ปธน.อินโดนีเซียเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก เล็งฉีดฟรี ปชช. 181.5 ล้านคน หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่-หลังก่อนหน้านี้ 'นักวิจัยบราซิล' เผยวัคซีนมีประสิทธิภาพแค่ร้อยละ 50.4
.......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ระบุว่านายโจโค วิโดโด้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กลายเป็นคนแรกของประเทศอินโดนีเซียที่เข้ารับการฉีดวัคซีนจากประเทศจีนในช่วงเช้าวันที่ 13 ม.ค.ในขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพของอินโดนีเซียกำลังเริ่มแคมเปญการฉีดวัคซีนให้กับหนึ่งในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
โดย ณ เวลานี้ ประเทศอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นอย่างยิ่ง โดยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนี่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จึงเป็นเหตุทำให้ทางการอินโดนีเซียได้มีการอนุมัติฉุกเฉินให้มีการใช้งานวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคของประเทศจีน
ซึ่งกระบวนการแจกจ่ายวัคซีนนั้นที่จะมีขึ้นจะเป็นการฉีดวัคซีนโดยเน้นไปที่บุคลากรด้านสาธารณสุข ข้าราชการ และกลุ่มประชาชนผู้มีความเสี่ยง โดยจะเป็นการฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชนชาวอินโดนีเซียทุกคน
ทั้งนี้การที่จะสามารถเข้าถึงภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น รัฐบาลอินโดนีเซียได้มีการประมาณการไว้ว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนกว่า 181.5 ล้านคน หรือราว 67 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งภารกิจการฉีดวัคซีนที่ว่านี้นั้นถือว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับการต้องนำวัคซีนไปเข้าถึงยังพื้นที่ที่ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ได้รับการพัฒนา
สำหรับการฉีดวัคซีนนั้นจะต้องมีการฉีดเป็นจำนวน 2 โด๊ส และต้องมีการเก็บรักษาวัคซีนเอาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยนับตั้งแต่ที่วัคซีนได้มาถึงยังประเทศอินโดนีเซีย วัคซีนก็อารักขาอย่างแน่นหน้าด้วยกองกำลังติดอาวุธ
"เรารู้ดีว่าโครงข่ายการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งจะต้องมีการควบคุมอุณหภูมินั้นยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ นี่คืออุปสรรค"นาย Budi Gunadi Sadikin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งอินโดนีเซียกล่าว
อนึ่งก่อนหน้าที่จะมีการฉีดวัคซีนในประเทศอินโดนีเซีย มีรายงานจากนักวิจัยในประเทศบราซิลได้ออกมาเปิดเผยถึงประสิทธิภาพของวัคซีน โควัคซิน ของบริษัทซิโนแวค ว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคโควิด-19 เพียงแค่ร้อยละ 50.4 เท่านั้น
ซึ่งตัวเลขล่าสุดนี้ถือเป็นประสิทธิภาพที่มากกว่าเกณฑ์การอนุมัติการใช้วัคซีนในประเทศบราซิลเพียงนิดเดียว และถือว่าต่ำกว่าที่ประเทศบราซิลเคยประกาศไว้ว่าวัคซีนจากบริษัท ซีโนแวค มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ในการทดลองในพื้นที่อื่นๆ อย่างเช่น ในเดือนที่แล้วที่ตุรกีประกาศวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการต้านโควิดที่ร้อยละ 91.25 ส่วนที่อินโดนีเซียพบว่าวัคซีนโควัคซินมีประสิทธิภาพที่ร้อยละ 65 โดยการบราซิลระบุว่าที่ตัวเลขออกไปเนื่องจาก ทางการบราซิลมุ่งเน้นไปที่เจ้าหน้าที่แพทย์แถวหน้า และ กลุ่มคนชรา
อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้สำนักข่าวท้องถิ่นได้อ้างอิงถึงรายงานสองฉบับที่ระบุว่าวัคซีน โควัคซิน มีประสิทธิภาพต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับรายงานดังกล่าว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/