วงเสวนา เปิดเผยผลวิจัยพฤติกรรมคนสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า-เสพยาฯ เสี่ยงติดโควิดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า เพราะเป็นกิจกรรมในสถานที่ปิด-ขาดสติจนการ์ดตก ทั้งนี้สารเสพติดยังลดภูมิคุ้มกัน ทำให้เมื่อเป็นโควิดจึงมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติ
...................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2564 พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการศูนย์ปัญหายาเสพติด นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับ นายธนกร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และนางนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. เสวนาหัวข้อ 'อบายมุข (เหล้า บุหรี่ พนัน ยาเสพติด) VS โควิด-19 ความเสี่ยงที่เลี่ยงได้' ณ ห้องแมนดารินเอ โรงแรมแมนดาริน โดย พญ.รัศมน กล่าวว่า จากผลการสำรวจความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด เหล้า บุหรี่ ปี 2563 พบว่า ปัจจุบันมีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ 38.9% ผู้ใช้บุหรี่ 22.4% ใช้ใบกระท่อม-กัญชา 2.5% และใช้ยาบ้า 0.4%
"สารเสพติดเหล่านี้นอกจากจะมีผลต่อร่างกายโดยรวม เช่น บุหรี่ที่มีสารก่อมะเร็งกว่า 10 ชนิด ทำให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งปอด ยิ่งหากได้รับเชื้อโควิด จะยิ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจให้รุนแรงขึ้น นอกจากนั้นสำหรับคนที่ติดสารกลุ่มโอปิออยด์ เช่น เฮโรอีน ซึ่งมีฤทธิ์กดประสาท หากพบผู้ป่วยโควิดและใช้ในปริมาณสูง จะยิ่งเสี่ยงต่อการหยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ส่วนคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายตับ เมื่อดื่มไปนานๆตับจะแข็งและจะเป็นมะเร็งตับในที่สุด ยิ่งหากเป็นวัณโรคปอดหรือโควิด ก็จะยิ่งมีอาการรุนแรงมาก" พญ.รัศมน ระบุ
พญ.รัศมน กล่าวด้วยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า คนที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพคิด จะสามารถแพร่กระจายเชื้อโควิดได้รวดเร็ว เนื่องจากในการเสพยาจะต้องใช้สถานที่ปิด ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงสุขอนามัย-ความสะอาด ประกอบกับเมื่อเกิดอาการมึนเมา จึงไม่มีสติ ขาดความไม่ระมัดระวังตัวและความยับยั้งชั่งใจ ทำให้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องและนาน อันเป็นสาเหตุเสี่ยงสำคัญของการระบาด
โดยมีผลงานวิจัยระบุถึงความเสี่ยงการใช้สารเสพติดต่อการติดเชื้อโควิดว่า ผู้ที่เสพสารเสพติด กลุ่มโอปิออยด์ เช่น เฮโรอีน จะพบว่ามีความเสี่ยงในการติดเขื้อมากกว่าผู้ไม่เสพถึง 10.2 เท่า ขณะที่สารใดๆอยู่ที่ 8.7 บุหรี่ 8.2 แอลกอฮอล์ 7.8 โคเคน 6.5 กัญชา 5.3
นายธนกร กล่าวอีกว่า ส่วนการพนันที่ถือเป็นคลื่นใต้น้ำอยู่ในสังคม คนไทยจำนวนหนึ่งเป็นนักพนันเล่นตามบ่อนต่าง ๆ เช่น บ่อนบ้าน บ่อนงานศพ บ่อนในเมือง หรือบ่อนชายแดน โดยบ่อนเป็นพื้นที่การ์ดต่ำ ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากอนามัย และมีการสัมผัสวัตถุร่วมกัน รวมถึงมักมีพฤติดรรมท่องเที่ยวไปตามพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น ผับบาร์ โรงนวด ซึ่งเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท ทำให้เราได้พบเห็นไทม์ไลน์ของนักพนันบางคนเดินทางพาตัวเองไปกับเชื้อโควิดไกลหลายร้อยกิโลเมตร
"ภาครัฐต้องคุมพื้นที่เสี่ยงให้อยู่ ขณะเดียวกันต้องมีการทำงานร่วมกันในการปราบปรามร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขด้วย โดยในกระบวนการสอบสวนโรคควรมีการเก็บข้อมูลด้วยว่าเพราะเหตุใดในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงทุกด้านขณะนี้ จึงมีคนกล้าเสี่ยงไปเล่นพนัน ซึ่งอาจจะทำให้สังคมเข้าใจกลุ่มผู้เล่นพนันมากขึ้น และทำงานกับพวกเขาได้ตรงโจทย์" นายธนกร กล่าว
ขณะที่ นางนัยนา กล่าวว่า สมัยก่อนตนเองเคยดื่มเหล้าและคลุกคลีอยู่ในบ่อนการพนัน จึงทราบดีว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีคนจำนวนมากเข้ามาเล่นและต่างเบียดเสียดกันในห้องปิด มีการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ร่วมกัน รวมถึงอาหารที่มาเสิร์ฟก็ไม่สามารถมั่นใจว่ามีการล้างแก้ว-จานได้อย่างถูกสุขลักษณะ ในปัจจุบันเมื่อมีสถานการณ์การระบาดของโควิดเข้ามา หากนักพนันยังไปมั่วสุม จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากๆ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือให้นักพนัน นักดื่ม และนักสูบช่วยกันหยุดกิจกรรมดังกล่าว ให้อยู่บ้านพักผ่อนดูแลตัวเอง ไม่ออกไปรวมกลุ่มซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ และควรคำนึงถึงคนในครอบครัวและสังคมให้มาก
"ต่อให้คนในวงนั้นเราสนิทแค่ไหน เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเขาไปพื้นที่เสี่ยงมาหรือไม่ เขาไปสัมผัสคนติดเชื้อมาไหม หรือเขาอาจจะติดแต่ไม่แสดงอาการ ดังนั้นวิธีคิดที่ดีที่สุดคือ ให้คิดว่ามีคนติดเชื้ออยู่ใกล้ตัวเรา ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงทั้งวงเหล้า พนัน ยาเสพติด" นางนัยนา กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage