'ปดิพัทธ์' ร่ายยาวปัญหาการศึกษาไทย เด็กชู 3 นิ้วถูกคุกคาม ไว้ผมยาวถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ถามทำไมเคาะอาหารกลางวันแค่ 21 บาท สร้างความเหลื่อมล้ำให้ ร.ร.ต่างจังหวัด ด้าน 'ณัฏฐพล' เผยอนุมัติตามความเหมาะสมกับงบประเทศ เคยขอค่าอาหารไป 36 บาทแต่ไม่ได้ เหตุถ้าขึ้นมาถึง 24 บาทสำนักงบฯอ้างเป็นภาระเพิ่มขึ้น 3 พันล.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคคลเป็นวันที่สาม โดยช่วงค่ำ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เกี่ยวกับประเด็นประชาธิปไตยและเสรีภาพของนักเรียน รวมถึงค่าอาหารกลางวันเด็กที่ปรับขึ้น 1 บาท เป็น 21 บาท
@ถามเด็กชู 3 นิ้ว ไว้ผมยาวทำไมถูกคุกคาม
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า นายณัฏฐพลมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอนาคตของนักเรียนไทย และรับผิดชอบดูแลครูกว่า 600,000 คน ใช้งบประมาณด้านการศึกษาปีละมากกว่า 400,000 ล้านบาท แต่กลับใช้อำนาจไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง เพราะมีรายงานว่า มีครูบางส่วนข่มขู่ว่านักเรียนที่ชูสามนิ้ว ผูกโบว์ขาวจะถูกไล่ออก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่า มีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 103 กรณีจากนักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิในการแสดงออกทางการเมือง ตั้งแต่ห้าม พูดจาตำหนิ ข่มขู่จะลงโทษในรูปแบบต่าง ๆ ไปจนถึงขั้นไล่ออก ตบหัว ตีมือ ยึดโทรศัพท์ ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอรมน.) เข้าไปสอดส่องคุกคามนักเรียนของตัวเองในสถานศึกษา
นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า เมื่อนักเรียนตั้งคำถามและแสดงออกเรื่องชุดนักเรียน นัดแต่งไปรเวทเพื่อแสดงสัญลักษณ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยืนยันให้เข้าเรียนและลงโทษได้ตามระเบียบมีเพียงแค่ 4 สถาน แต่ไปลงโทษด้วยการกักขังหน่วงเหนี่ยว จนผู้ปกครองต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียน
@ควักเหรียญบาทโชว์-ชี้เคาะค่าอาหารกลางวันเด็กแค่ 21 บาท ซื้อไข่เพิ่มสักฟองยังไม่ได้
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า นายณัฏฐพลแม้มีความพยายามพอสมควร ในการเสนอให้ปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียน และเปลี่ยนจากการให้เท่ากันหมด มาเป็นการให้ตามขนาดของโรงเรียน โดยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แสดงเหตุผลความจำเป็นต่างๆจนปรับเป็นอัตราดังกล่าว
จนมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 นายณัฐพลได้ออกมาเปิดเผยว่ากระทรวงศึกษาธิการ จะมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน มีทั้งเรื่องลดภาระครู การเพิ่มค่าอาหารกลางวัน การให้นักเรียนอาชีวะใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือสังคม และยกเลิกการสอบการศึกษาระดับชาติ (O-Net)
“แต่แล้ว ครม.กลับมีมติวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบปรับค่าอาหารกลางวันนักเรียนเป็น 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นการปรับขึ้นค่าอาหารกลางวันครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2556 แต่ก็ขึ้นมาบาทเดียว สุดท้ายนักเรียนก็ยังหิวเหมือนเดิม เพิ่มไข่สักฟองก็ยังไม่ได้” นายปดิพัทธ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างอภิปรายประเด็นนี้ นายปติพัทธ์ ควักเหรียญบาทออกมาโชว์ในที่ประชุมด้วย
@เผย รมต.ศึกษา ปล่อยงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษาถูกตัดนับพันล้าน
ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กตามต่างจังหวัด ยังมีสภาพย่ำแย่ภายใต้ความรับผิดชอบของนายณัฏฐพล ประการแรก อยากให้ดูสถิตินักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษ ที่รวบรวมโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แม้นักเรียนยากจนจะลดลง แต่ไม่ได้หายจากความยากจน กลับกลายเป็นนักเรียนยากจนพิเศษที่เพิ่มขึ้นจาก 711,536 คน เป็น 994,428 คน ภายในระยะเวลาแค่ 1 ปีเท่านั้น นักเรียนยากจนพิเศษ คือ นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ 1,000 บาทต่อเดือน
