'วิษณุ' ยืนยัน ติดโควิด จงใจปกปิดข้อมูลกับเจ้าหนาที่ ถือว่ามีความผิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ - พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ขณะที่ ผบ.ตร. ย้ำ ตำรวจติดโควิด ปกปิดไทม์ไลน์ ถือว่าผิดวินัยด้วย
...............................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2564 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมีดารานักร้องชายวัย 23 ปี และเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเกี่ยวพันกับกรณีปาร์ตี้วันเกิดของนายเตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม ซึ่งไม่ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลไทม์ไลน์ ว่า การปกปิดข้อมูลถือว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่จะต้องได้ความชัดเจนก่อนว่าจงใจหรือไม่ เพราะถ้าเพียงแค่ลืมจริงๆ ก็ถือว่าไม่มีเจตนาและไม่เป็นความผิด ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับตนเองนั้น ก็ยอมรับว่าคงลืมได้เหมือนกัน เนื่องจากในแต่ละวัน หลายๆ ช่วงเวลานั้นได้พบเจอกับใครบ้าง แต่คงไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดว่าเป็นใคร เนื่องจากอาจไม่รู้จักชื่อ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถให้เจ้าหน้าเรียกมาตรวจได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาที่เจตนาเป็นหลัก
"หากในไทม์ไลน์ที่เจ้าหน้าที่ผู้สอบสวนโรคระบุว่าผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล ก็สามารถระบุได้ แต่จะถือว่าเป็นการกล่าวหาให้กลัวไว้ก่อน ซึ่งจะไปฟ้องร้องโดยระบุว่าไม่ให้ข้อมูลนั้นไม่สามารถทำได้ แต่หากจะไปฟ้องร้องว่าไม่ให้ข้อมูลหรือปกปิด ก็ต้องให้โจทก์พิสูจน์ให้ได้ก่อน ดังนั้นที่สุดแล้วต้องดูที่เจตนาเป็นหลัก อย่างเช่น บางคนไปสถานบันเทิง อาบอบนวด แล้วติดโควิด มาบอกไทม์ไลน์ทั้งหมด แต่ไม่กล้าบอกว่าไปที่สถานนั้นมา ซึ่งการไม่บอกนั้นเพราะอาจจะกลัวภรรยารู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะสืบเจตนาได้ง่าย อีกตัวอย่างหนึ่งคือต้องการทำลายคู่แข่งของสถานบันเทิงนั้น ก็สามารถเอ่ยชื่อร้านคู่แข่งนั้นได้ อย่างนั้นถือก็ว่าผิด เพราะมีเจตนา" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ ระบุอีกว่า การไม่เปิดเผยไทม์ไลน์ต่อเจ้าหน้าที่นั้นทำไม่ได้ ส่วนกรณีที่มีผู้ป่วยบางรายมีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องได้รับโทษด้วยทั้งนั้น ทั้งนี้จะมีความผิดทางวินัยอีกกระทงหนึ่งหรือไม่ ให้เอาไว้เป็นเรื่องในอนาคต เพราะการเอาผิดทางวินัยส่วนใหญ่จะอยู่ในการปฏิบัติหน้าที่ หากไม่ใช่การไปปฏิบัติหน้าที่ก็ถือว่าไม่วินัย
ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการปฏิบัติหากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดเชื้อโควิด แล้วพยายามปกปิดข้อมูลว่า เรื่องนี้มีการกวดขันผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเป็นคนตรวจสอบและรายงาน ถ้าเจ้าหน้าที่ไปทำอะไรที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือแนวนโยบายของรัฐก็จะมีมาตรฐานการพิจารณาเรื่องความผิดอยู่แล้ว แต่หากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามกฎระเบียบ ก็จะต้องดูข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ไป แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็จะได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน
"ขั้นตอนการสอบสวนโรคไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา การเปิดเผยข้อมูลมันก็จำกัดด้วยข้อกฎหมาย เป็นเรื่องข้อมูลของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นการเปิดเผยที่ออกมาสู่สาธารณะ เขาก็จะเปิดเผยเฉพาะสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นคนดำเนินการเปิดเผยข้อมูลอาจให้ข้อมูลหมดก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสมของเจ้าหน้าว่าสมควรเปิดเผยแค่ไหน ก็แค่นั้น แต่หากถามว่าคนที่เป็นตำรวจปกปิดข้อมูล เราก็ต้องดำเนินการในส่วนของเรา หากเขาได้ฝ่าฝืนกฎกติการะเบียบหรือคำสั่งของราชการ ก็ต้องว่ากันไปตามความผิด ซึ่งมันก็ต้องแยกกัน" พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage