‘สุพัฒนพงษ์’ ทักท้วงบอร์ด OR จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนขายนักลงทุนสถาบัน 4 ราย ระบุมีความใกล้ชิด-เป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทที่ปรึกษา จัดสรรหุ้นให้กองทุนต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงเกินไป พบกองทุนบางแห่งจัดตั้งบน ‘เกาะเคย์แมน’
...................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีมติอนุมัติจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) OR ให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 28 ราย จำนวนหุ้น 1,714,300,000 หุ้น มูลค่า 30,857.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 65.7% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายทั้งหมด 2,610,000,000 หุ้น
อย่างไรก็ตาม หลังมีการรายงานผลการอนุมัติจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนของ OR ให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน รับทราบ ปรากฏว่านายสุพัฒนพงษ์ ได้มีการทักท้วงอย่างไม่เป็นทางการต่อการจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศไทย โดยเฉพาะกองทุนส่วนบุคคล 4 แห่ง ได้แก่ กองทุนต้นโพธิ์ , กองทุนเดนาลี เพรสทีจ ,BIC BANK LAO และ Capital Asia Investment
เนื่องจากผู้จัดการกองทุนบางรายมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับที่ปรึกษาทางการเงิน เช่น เป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นในครั้งนี้ และบางรายมีสัมพันธ์ในฐานะเป็นพี่ชายของนักการเมืองรายหนึ่ง จึงเกรงว่าอาจจะเกิดปัญหาเช่นเดียวกับการจองซื้อหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ ขณะเดียวกัน นายสุพัฒนพงษ์ ให้ความเห็นว่า ไม่ควรจัดสรรหุ้นให้กองทุนส่วนบุคคล
“รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ ทักท้วงกองทุนส่วนบุคคล 4 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรหุ้นว่า มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับที่ปรึกษาทางการเงิน เช่น ต้นโพธิ์ ,เดนาลี เพรสทีจ ,BIC BANK LAO และ Capital Asia Investment และขอให้บอร์ด OR ทบทวนการจัดสรรหุ้นดังกล่าวอีกครั้ง โดยนายสุพัฒนพงษ์ให้หลักการว่า ไม่ควรจัดสรรให้กองทุนส่วนบุคคล หรือคนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดนักการเมือง เพราะเกรงจะเป็นปัญหาเหมือนการจัดสรรหุ้น ปตท. สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรได้” แหล่งข่าวกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังจากผู้บริหาร OR ได้รับทักท้วงจากนายสุพัฒนพงษ์แล้ว ทางผู้บริหาร OR สั่งให้ที่ปรึกษาทางการเงินฯ จัดทำรายงานเกี่ยวกับกองทุนทั้ง 4 แห่ง มาให้ทาง OR รับทราบ และขอให้ที่ปรึกษาทางการเงินพยายามเจรจายกเลิกการจัดสรรหุ้น OR ดังกล่าวได้หรือไม่ แต่เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย เพราะมีการประกาศในหนังสือชี้ชวนแล้ว ที่ปรึกษาทางการเงินฯจึงไม่สามารถยกเลิกการจัดสรรหุ้นดังกล่าวได้
(สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่มาภาพ : ทำเนียบรัฐบาล)
สำหรับนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศทั้ง 4 แห่ง ที่นายสุพัฒนพงษ์ทักท้วง และที่ปรึกษาทางการเงินฯจัดทำรายงานให้ OR รับทราบ ได้แก่
1.BIC BANK LAO COMPANY LIMITED ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ถือใบอนุญาตที่ออกโดยธนาคารแห่ง สปป.ลาว (Bank of the Lao P.D.R) และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับจัดสรร 31,100,000 หุ้น
2.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เดนาลี เพรสทีจ จำกัด ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคล ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2563 มีสินทรัพย์สุทธิ 1.55 หมื่นล้านบาท ได้รับจัดสรร 29,3000,000 หุ้น
3.บริษัท Capital Asia Investment Pte LTD ซึ่งเป็นบริษัทในสิงคโปร์ที่ถือใบอนุญาตบริษัทจัดการกองทุนภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานด้านการเงินของสิงคโปร์ ได้รับจัดสรร 15,600,000 หุ้น
4.The Ton Pho Fund (ต้นโพธิ์) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนเปิด จัดตั้งในรูปแบบของบริษัทที่ได้รับยกเว้นของหมู่เกาะเคย์แมน ได้รับจัดสรร 15,600,000 หุ้น
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นายสุพัฒนพงษ์ ยังเห็นควรให้ลดสัดส่วนการจัดสรรหุ้นให้กองทุนต่างชาติ เช่น กองทุน GIC Private Limited ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งทำการจองซื้อในต่างประเทศ แล้วนำมาจัดสรรให้กับนักลงทุนไทยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การลดสัดส่วนการจัดสรรหุ้น OR ให้กองทุนต่างชาติ น่าจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะติดขัดในข้อกฎหมายและหนังสือชี้ชวนที่ได้ประกาศไปแล้ว
ทั้งนี้ กองทุน GIC Private Limited ได้รับจัดสรรหุ้น 215,000,0000 หุ้น
สำหรับที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น OR ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ,บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เดนาลี เพรสทีจ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2548 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท มีคณะกรรมการ 5 ราย ได้แก่ น.ส.ศิรดา เทียมประเสริฐ ,นายอยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล ,นางศันสนีย์ สุธีวงศ์ ,นายอโศก วงศ์ชะอุ่ม และนายสหชาติ หิรัญศุภโชติ โดยคณะกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อผูกพัน คือ นายอยุทธ์ ชาญเศรษฐิกุล
ส่วนประวัติการทำงานของนายอยุทธ์ นั้น เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ,หัวหน้าฝ่ายบริหารกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร ,ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร และรองคณบดี ฝ่ายบริหาร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 ม.ค.) OR จะเปิดให้กลุ่มรายย่อย หรือประชาชนทั่วไป เริ่มจองซื้อหุ้นได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ส่วนผู้ถือหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จองซื้อวันที่ 25 ม.ค.2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลที่ OR ต้องจัดสรรหุ้นนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) นั้น เนื่องจากนักลงทุนสถาบันเป็นนักลงทุนระยะยาว อีกทั้งการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) ของ OR ในครั้งนี้ มีมูลค่าสูงมาก
อ่านประกอบ :
'ธีระชัย - รสนา - พิศิษฐ์' : ข้อแนะนำกรณี ปตท. จะขายหุ้น OR
ก.ล.ต.อนุมัติไฟลิ่ง ‘OR’ เสนอขายไอพีโอ 3 พันล้านหุ้น-ปตท.ปันผลระหว่างกาล 0.18 บาท/หุ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/