"ถ้าเรารวมนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเข้าด้วยกัน เรากำลังพูดถึงครอบครัวจำนวน 1,768,211 ครอบครัว ครอบครัวเหล่านี้ลำบากยากแค้นอยู่แล้ว สองปีนี้ยิ่งหนักหนาสาหัสด้วยสถานการณ์โควิด แต่รัฐมนตรีกลับทำเรื่องที่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้สาหัสขึ้นไปอีก โดยการปล่อยให้งบประมาณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาถูกตัดไป 1,000 ล้านบาท ทำให้นักเรียนอย่างน้อย 200,000-300,000 คน เข้าไม่ถึงความเสมอภาคทางการศึกษา แม้จะเป็นแค่เงิน 3,000-4,000 บาทต่อปีที่ให้กับนักเรียนคนหนึ่ง แต่นั่นหมายถึงหนังสือ ชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียน และชีวิตของนักเรียนคนหนึ่ง" นายปดิพัทธ์ กล่าว
@รมต.ศธ.โต้ ปัญหาการศึกษาเกิดขึ้นจริง ยันประสานกลุ่มนักเรียนเลวมาตลอด
ส่วนนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวชี้แจงว่าในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมานั้นได้มีการลงพื้นที่ไปโรงเรียนต่างๆในพื้นที่เกือบพันโรงเรียน กว่า 50 จังหวัดมาโดยตลอดเพื่อดูปัญหาของการศึกษาไทย จนเข้าใจว่าปัญหาการศึกษาไทยนั้นมีความซับซ้อนมาก และฝังรากลึกมานาน เราจะต้องพลิกการศึกษา แต่ไม่สามารถพลิกปัญหาการศึกษาได้โดยทันที ที่ผ่านกระทรวงได้ฟังปัญหาของเด็ก ๆ มาโดยตลอด ยอมรับว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของเด็ก ๆ ที่พูดถึงการศึกษานั้นอยู่บนพื้นฐานความจริงที่เกิดขึ้น ทั้งภาระงานของครู ปัญหาการประเมินวิทยฐานะ ปัญหาของผู้สอน ภาระของครู แต่ไม่เป็นไรเช่นกันถ้าหากจะมีบางกลุ่มต้องการจะพูดแค่เรื่องของทรงผม
"ดังนั้นจึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาของการศึกษา มีประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ทำหน้าที่เป็นประธาน ทำเอาปัญหาของนักเรียนขึ้นมารับฟัง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องทรงผมและเครื่องแต่งกาย ให้แยกเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน โดยไม่ต้องนำเอาไปตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และมีการเชิญกลุ่มที่เรียกว่านักเรียนเลวมาร่วมประชุม และก็มีการเชิญมาอีกหลายครั้ง" นายณัฏฐพล กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาว่า หน่วยงานนี้นั้นมีคณะกรรมการ (บอร์ด) อิสระ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการมีการทำงานรวมกับหน่วยงานนี้มาโดยตลอด มีการเพิ่มงบประมาณขึ้นทุกปี แต่หน่วยงานนี้ควรจะได้รับงบประมาร 2.5 หมื่นล้านต่อปีด้วยซ้ำ เพราะว่ามีเด็กที่ยากจนมากมายในประเทศ ดังนั้นภายใน 3-4 ปีกันข้างหน้า ถ้ามีการร่วมกันของทั้งสภา ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เราน่าจะสามารถพลิกการศึกษาไทยได้แน่นอน
@แจงแบ่งงบช่วยสอนเด็กช่วงโควิดฯเหมาะสมแล้ว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ในข้อกล่าวหาที่บอกว่าเราไม่มีความสามารถในการจัดการศึกษาช่วงโควิด-19 ไม่มีงบประมาณให้ครูไปทำหน้าที่ พบปะนักเรียน ให้ใบงานต่าง ๆ นั้น แท้จริงแล้วสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการจัดสรรงบประมาณให้แบ่งออกเป็นชั้นก่อนประถม 215 บาทต่อภาคเรียน ชั้นประถม 240 บาทต่อภาคเรียนมัธยมต้น 440 บาทต่อภาคเรียน มัธยมปลาย 447 บาทต่อภาคเรียน โดยงบประมาณพวกนี้ เอามาจากงบกิจกรรมที่ไม่ได้ดำเนินการเพราะสถานการณ์การระบาดต่าง ๆ
“การที่เราเลื่อนการเปิดภาคเรียนจาก 15 พ.ค.เป็นการเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค.นั้น เป็นการทำให้ครูได้เตรียมความพร้อม มีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยีที่บางคนอาจจะยังไม่เคยรู้จัก คุ้นเคย เราไม่รู้ว่าวันนั้นการระบาดจะเกิดขึ้นขนาดไหน แต่โชคดีที่ไม่มีการระบาดอย่างแพร่หลายในประเทศไทย” นายณัฏฐพล กล่าวและว่า หลังจากนี้ไม่ว่าการระบาดจะเป็นแบบไหน ครูจะมีศักยภาพในการสอนทั้งการสอนแบบออนไลน์และการให้ใบงานอย่างเหมาะสมในพื้นที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตได้
@เผยค่าอาหารกลางวันควรต่ำสุด 24 บาทแต่ขึ้นไม่ได้ เหตุเป็นภาระงบเพิ่ม 3 พันล้าน
นายณัฏฐพล กล่าวถึงในประเด็นเรื่องค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียนว่า เหมือนกับหน่วยงานกระทรวงอื่น ๆ คือทุกคนต้องอยากได้งบประมาณให้กับหน่วยงานของตัวเองเยอะทั้งนั้น ที่ผ่านมาเคยมีการเสนองบประมาณค่าอาหารกลางวันไปแล้วว่าสูงสุดควรจะอยู่ที่ 36 บาท และต่ำสุดก็ควรจะอยู่ที่ 24 บาท แต่พอเมื่อทำการบ้านด้านงบประมาณของประเทศแล้ว พบว่างบประมาณที่เหมาะสมคือ 21 บาท เพราะถ้าเผื่อ 24 บาท โรงเรียนขนาดใหญ่ได้เกินไป อีกทั้งสำนักงบประมาณชี้แจงมาแล้วว่า การอนุมัติค่าอาหารกลางวันถึง 24 บาทนั้น จะทำให้ภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 3 พันล้านบาท
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage