที่สูงที่สุดของผลการศึกษาที่ให้ตัวเลขมาสูงที่สุด แต่อนุกรรมการพิจารณาค่าทดแทนชดใช้ได้โยนตัวเลขของ 3 สถาบันทิ้งทั้งหมดโดยให้เหตุผลว่า ผลการศึกษาทั้ง 3 เล่มนั้นไม่เข้าใจธุรกิจตามสัญญานี้ และยังมีการให้ความเห็นต่อสื่อมวลชน เปรียบเทียบยกย่องบริษัท Playwork เป็น สตีฟ จ็อบ เป็น มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก บอกกระทั่งว่าจะเป็น Netflix เมืองไทย คณะอนุกรรมการจึงต้องการให้เยียวยาเกือบหมื่นล้าน แต่พอคณะกรรมการ กสทช. เห็นตัวเลขนี้แล้วไม่กล้าเอาตัวเลขนี้มาลงมติเพราะกลัวว่าอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและเข้าคุกได้ นั่นจึงนำมาสู่สรุปข้อสรุปที่ว่าให้ใช้ตัวเลขตามผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์ ที่เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดจากทั้ง 3 สถาบัน และมีข้อสังเกตด้วยว่าอนุกรรมการพิจารณาค่าทดแทนชดใช้ และการจ่ายค่าชดเชย ที่แต่งตั้งขึ้น” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
@แฉ‘ไอ้โม่ง’ล็อบบี้ผ่าน‘บิ๊กป้อม’ล็อคชื่อตั้งอนุกรรมการฯเยียวยา
นายปกรณ์วุฒิ อ้างด้วยว่า มีข่าวว่า ‘ไอ้โม่ง’ ได้ไปล็อบบี้ผ่าน พล.อ.ประวิตร เพื่อทำการ ล็อครายชื่อของอนุกรรมการคณะนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า MCOT ที่สถานะการเงินย่ำแย่งบการเงินล่าสุดมีเงินสดเหลือแค่ 500 ล้านบาท และขาดทุนสะสมกว่า 2,500 ล้านบาท แต่แบ่งเงินให้เอกชนถึง 1,600ล้าน ได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ตลอด 9 ปี บริษัท Playwork ตั้งแต่เซ็นสัญญาจนถูกเรียกคืนคลื่น ยังไม่เคยมีการดำเนินธุรกิจจริง มีเพียงการแถลงข่าว เมื่อปี 2553 หลังเซ็นสัญญาว่าจะทำโทรทัศน์บอกรับสมาชิกในชื่อ Ving TV ด้วยเงินลงทุน 500 ล้านบาทและตั้งเป้าผู้ใช้บริการในปีแรก 100,000 ราย แต่ในช่วงปี 2558- 2559 ผู้อำนวยการบริษัท MCOT ขณะนั้น เคยตรวจสอบและพบว่าผ่านมา 5 ปี ไม่เคยจัดส่งแผนส่งเสริมการตลาด ไม่เคยส่งแผนกลยุทธ์หรือแม้แต่เครื่องหมายการค้า ยังไม่เคยออกแบบด้วยซ้ำ และช่วงนั้น กสทช. เคยได้ทำการตรวจสอบ พบว่า คลื่นความถี่ชุดนี้ ไม่เคยมีการใช้งาน ไม่มีการทดลองออกอากาศ และ ไม่มีผู้ใช้บริการ
“คนใน MCOT ก็ยังสงสัยว่านี่อาจจะเป็นสัญญาผี ที่มีการวางแผนกันมาอย่างยาวนาน และ ทำการจัดฉากว่าจะทำธุรกิจจริง เอากระดาษเปล่ามาแลกเงินก้อนโตโดยอาศัยเส้นสายจากผู้มากบารมี โดยในเดือน พ.ย. 2562 หลังจาก มีการเรียกคืนคลื่นไปแล้ว รอเพียงให้ กสทช. เคาะจำนวนเงินเยียวยา ได้มีการแต่งตั้งบอร์ด MCOT เข้ามาใหม่ 3 คน ซึ่งมีตัวละคร 2 ตัว คือ นาย A และ นาย B เข้ามาเป็นบอร์ดในครั้งนี้ โดยนาย A เป็นหนึ่งใน อนุกรรมการพิจารณาค่าชดเชย ของ กสทช. ชุดที่ปั่นตัวเลขมาหลักหมื่นล้าน แล้วชงการแบ่งสัดส่วน 50:50 มา เรียกว่า เสร็จงานจากอนุกรรมการก็ข้ามมานั่งบอร์ด MCOT” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
@ปล่อยคนมีส่วนได้เสียนั่งบอร์ด-มีคนสนิทน้อง‘บิ๊กป้อม’จริงหรือไม่
ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายอีกว่า จากเหตุการณ์นี้จึงย้อนถามว่า ปล่อยให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงขนาดนี้ มานั่งเป็นบอร์ดได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีทำอะไรอยู่ รวมทั้งกรณีของนาย B เป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับนายพล เป็นคนมอบอำนาจให้ ผอ.MCOT ไปยืนยันสัดส่วน 50:50 และคนเดียวกับที่สั่ง ปิดประชุม ไม่ยอมให้บอร์ดทักท้วง อีกทั้งด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยแน่ใจว่ามีความรู้ความสามารถ สอดคล้องกับการ บริหารงานของ MCOT หรือไม่อย่างไร ถึงไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็ไม่แปลกใจเพราะนาย B เป็นคนที่ วงการตำรวจ หรือ แม้กระทั่งนักข่าวรู้กันทั่วว่าเป็นลูกน้องเก่า และเป็นนายตำรวจสายตรง และเป็นคนสนิทของน้องชายพลเอกประวิตรใช่หรือไม่
“แทนที่ท่านนายกฯ จะสะสางสิ่งที่ คสช. ทำเอาไว้กลับมีการแต่งตั้งทั้งคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และคนในเครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร เข้าไปนั่งเป็น บอร์ด MCOT เข้าไปปิดจ็อบด้วยการข้ามหัวบอร์ด MCOTทั้งคณะ เพื่อแบ่งเงินให้กับเอกชน ที่ไม่เคยดำเนินธุรกิจจริงเป็นจำนวนเงิน 1,617 ล้านบาท มีทั้งการปกปิดข้อมูล ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบจริงหรือไม่” นายปกรวุฒิ กล่าว
@ชี้‘บิ๊กตู่’เป็นประธาน สคร.รู้อยู่แก่ใจกลับยืนยันหน้าตาเฉยว่าไม่พบความผิดพลาด
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยตำแหน่ง ผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกำกับดูแลการแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจโดยตรง ก็รู้อยู่แก่ใจว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น แต่กลับออกมายืนยันหน้าตาเฉย ว่าไม่พบความผิดพลาดใดๆ เรื่องราวทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า มีการกระทำอย่างเป็นขบวนการ สมรู้ร่วมคิดกัน วางคนเข้าไปครอบงำในองค์กรต่างๆ ของรัฐ เพื่อเอาเงินของแผ่นดินเข้ากระเป๋าตัวเอง และนายกรัฐมนตรียังจงใจ ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินของแผ่นดิน ของประชาชนคนไทยทุกคน นับพันล้านบาท
“หากเรื่องนี้ยังไม่มีการตรวจสอบ ความเสียหายอาจจะมากกว่านี้อีกหลายเท่า เพราะตอนนี้มีการฟ้องร้องคดีไปสู่ศาลปกครอง เพื่อขอให้จ่ายค่าชดเชยคลื่นเป็นมูลค่า 17,000 ล้านบาท สูงกว่าตัวเลขเดิมถึง5 เท่า และนั่นหมายความว่าเงินจำนวน 50% จะถูกดึงออกไปให้เอกชนหรือบริษัท Playwork สูงถึง 8,500 ล้านบาท” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
@'บิ๊กตู่'ส่งข้อมูลให้ ป.ป.ช. - สรรหาอีกชุดอยู่ในขั้นตอน รอ พ.ร.บ.ฉบับใหม่
ต่อมาเวลา 21.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงสั้นๆ ว่า เรื่อง กสทช.ก็เห็นมีการพูดจากันหลายเรื่องด้วยกัน ก็อยู่ในกระบวนการด้วยกันทั้งสิ้น และได้มีการส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบเพื่อพิจารณาแล้ว ในส่วนของการคัดสรรกรรมการ กสทช. ก็อยู่ในช่วงการพิจารณาอยู่ และรอ รอพ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่เพื่อดำเนินการต่อไป
อ่านประกอบ :
กมธ.สอบประวัติฯซักผู้ผ่านสรรหา ‘กสทช.’ ปมสัมพันธ์ ‘เพลย์เวิร์ค’-สว.หนุนนับหนึ่งใหม่
ย้อนเส้นทาง 10 ปี สัญญาเคเบิลทีวีฯ ‘เพลย์เวิร์ค’ ก่อนวุฒิฯโหวตเก้าอี้ 'กสทช.'
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/