กรมอนามัย เผยประชากรเด็ก 44% อยู่ในพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 คาด 27-28 ม.ค. กทม.เจอปัญหาหนัก ขอหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้ง
..............................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส) จัดการแถลง ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพและวิธีป้องกัน ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ใน กทม.ดีขึ้น แต่หลายพื้นที่โดยเฉพาะเขตพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไหม้ บางพื้นที่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีการคาดการณ์ประมาณวันที่ 27-28 ม.ค.นี้ ในพื้นที่ กทม. จะเริ่มมีปัญหาฝุ่นอีกครั้ง ดังนั้นขอให้ประชาชนตรวจสอบสภาพอากาศ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่กลางแจ้ง
ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากกรณีฝุ่น ทั้งใน กทม.และปริมณฑล 28 ราย แบ่งเป็นปอดอุดกั้นเรื้อรัง 14 ราย โรคระบบทางเดินหายใจ 13 ราย หอบหืด 1 ราย โดยกว่า 18 รายเข้ารักษาที่แผนกฉุกเฉิน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว แต่เมื่อจำแนกกลุ่มอาการพบว่า มากที่สุดยังคงเป็นอาการโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก ร้อยละ 17 แสบจมูก ร้อยละ 13.7 และแสบตาคันตา ร้อยละ 9.8
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า เด็กคือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่าทุกปีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตเนื่องจากการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ ทั้งจากมลพิษทางอากาศในบ้านและในบรรยากาศ กว่า 570,000 คน ฝุ่น pm 2.5 กระทบต่อพัฒนาการทางสมองและประสิทธิภาพการทำงานของปอด รวมถึงกระตุ้นการก่อโรคหอบหืด อีกทั้งเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ และมะเร็งในระยะยาว
ในประเทศไทยมีประชากรเด็ก อายุ 0-14 ปี มากกว่า 11.4 ล้านคน โดยมีเด็กร้อยละ 44.1 อยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตราฐาน เมื่อลงรายละเอียดพบว่ายังไม่พบจำนวนเด็กที่ผ่วยหรือเสียชีวิตจากมลพิษอย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาจากฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรคมลพิษทางอากาศของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2563 พบว่า เด็กอายุ 0 -14 ปี ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับฝุ่นละอองกว่า 618,131 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 5.42 เฉลี่ยแต่ละวันจะมีเด็กที่เข้ามารับการรักษา 1,694 รายต่อวัน นอกจากนี้ จากการสำรวจวันที่ 22 - 25 ม.ค. 2563 เด็กมีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการรับฝุ่นละอองหรือกิจกรรมกลางแจ้ง พบร้อยละ 52.9 ที่ดำเนินกิจกรรม 1-3 ชม.ต่อวัน ส่วนการเดินทาง พบร้อยละ 55 มีโอกาสรับฝุ่นขณะเดินทาง โดยร้อยละ 35 เดินทางโดยรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 12 เดินทางโดยรถสาธารณะไม่ปรับอากาศ และร้อยละ 8 เดินเท้า
ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กทำกิจกรรมทางการแจ้งหรือการเดินทางที่มีโอกาสเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง จำเป็นที่ผู้ปกครองจะต้องเข้ามาดูแล โดยการงดหรือเสี่ยงการออกนอกอาคารในวันที่มีค่าฝุ่นสูงปิดประตู หน้าต่าง ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีปนะโยชน์ หากจำเป็นต้องออกข้างนอก ควรสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบพาไปพบแพทย์
ผศ.พญ.หฤทัย กมลาภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ แบ่งระดับความรุนแรงทั้งหมด 5 ระดับ ตามลำดับสี คือ ฟ้า เขียว เหลือง ส้ม และแดง พร้อมแนะให้ดูค่าคุณภาพอากาศโดยรวม (AQI) ซึ่งคำนวณจากค่ามลพิษทั้งหมด 6 ชนิด ซึ่งระดับที่อยู่ในอันตรายสำหรับเด็กสุขภาพดีหรือบุคคลทั่วไป ระดับที่เฝ้าระวังคือเมื่อคุณภาพอากาศเกิน 100 (สีส้ม) แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีโรคประจำตัวคือเมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในช่วง 51-100 (สีเหลือง) ก็ควรจะเฝ้าระวังแล้ว
ผศ.พญ.หฤทัย กล่าวอีกว่า เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กนั้น ยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ จึงไม่สามารถป้องกันฝุ่นได้เท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นฝุ่นที่มีผลกระทบกับเด็กจะอยู่ที่มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนเด็กที่มีปัญหาโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว เช่น โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และโรคหัวใจ คุณภาพอากาศที่จะส่งผลกระทบคือมากกว่า 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ส่วนแนวทางการดูแลป้องกัน ผู้ปกครองควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ไม่สูบบุหรี่ หรือจุดธูปในอาคาร ถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียกลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น การใช้เครื่องปรับอากาศ หรือฟอกอากาศควรเลี่ยงเครื่องมีการผลิตโอโซน เพราะโอโซนปริมาณมากเป็นมลพิษอย่างหนึ่ง
รศ.ดร.พญ. วิภารัตน์ มนุญากร กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน กล่าวแนะนำแอปพลิเคชัน สำหรับดูค่าฝุ่น คือ Air4Thaiซึ่งจัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ พร้อมทั้งกล่าวถึงกรณีตัวเลขค่าคุณภาพอากาศที่ไม่เท่ากับแอปพลิเคชันอื่น เนื่องจาก Air4Thai ใช้มาตราฐานการวัดค่าคุณภาพของไทย ซึ่งบางแอปพลิเคชั่นอื่นอาจจะใช้มาตราฐานการวัดค่าของสหรัฐอเมริกาหรือที่อื่น
รศ.ดร.พญ. วิภารัตน์ เน้นย้ำว่า การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในระยะยาวเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น การเปลี่ยนน้ำมันรถ เปลี่ยนรถขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ และจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม พร้อมระบุว่า มี 3 กิจกรรมที่ก่อฝุ่นละออง คือ 1.การเผาในที่โล่ง 2.ควันรถ และ 3.อุตสาหกรรมและการก่อสร้าง