ละเอียด! ‘จิราพร สินธุไพร’ ทิ้งบอมพ์ปมข้อพิพาทคิงส์เกตฯ โชว์เอกสารลับอ้างที่ปรึกษา กม.ไทยบอกมีแนวโน้มแพ้คดีสูงในชั้นอนุญาโตฯ ซัด‘นายกฯ’รู้เห็นเป็นใจมาโดยตลอด อนุญาตสำรวจแร่ 44 แปลง เกือบ 4 แสนไร่ ด้าน ‘สุริยะ’ ยันทำตามมติ คนร.-ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ ลั่นถ้าไทยจะแพ้จริงทำไมคิงส์เกตฯต้องขอเจรจา-รับ 2.25 หมื่นล.ใส่กระเป๋าดีกว่า ‘บิ๊กตู่’ ยังยืดอกรับพร้อมรับผิดชอบ ขออย่าเอาข้อมูลในชั้นอนุญาโตฯมาพูด เกรงอันตราย
.....................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล 10 ราย เป็นวันที่สอง โดยเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายประเด็นเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยทิ้งประเด็นว่า กรณีบริษัท อัคราฯ คือใบเสร็จความเสียหายชิ้นสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะต้องรับผิดชอบ
น.ส.จิราพร อภิปรายสรุปได้ว่า เมื่อเดือน ก.ย. 2563 มีรายงานข่าวว่า บริษัท อัคราฯ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นำผงแร่ทองคำ และเงินออกขายได้ รวมถึงได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำเพิ่มเติมในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์อีก 44 แปลง เนื้อที่ราว 3.9 แสนไร่เศษ โดยอ้างว่าบริษัท อัคราฯ ได้ขออาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวตั้งแต่ปี 2546 หรือเมื่อราว 17 ปีก่อน โดยสาเหตุที่ได้รับอนุญาตครั้งนี้ มาจากผลการเจรจาที่บริษัท คิงส์เกตฯ สัญชาติออสเตรเลีย ยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ สมัยเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำเมื่อปี 2559
@โชว์เอกสารลับอ้างที่ปรึกษา กม.ไทยบอกมีแนวโน้มแพ้คดีสูงในชั้นอนุญาโตฯ
น.ส.จิราพร กล่าวอ้างถึงเอกสารลับที่สุด ด่วนที่สุด ที่ อก 0507/ล1846 ลงวันที่ 24 มี.ค. 2563 ลงนามโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ภายหลังบริษัท คิงส์เกตฯ แถลงปิดคดีกับอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์ โดยเอกสารลับดังกล่าว เป็นการรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าขอพิพาทของรัฐบาลไทยกับ บริษัท คิงส์เกตฯ เรียนถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ โดยในหน้าที่ 6 อ้างถึงบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของไทย หรือ APKS ประเมินแนวโน้มผลการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ คาดว่ามีโอกาสสูงที่ประเทศไทยจะแพ้คดี และต้องรับผิดชอบต่อมูลค่าความเสียหายประมาณ 2.25 หมื่นล้านบาท
“ความเห็นของบริษัทที่ปรึกษากฎหมายของไทย แปลให้เข้าใจง่ายว่า ไทยอาจแพ้คดีและอาจรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่มีที่ไหนในโลกที่ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายจะบอกว่าแพ้คดี ขนาดอนุญาโตตุลาการยังไม่มีคำตัดสิน แต่ประเมินแล้วว่าแพ้ จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไทยไม่มีทางชนะ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะเอาทางไหนไปชนะ” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร ยังกล่าวถึงเอกสารกระทรวงอุตสาหกรรม ลับที่สุด ด่วนที่สุด ที่ อก 0507/ล1076 ลงวันที่ 26 พ.ย. 2563 ถึงคณะรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์แก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและบริษัท คิงส์เกตฯ โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ นำผงแร่ทองคำและเงินจำหน่ายได้แล้ว โดยบริษัท คิงส์เกตฯ จะถอนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับผงทองคำและเงินดังกล่าวออกจากคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการ รวม 2 ข้อ คิดเป็นมูลค่า 8.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำแก่บริษัท อัคราฯ ในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์อีก 44 แปลงเรียบร้อย อย่างไรก็ดีคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ของบริษัท ริชภูมิ จำกัด (ในเครือบริษัท คิงส์เกตฯ) ในพื้นที่ จ.จันทบุรี 2 แปลง ยังมีประเด็นข้อร้องเรียนคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก จึงยังไม่อนุญาตได้ และได้แจ้งให้บริษัท คิงส์เกตฯ ทราบแล้ว
@มีการตั้ง กก.ประนีประนอม-ซัด‘นายกฯ’รู้เห็นเป็นใจมาโดยตลอด
น.ส.จิราพร กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเจรจาประนีประนอมยอมความกับบริษัท คิงส์เกตฯ โดยมีการทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบให้ไทยร่วมพิจารณากับบริษัท คิงส์เกตฯ และในการประชุมลับที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีความว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบ และเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยไฮไลต์อยู่ตรงที่ หากตกลงกับบริษัท คิงส์เกตฯ ได้ จะต้องยอมถอนคดีออกจากชั้นอนุญาโตตุลาการ เอกสารฉบับนี้ชี้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีรู้เห็นเป็นใจ รับทราบมาตลอดว่าไทยจะแพ้คดี จึงมอบหมายให้หน่วยงานเจรจายอมความ และประเคนทรัพยากรประเทศเพื่อให้ยอมความ ถ้าคิดจะสู้คดีมีที่ไหนต้องยอมความกับบริษัท คิงส์เกตฯ
น.ส.จิราพร กล่าวอีกว่า ข้อมูลในส่วนนี้สอดคล้องกับเว็บไซต์ของบริษัท คิงส์เกตฯ แจ้งผ่านเว็บไซต์บริษัท อัคราฯ ว่า ได้รับอนุญาตให้นำผงแร่ทองคำ และเงินออกจำหน่ายแล้ว และเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 บริษัท อัคราฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่ 397,227 ไร่ สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัท คิงส์เกตฯ แจ้งประจำไตรมาสบนเว็บไซต์เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
“ที่ดินเกือบ 4 แสนไร่เศษดังกล่าว บริษัท อัคราฯ ขอไปตั้งแต่ปี 2546 ผ่านไปกว่า 17 ปี ไม่มีวี่แววได้รับใบอนุญาต พอไทยจะแพ้คดีขึ้นมา นับจากวันที่บริษัท อัคราฯมีหนังสือถึงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานเหมืองแร่ ใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น บริษัท อัคราฯ ได้รับอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวแล้ว” น.ส.จิราพร กล่าว
@เผยยังมีพื้นที่ขอสำรวจเหมืองแร่อีก 6 จว.เกือบ 6 แสนไร่-ยอดรวมเฉียดล้านไร่
น.ส.จิราพร กล่าวด้วยว่า ในเมื่อรัฐบาลไทยยอมทำทุกอย่างแลกกับบริษัท คิงส์เกตฯถอนฟ้อง โดยบริษัท คิงส์เกตฯ จะไม่หยุดแค่นี้แน่นอน โดยในรายงานประจำไตรมาสของบริษัท คิงส์เกตฯ เมื่อ ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ระบุรายละเอียดว่า บริษัท อัคราฯ ยังมีใบอนุญาตเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่ในพื้นที่ จ.ชลบุรี จ.ลพบุรี จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.ระยอง และ จ.สระบุรี ค้างไว้หลายรายการ รวมเนื้อที่กว่า 579,551 ไร่ โดยจำนวนนี้ยังไม่ได้การอนุมัติจากรัฐบาลไทย แต่หากฝ่ายรัฐบาลพร้อมจะดำเนินการตามที่บริษัท อัคราฯร้องขอ ยอมแล่เนื้อเถือหนังประเทศทีละชิ้น จนกว่าบริษัท คิงส์เกตฯ จะพอใจและถอนฟ้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการประชุมลับเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว โดยมีการร่างโรดแมปเพื่อประนีประนอมกับบริษัท คิงส์เกตฯ มีหัวข้อหลักคือ การขออนุญาตจำหน่ายผงแร่ทองคำ และเงินที่ค้างในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ การขออาชญาบัตรพิเศษ การขอต่ออายุใบอนุญาตจำหน่ายโลหะ ขอประทานบัตรแปลงไข่แดง ขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน และขอต่อประทานบัตรเหมืองแร่ชาตรีใต้ (ในเครือบริษัท คิงส์เกตฯ) ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563-เม.ย. 2564 ด้วย ดังนั้นถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อนุญาตเพิ่มเติม รวมกับที่เพิ่งอนุมัติไปแล้ว 4 แสนไร่ เท่ากับว่าปาไปเกือบ 1 ล้านไร่
“แนวโน้มเรื่องนี้คือไทยมีโอกาสแพ้คดี 100% บทสรุปของเหมืองทองอัคราคือ สุดท้ายแล้วไทยต้องจ่ายค่าโง่อย่างไม่มีทางเลือก หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจ่ายในรูปแบบแพ้คดี หรือจ่ายโดยการนำทรัพยากรประเทศไปแลก อาจเป็นมูลค่ามากมายมหาศาล มากยิ่งกว่าค่าโง่ เอาเงินมหาศาลไปแลกผลประโยชน์ของประเทศ” น.ส.จิราพร กล่าว
@'สุริยะ'ยันอนุญาตสำรวจ 44 แปลงทำตามมติ คนร.-ไม่ใช่เอื้อประโยชน์
อย่างไรก็ดีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้ชี้แจงการอภิปรายของ น.ส.จิราพร สรุปได้ว่า อันดับแรกเรื่องการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่ทองคำ 44 แปลงที่บริษัท คิงส์เกตฯ ได้รับการอนุมัตินั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องในชั้นอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัท คิงส์เกตฯ มีคำขอยื่นมาตั้งแต่ปี 2546 และปี 2548 แต่คณะรัฐมนตรีขณะนั้น มีมติให้ชะลอการพิจารณาอนุญาตสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน สืบเนื่องจากห่วงใยเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน และสั่งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ศึกษาจัดทำนโยบายเหมืองแร่ โดยในที่สุดทำเสร็จเมื่อปี 2552
นายสุริยะ กล่าวว่า ต่อมาคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2552 อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมนำความคิดเห็นของสภาพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา หลังจากนั้นปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาประกอบความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว จึงประกาศนโยบายเหมืองแร่ทองคำแล้วเสร็จ อย่างไรก็ดีระหว่างจัดทำนโยบายนี้เพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี มีการยุบสภาเสียก่อน สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงส่งเรื่องคืนกระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากนั้นไม่ได้ดำเนินนโยบายใด ๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำอีก
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ต่อมาช่วงปี 2557 มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับผลประกอบการเหมืองแร่บริษัท อัคราฯ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนในพื้นที่ มีการร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทองคำทุกรายระงับประกอบกิจการเหมืองแร่เป็นการชั่วคราว และสั่งคณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ (คนร.) ไปจัดทำนโยบายเหมืองแร่ทองคำ เพื่อให้การทำเหมืองแร่ดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนได้ เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
“ต่อมาปี 2560 คนร.มีมติให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขออนุญาตและกลับมาประกอบการภายใต้นโยบายเหมืองแร่ทองคำได้ ดังนั้นบริษัท อัคราฯจึงกลับมาเดินเรื่องขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่จำนวน 44 แปลง ที่เคยยื่นไว้เมื่อปี 2546-2548 ดังกล่าว โดยที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตไปนั้น เป็นไปตามมติของ คนร. ไม่ใช่เรื่องการแลกเปลี่ยนในการถอนฟ้องแต่อย่างใด” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
@ลั่นถ้าไทยจะแพ้จริงทำไมคิงส์เกตฯต้องขอเจรจา-รับ 2.25 หมื่นล.ใส่กระเป๋าดีกว่า
ส่วนประเด็นที่บอกว่าบริษัท คิงส์เกตฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 2.25 หมื่นล้านบาทเศษนั้น นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ น.ส.จิราพร ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรม หรือรัฐบาลไทย แพ้ 100% ถ้ารัฐบาลไทยแพ้ บริษัท คิงส์เกตฯ คงไม่เจรจา เขา (บริษัท คิงส์เกตฯ) ได้เงิน 2.25 หมื่นล้านบาทเก็บใส่กระเป๋าได้ทันที ทำไมต้องแลกกับการขออาชญาบัตรสำรวจเหมืองแร่ กว่าจะลงทุน กว่าจะทำกำไร ที่ผ่านมา 15 ปีบริษัท คิงส์เกตฯ ลงทุนในไทยทำกำไรไปคิดว่าไม่น่าเกิน 5 พันล้านบาท เพราะฉะนั้นประมาณ 25 ปี ถึงได้ 2.25 หมื่นล้านบาท
“ประเด็นนี้ขอยืนยันว่า การที่บริษัท คิงส์เกตฯ กลับมาเจรจา ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลจะไปเอื้อประโยชน์ให้เขา (บริษัท คิงส์เกตฯ) แต่เขาคิดว่าการกลับมาดำเนินกิจการ เขาคิดว่าราคาทองคำเป็นราคาที่ขึ้นมาพอสมควร เขาคิดว่าควรจะกลับมาทำตรงนี้” นายสุริยะ กล่าว
@นายกฯเตือนเอาสิ่งสำคัญในคดีมาพูดกับสื่อเป็นอันตราย เหตุยังอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงประเด็นการถูกอภิปรายประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ โดยตอนหนึ่งพูดถึงกรณีเหมืองทองอัคราด้วยว่า เรื่องเหมืองแร่อัคราฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบ ข้อพิพาทเริ่มต้นที่บริษัทแม่ (บริษัท คิงส์เกตฯ) ในต่างประเทศ ใช้ช่องทางตามกฎหมายระหว่างประเทศในการฟ้องร้องรัฐบาลไทย ในสิ่งที่เห็นว่าบริษัทลูก (บริษัท อัคราฯ) ในประเทศไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2560 รัฐบาลไทยจึงได้ต่อสู้ในสิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน ในเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ตลอดเวลาเป็นการต่อสู้ตามกติกาสากล ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมต่อสู้คดี ต้องมีงบประมาณจ้างทนาย ที่ปรึกษาระหว่างประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่อาจกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาคดี คือการนำเรื่องที่อยู่ในชั้นศาลหรืออนุญาโตตุลาการนำมาพูดภายนอก ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายให้ข่าวกับสื่อหลายครั้ง ผลปรากฏว่าการอภิปรายหรือการให้ข่าวเป็นการคาดการณ์เอาเองทั้งสิ้น เป็นการนำตัวเลขจากข้อมูลที่เป็นข้อเสนอหรือคำให้การของแต่ละฝ่าย เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการและยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นอันตราย จะเห็นว่าเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย รวมทั้งขั้นตอนการเจรจาหารือของคู่พิพาท ทั้งนี้เป็นไปตามอนุญาโตตุลาการแนะนำ เราไม่สามารถชี้นำได้
@ยันไม่ได้ใช้ ม.44 เจาะจงปิดเหมือง แต่เป็นเรื่องต่อสัมปทาน
ส่วนกรณีการใช้มาตรา 44 นั้น นายกรัฐมตรี ยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่ไปปิดเหมือง เป็นเรื่องของการต่อสัมปทาน มีคำสั่งไปถึงทุกเหมืองในประเทศไทยทุกประเภท ในการต่อสัญญาอาชญาบัตร จนกว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากข้อเรียกร้องหรือข้อสงสัยจากประชาชน แม้จะยังไม่มีข้อยุติอย่างชัดเจน แต่มีหลักฐานจากโรงเรียน ครู ว่าได้รับผลกระทบจากสารพิษ จำเป็นต้องตรวจสอบให้ชัดเจน
“เราไม่ได้ปิดเหมืองอัคราฯเพียงเหมืองเดียว แต่เราบอกว่าการต่ออาชญาบัตร ต้องแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว บริษัทไหนแก้ได้ก็เปิดเป็นปกติไป เป็นเรื่องเฉพาะเหมืองแร่อัคราฯ ฉะนั้นเขาจะได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องเจรจาพูดคุย ไม่ใช่เสนอประโยชน์ แต่ต้องมองประโยชน์ชาติ ประโยชน์ประชาชนด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว
@ลั่นจะรับผิดชอบในฐานะนายกฯ-ต้องทำทุกอย่างนำไปสู่ความเรียบร้อย
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กราบเรียนไปแล้วว่ารับผิดชอบในฐานะนายกฯ ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอำนาจด้วยคำสั่งทั้งสิ้น แต่ทำโดยการหารือ ปรึกษาทั้งฝ่ายกฎหมาย ราชการที่เกี่ยวข้อง เราจำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างนำไปสู่ความเรียบร้อยให้ได้โดยเร็ว บางอย่างเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดมาก่อนหน้า ถ้าไม่พูดก็ไม่รู้กัน ทำไมเพิ่งมาแก้ตอนนี้ ก่อนหน้านี้ไม่แก้ให้เรียบร้อยก็ไม่เข้าใจเช่นกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage