ผลทดสอบ ‘วัคซีนจุฬาฯ’ ระยะแรกออกมาดี รอผ่าน อย.ก่อน คาดฉีดอาสาสมัครได้ ปลาย เม.ย.-พ.ค. 64 ลุยผลิตวัคซีนรุ่น 2 รองรับเชื้อดื้อยาจากการกลายพันธุ์
……………………………….
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ร่วมกับ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดของประเทศ หรือ 'จุฬาโค19' (ChulaCov19) โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีน mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด ไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด ใช้เทคโนโลยีเดียวกับวัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศกว่า 1.8 แสนล้านราย
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนจุฬาโค19 ผ่านการทดลองในลิงและหนูแล้ว โดยพบว่าเมื่อได้รับวัคซีนจุฬาโค19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ ไม่พบว่าเป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง และสามารถป้องกันอาการป่วย ยับยังเชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และลดจำนวนเชื้อในจมูกและปอดได้ ทำให้ลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อ
“มีผลทดสอบที่เราเลียนแบบวัคซีนของโมเดอร์นาจากการทดลองในหนู พบว่าไม่ว่าจะฉีดโดส 1 โมโครกรัม 10 ไมโครกรัม หรือ 30 ไม่โครกรัม ประสิทธิภาพของวัคซีนจุฬาโค19 เราเท่าเขาหมดเลย แต่ในปริมาณที่ 10 ไมโครกรัม เราชนะด้วยซ้ำไป โดยพบการสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า 2 เท่านั้น ดังนั้นเราสามารถสบายใจว่าวัคซีนของเราไม่ได้ด้อยไปกว่าวัคซีนของโมเดอร์นาจากต่างประเทศ” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นพบว่าวัคซีนสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติที่ 2-8 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 1 เดือน และกำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ในสัปดาห์หน้า หากสามารถเก็บได้อย่างน้อย 1-3 เดือนจะช่วยให้การขนส่งกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดทั่วประเทศได้สะดวก คาดว่าหากผลิตเสร็จและผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรม และคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะนำมาทดสอบในอาสาสมัครได้ในช่วงปลายเดือน เม.ย.-พ.ค. 2564 โดยจะแบ่งอาสาสมัครเป็น 2 ระยะ ในระยะที่ 1 จะใช้อาสาสมัคร 2 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มอาสาสมัครอายุ 18-55 ปี และกลุ่มอาสาสมัครอายุ 65 – 75 ปี รวม 72 ราย โดยจะทดสอบในอาสาสมัครกลุ่มอายุน้อยก่อน หากปลอดภัยจึงจะทดสอบในกลุ่มผู้สูงอายุต่อไป เพื่อค้นหาปริมาณโดสที่เหมาะสมสำหรับคนไทย และในระยะที่ 2 จะทดสอบอาสาสมัครอีก 300-600 ราย
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามทีมผู้พัฒนาวัคซีนจุฬาโควิด19 ได้ทยอยส่งผลการทดลองดังกล่าวให้กับคณะกรรมการองค์การจริยธรรมและ อย.แล้ว เพื่อลดระยะเวลาในการพิจารณาขอใช้วัคซีนจุฬาโค19 ในสถานการณ์ฉุกเฉินให้สามารถนำมาใช้ภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้เตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 เพื่อรองรับเชื้อดื้อยา จากสถานการณ์การกลายพันธุ์ของโควิดที่เจอในหลายๆประเทศ ที่มีบางสายพันธุ์เริ่มดื้อต่อวัคซีนต้านโควิดในปัจจุบันด้วย เป็นคุณสมบัติเด่นของวัคซีน mRNA ที่ช่วยออกแบบวัคซีนรุ่นใหม่ตอบโต้เชื้อดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage