‘ก้าวไกล’ยื่นญัตติขอแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ ปรับโทษ ม.112 แยกฐานความผิด ‘พระมหากษัตริย์-พระราชินี-รัชทายาท’ ออกจากกัน ลดโทษจำคุกลงเหลือ 6 เดือน-1 ปี แสดงความเห็นโดยสุจริตไม่ผิด เพิ่มความ ป.อาญา ม.200/1 จนท.รัฐใช้อำนาจฟ้องมิชอบผิดกฎหมาย แก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14-ม.16 ด้วย
..............................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางไปยื่นญัตติร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกรวม 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200/1 และร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ .. พ.ศ. ….
นายพิธา กล่าวตอนหนึ่งว่า ร่างกฎหมายแก้ไขเหล่านี้ ได้อภิปรายถกเถียงกันภายในพรรค มีการหารือ และมีทีมงานร่วมจัดทำร่างกฎหมายชุดนี้ในเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยพรรคก้าวไกล มีจุดยืนและอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนยึดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขหลักการที่สำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ก็คือการทำให้สถาบันเป็นที่เคารพสักการะ ปลอดจากคำติฉินนินทาและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ของสาธารณชน หนทางเดียวที่พวกเราจะทำเช่นนั้นได้ ก็คือการดึงสถาบันให้พ้นออกจากการเมือง
“พวกเราทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันป้องกันมิให้มีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง เข้ามาฉกฉวยโอกาสหยิบยก แอบอิง หรือแอบอ้าง ความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์เพื่อนำมาใช้โจมตีอีกฝ่าย โดยเฉพาะกับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในฟ้องร้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปาก และเพื่อการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม อันเป็นค่านิยมที่สกปรกและล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับค่านิยมสากลในระบอบประชาธิปไตย ที่ต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็น เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นเพียงผู้แทนของประชาชน ที่ทรงอำนาจสูงสุดเท่านั้น” นายพิธา กล่าว
@แยกความผิดหมิ่นพระมหากษัตริย์-พระราชินี-รัชทายาทออกจากกัน
โดยสาระสำคัญสำคัญในร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ การให้ยกเลิกมาตรา 112 (ความผิดเกี่ยวกับหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้แทนพระองค์) มาตรา 133 และมาตรา 134 (ความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมุขรัฐต่างประเทศ) เดิม และเพิ่มความในมาตรา 135/5 ถึง 135/9 ในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
@ลดโทษจำคุกลงเหลือ 6 เดือน-1 ปี แสดงความเห็นโดยสุจริตไม่ผิด
โดยมาตรา 135/5 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 135/6 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6
มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย นาม หรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุสำนักพระราชวังเป็นคู่กรณีหรือคู่ความ”
ทั้งนี้พรรคก้าวไกล ให้เหตุผลในการแก้ไขว่า สมควรแก้ไขเพิ่มเติมเนื่องจากไม่มีความเหมาะสมในแง่ของโครงสร้าง บทบัญญัติ อัตราโทษ ประกอบกับบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีบุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ และประโยชน์สาธารณะ และไม่มีการยกเว้นโทษในกรณีที่ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง
อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปัจจุบัน ปรากฏชัดว่ากฎหมายนี้เปิดช่องให้บุคคลทั่วไปนำไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้อื่นหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นอกจากนี้ บทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดฐานดูหมิ่นยังไม่มีความเหมาะสมในแง่ของอัตราโทษที่กำหนดโทษจำคุกไว้ด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษรุนแรงกว่าสภาพความผิด และโทษจำคุกควรนำไปใช้กับการกระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปัจจุบัน ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี
@เพิ่มความ ม.200/1 จนท.รัฐใช้อำนาจฟ้องมิชอบผิดกฎหมายด้วย
ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200/1 ระบุว่า มาตรา 200/1 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ กระทำการบิดเบือนกฎหมายในระหว่างทำการสอบสวนมีความเห็นทางคดีสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี
พรรคก้าวไกล ให้เหตุผลว่า ประมวลกฎหมายอาญา หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่คลอบคลุมถึงกรณีที่เจ้าพนักงานในการยุติธรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิดหรือกระทำการบิดเบือนกฎหมาย ในระหว่างดำเนินการสอบสวน มีความเห็นทางคดีสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี เพื่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ดังนั้น เพื่อให้คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้รับความคุ้มครองในระหว่างการดำเนินคดี จึงสมควรให้เพิ่มเติมความเป็นมาตรา 200/1 ในประมวลกฎหมายอาญา
@แก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14-ม.16
โดยร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ พรรคก้าวไกล เสนอให้ยกเลิก มาตรา 14 เดิม และแก้เป็น ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกิน หกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำต่อประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
ส่วน มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท
@'ไทยภักดี' ยื่น 1 แสนชื่อค้านแก้ ม.112
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี นำรายชื่อประชาชน 101,568 รายชื่อ ยื่นต่อประธานวุฒิสภา คัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นตัวแทนรับมอบรายชื่อดังกล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวว่า การรวบรวมรายชื่อจากประชาชนหลากหลายอาชีพ เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และยืนยันว่า มาตรา 112 ไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มไทยภักดี ขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านการกระทำใด ๆ ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage