กสทช. - อย. จับมือกวาดล้างโฆษณาถั่งเช่า อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ย้ำสื่อฝ่าฝืนคำสั่งระงับออกอากาศ โทษปรับสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท-ลดอายุใบอนุญาตฯด้วย
.......................................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดการแถลงข่าวเรื่อง การกำกับดูแลการโฆษณาเกินจริงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่า ณ อาคารหอประชุม สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ
โดย พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. เปิดเผยว่า กสทช. ร่วมมือกับ อย. ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มาตั้งแต่กลางปี 2561 โดยแบ่งการทำงานคือ กสทช. เป็นผู้ตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณา และ ทาง อย. เป็นผู้วินิจฉัยข้อความการโฆษณา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและมีการขยายผลการดำเนินการไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในการตรวจสอบ ปรากฎผลการดำเนินการจนถึงปัจจุบัน คือ ตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิทัลได้ 17 ราย 77 โฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย 190 โฆษณา และ วิทยุ 2,150 ราย 4,058 โฆษณา แต่ในส่วนของการโฆษณาทางสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ ทางกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ อย. เป็นผู้รับผิดชอบ
พล.ท.ดร.พีระพงษ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินการจับกุมและยกเลิกโฆษณาดังกล่าวไปแล้ว เช่น กรณีโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าโดยมีอาจารย์สอนภาษาจีนชื่อดังเป็นพรีเซ็นเตอร์ มีการโฆษณานำบุคคลมานั่งรถเข็น อ้างว่าป่วย ก่อนที่ทานอาหารเสริม จากคนเป็นอัมพาตก็ลุกขึ้นยืนได้ ทำให้มีการปรับปรุงโฆษณาเวอร์ชั่นใหม่ที่ถูกกฎหมาย ไม่เคยอ้างว่ารักษาโรคได้อีกเลย ก็ต้องชื่นชมยินดี หรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเห็ดหลินจือที่มีนักแสดง-พิธีกรสาวสองพันปีเป็นพรีเซนเตอร์ ที่กล่าวอ้างว่าผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์นี้แล้วอาการดีขึ้น ถึงขนาดที่สามารถปีนต้นไม้ได้ ซึ่งเป็นการจัดฉากโฆษณาที่ลวงโลกเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคนั้น โดนจับ ปราบ ดำเนินการส่งดำเนินคดีให้เข็ดหลาบ และยกเลิกกการโฆษณาดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและได้ดำเนินการไปแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
"ตอนนี้โฆษณาที่เอาเปรียบสังคมได้กลับมาใหม่ ทำเหมือนเดิม เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โฆษณานี้มีพรีเซ็นเตอร์เป็นบุคคลในแวดวงบันเทิง ก็มาทำลักษณะเดียวกัน ซึ่งไม่รู้ไปนอนที่ไหนมา 2 ปีเขาเลิกกันไปหมดแล้ว แต่นี่กลับมาอีก เอาคนป่วยอัมพาต นอนติดเตียงทำอะไรไม่ได้ พอกินถั่งเช่าวิเศษอ้างว่าลุกขึ้นเดินได้ พ.ศ.นี้ควรจะเลิกกันได้แล้ว เราก็ตรวจจับอีก พอตรวจจับรอบสองก็เอาจริงแล้ว ก็จะได้คนกระทำผิดมา เป็นทีวีดาวเทียม ปรับไป 5 แสนบาท และมีทีวีดาวเทียมอีก 2 ช่องจะถูกปรับด้วย เพราะ อย.วินิจฉัยแล้วว่าโฆษณานี้ลวงโลก" พล.ท.ดร.พีระพงษ์ กล่าว
กรรมการ กสทช. กล่าวอีกว่า หากมีกรณีที่ผู้ประกอบกิจการบางรายขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้ และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนร่วม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติติตามคำสั่ง กสทช.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานี โดยค่าปรับของทาง กสทช. กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด ไม่เกิน 5 ล้านบาท และนอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติโฆษณาผิดกฎหมาย จะถูกบันทึกไว้ และลดอายุใบอนุญาตลง เช่นกรณี สถานีวิทยุจะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน เนื่องจากกฎหมายของ กสทช. มีอำอาจดูแลครอบคลุมเพียงผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น จึงส่งเรื่องไปทาง อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ รวมทั้งพิจารณาเกี่ยวกับการถอนทะเบียนตำหรับอาหารอีกด้วย
ด้าน เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติเท่านั้น กรณีการโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรคนั้น จึงเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตและโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ
ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย. ดำเนินคดีโฆษณาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่นๆ ทางสื่อต่างๆ จำนวน 1,388 คดี ทั้งนี้ อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิด และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณา ส่วนทาง กสทช. จะดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศ โดยตั้งแต่ปี 2561 – 2563 อย.ได้วินิจฉัยและนำส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง เป็นผลิตภัณฑ์ถั่งเช่า 58 เรื่อง
รองเลขาธิการ อย. เน้นย้ำว่า การโฆษณาดังกล่าวมักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ โดยการนำเสนอภาพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ พร้อมเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว จะเสียสุขภาพอีกด้วย และหากพบโฆษณาชวนเชื่อหรือเกินจริง ให้แจ้งมาทาง กสทช. หรือ อย. ทันที