ป.ป.ช.แพร่ผลงานวิจัยเชิงวิชาการ เรื่องทุจริตการเลือกตั้งในการเมืองไทย โชว์ 4 ข้อเสนอแนะแก้ไข กกต.ควรเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายจริงจัง-ออกแบบระบบให้ยากต่อการโกง-ปลูกฝังประชาชนให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง – ย้ำ 5 จุดยืนแก้ปัญหาทุจริตเชิงนโยบายด้วย ใช้กลไกรัฐสภารับฟัง-แก้ไข
......................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลงานการวิจัย โดยสำนักงานวิจัยและบริการวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจ กรณีการทุจริตการเลือกตั้งในการเมืองไทย และกรณีการทุจริตเชิงนโยบาย ดังนี้
1.การทุจริตการเลือกตั้งในการเมืองไทย โดยนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการเลือกตั้งมาแล้วอย่างน้อย 28 ครั้ง วนเวียนกับการรัฐประหาร อย่างไรก็ดีในส่วนของความโปร่งใสในการเลือกตั้ง พบว่ายังมีผู้สมัครรับเลือกตั้งบางส่วนกระทำการทุจริตเลือกตั้งในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เช่น การใช้หัวคะแนน การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การใช้บัตรผี การให้สิ่งตอบแทนภายหลังจากการได้รับเลือกตั้งแล้ว การสร้างกระแสหรือสร้างเอกสารเท็จโจมตีฝ่ายตรงข้าม เป็นต้น โดยแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตเลือกตั้งสรุปได้ดังนี้
(1) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ควรมีการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังกับผู้ที่กระทำการทุจริตเลือกตั้ง และเร่งดำเนินการสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งในการเลือกตั้งโดยเร็ว รวมถึงควรมีการประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าและผลการดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร รับเลือกตั้ง หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบถึงผลการดำเนินการและมีความไว้วางใจ ที่จะมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตเลือกตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ
(2) การกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง ควรมีการคัดเลือกผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งมากเพียงพอ เนื่องจากจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่และวินิจฉัยคดีเป็นไปตามหลักกฎหมายและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย
(3) ควรออกแบบระบบเลือกตั้งที่ทำให้ยากต่อการทุจริตและเอื้อให้เกิดการแข่งขันด้วยนโยบายของพรรคการเมือง รวมถึงควรพิจารณาศึกษาระบบเลือกตั้ง ดังเช่นระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศออสเตรเลีย เรียกว่า ระบบจัดลำดับความชอบ (Alternative Vote/Preferential Voting) มาประยุกต์ใช้เป็นระบบเลือกตั้งของประเทศไทย ซึ่งในเบื้องต้นประเทศไทยสามารถศึกษาและประยุกต์ใช้ระบบเลือกตั้งดังกล่าวในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนสามารถเริ่มทำความเข้าใจและคุ้นชินกับระบบเลือกตั้ง และนำมาใช้ในการเลือกตั้งระบบระดับชาติได้เพื่อเป็นการลดปัญหาการทุจริตเลือกตั้งในระยะยาว
(4) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนต่าง ๆ ควรปลูกฝังเด็กและเยาวชนมีความตระหนัก ถึงความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในเบื้องต้นควรให้ความรู้ผ่านระบบการศึกษาด้วยการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในระดับโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย โดยมีเนื้อหาสาระที่ ครอบคลุมทั้งด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและคุณลักษณะของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงควรมีการประยุกต์ใช้เป็นแบบจำลองสถานการณ์เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และควรมีพื้นที่ให้กลุ่มเยาวชนได้แสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์
2.กรณีการทุจริตเชิงนโยบาย พบว่า กระบวนการนโยบายสาธารณะ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ การก่อตัวของนโยบาย การกำหนดนโยบาย การตัดสินใจนโยบาย การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และการประเมินนโยบาย ซึ่งการทุจริตเชิงนโยบายสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกกระบวนการนโยบายสาธารณะ ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนากลไกการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายของประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
การก่อตัวของนโยบาย รัฐสภาควรรับฟังความเห็นของประชาชนในการจัดทำโครงการของรัฐ โดยให้สำนักงบประมาณของรัฐสภาทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลต่อรัฐสภาในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณและการควบคุมตรวจสอบงบประมาณ รวมถึงภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลการจัดทำโครงการที่ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ
การกำหนดนโยบาย ควรกำหนดให้การแถลงนโยบายต่อรัฐสภามีการลงมติในรายประเด็น เพื่อใช้กลไกทางรัฐสภาในการตรวจสอบการกำหนดนโยบายของฝ่ายบริหาร และกำหนดให้สำนักงบประมาณของรัฐสภาทำหน้าที่ในการวิเคราะห์นโยบาย
การตัดสินใจนโยบาย รัฐสภาควรรับฟังความเห็นของประชาชนในการจัดทำโครงการของรัฐ โดยให้สำนักงบประมาณทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลต่อรัฐสภาในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณและการควบคุมตรวจสอบงบประมาณ โดยมีภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลจัดทำโครงการที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ
การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ควรกำหนดให้มีการใช้กลไกทางรัฐสภาในการถ่วงดุลอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบาย รวมถึงองค์กรตรวจสอบควรทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนเมื่อพบโอกาสในการนำนโยบายไปก่อให้เกิดการทุจริต และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ภาคประชาสังคมควรมีบทบาทในการสอดส่อง ตรวจสอบ และนำเสนอต่อสาธารณะถึงการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตเขิงนโยบาย
การประเมินนโยบาย ควรใช้กลไกรัฐสภาในการติดตามและประเมินผลการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ และฝ้ายบริหารควรตัดให้มีการประเมินการนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นช่วงเวลา โดยอาจกำหนดให้มีการประเมินระหว่างดำเนินการเป็นรายไตรมาสหรือต่อตามความก้าวหน้าเป็นระยะเพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที รวมถึงควรให้สำนักงบประมาณนำผลการประเมินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานในปีงบประมาณต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/