ปัตตานีอ่วมมวลน้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมกลางเมือง ถนนหน้ามัสยิดกลางและย่านเศรษฐกิจน้ำท่วมสูง จ.ยะลาระดับน้ำลดลงในบางพื้นที่ หน่วยงานรัฐ - เอกชน ยังเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ด้าน ปภ.กลาง สรุปอุทกภัยชายแดนใต้ เดือดร้อน 58,497 ครัวเรือน เสียชีวิต 3 ราย
วันที่ 10 ม.ค.64 สถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นผลพวงของการปล่อยระบายน้ำจากเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ทำให้บ้านเรือนประชาชนริมแม่น้ำปัตตานีและพื้นที่ราบลุ่มต่ำต่างถูกน้ำท่วมกันอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะ ต.ปะกาฮะรัง ที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากถึง ต.ตะลุโบะ ที่มีพื้นที่ติดกัน และชุมชนจะบังติกอ ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำปัตตานี น้ำเอ่อเข้าท่วมตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.64 ระดับน้ำความสูงขึ้นเรื่อยๆและกระจายวงกว้างไปทั่วเขตตัวเมืองชั้นใน
ทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและห้างร้านต่างๆ ในย่านตลาดโต้รุ่งถนนพิพิธ สี่แยกถนนพิพิธตัดถนนอุดมวิถี ถนนสุวรรณมงคลตลาดเปิดท้าย ถนนยะรังหน้ามัสยิดกลางปัตตานี ถนนสายบุรีหน้าศาลหลักเมือง ถนนปรีดาก่อนขึ้นสะพานศักดิ์เสนีย์ ถนนฤาดีหน้าหอประวัติชูเกียรติปิติเจริญกิจ และถนนย่านเมืองเก่าหลายสาย รวมทั้งถนนหนองจิก ซึ่งเป็นถนนสายเข้าตัวเมืองปัตตานี ที่มีห้างสรรพสินค้าและโรงแรม
ขณะที่เทศบาลเมืองปัตตานีประกาศปิดถนนบางสายในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีที่มีน้ำท่วมสูง ทำให้ต้องปิดการจราจรชั่วคราวคือ 1. ถนนพิพิธ 2.ถนนปรีดา โดยขอให้ผู้สัญจรหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าวและใช้เส้นทางอื่นแทน หากเปิดใช้เส้นทางได้ทางเทศบาลจะประกาศให้ทราบต่อไป พร้อมประกาศหากต้องการความช่วยเหลือในการขนย้ายสิ่งของสามารถแจ้งได้ที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทรศัพท์ 073-349034 ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ยังมีฝนตกต่อเนื่องทั้งวัน ทำให้ปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งจากแม่น้ำปัตตานี รวมทั้งน้ำทะเลหนุน ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องเตรียมพร้อมขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง เพื่อรับสถาการณ์น้ำท่วมที่จะเพิ่มขึ้น
ส่วนบริเวณถนนสาย 418 ช่วงบ้านมะพร้าวต้นเดียว มีน้ำท่วมบนถนนสูง 30-50 ซม. เป็นระยะทางยาวกว่า 400 เมตร รถเล็กต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้เส้นทาง ส่วนที่บริเวณ ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ได้เกิดเหตุน้ำทะเลซัดเข้าพื้นที่ชุมชนตะโละกาโปร์ ทำให้บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายหลายหลัง
จากสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเมืองปัตตานี ทำให้โรงเรียนเบญจมราชูทิศ , โรงเรียนเดชะปัตนยานุกูล , โรงเรียนเจริญศรีศึกษา , โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ,โรงเรียนเทศบาล 2 วัดนรสโมสร , โรงเรียนสะบารัง ,วิทยาลัยประมงปัตตานี ,วิทยาลัยเทคนิคปัตตานี และวิทยาลัยอาชีวะปัตตานี ได้ประกาศปิดเรียนเป็นการชั่วคราว
@@เขื่อนบางลางลดปล่อยน้ำ - ยะลาน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย
หลังจากที่เขื่อนบางลางได้ทำการเปิดสปิลเวย์ระบายปริมาณน้ำส่วนเกินออกจากเขื่อนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงของตัวเขื่อน ล่าสุดวันนี้ ( 10 ม.ค.64) ทางเขื่อนบางลางได้ปรับลดบานประตูระบายน้ำล้นสปิลเวย์ลงมาเหลือระดับ 1.00 เมตร ที่ระดับน้ำ 114.77 ม.รทก.
ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ยะลา หลังจากที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรี ระดับน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงฝนได้หยุดตก ทำให้หลายพื้นที่เคยน้ำท่วมก่อนหน้านี้ อย่างในพื้นที่บ้านท่าสาป อ.เมืองยะลา ระดับน้ำเริ่มลดลงเรื่อย ถนนหลายสายรถเล็กเริ่มสัญจรได้ตามปกติ
@@รัฐ-เอกชน จ.ยะลา ยังเดินหน้าช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ ยังคงมีระดับน้ำที่ยังท่วมสูงอยู่ และมีชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือ ทำให้ทางด้านนางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้เดินทางลงพื้นที่ พร้อม กับกำลังพลของหน่วยทหารพัฒนา นพค.42 ร่วมสนับสนุนอาหารแห้ง ,น้ำดื่มจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา มอบให้ประชาชนในพื้นที่บ้านบาโงยจีจา บ้านย่อยบ้านทุ้งเรียง ม.2 ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมเส้นทางสัญจรเข้า-ออกหมู่บ้าน จนไม่สามารถเดินทางออกมาซื้อข้าวของและอาหารได้
ทั้งยังมีทางกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ซึ่งเป็นตัวแทน นพ.ชัยวัฒน์ เตชะไพทูรย์และครอบครัว เนชั่นทีวีและสำนักข่าวอิศรา ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน นำข้าวกล่องและ ขนมจีน จำนวน 1,000 กล่อง น้ำดื่มจำนวน 1,000 ขวด ของขวัญวันเด็ก 300 ชิ้น รองเท้านักเรียน 50 คู่ ไปแจกจ่ายให้เด็กและชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
@@ปภ.กลาง สรุปอุทกภัยชายแดนใต้ เดือดร้อน 58,497 ครัวเรือน เสียชีวิต 3 ราย
วันที่ 10 ม.ค.64 ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย โดยตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.64 - 10 ม.ค.64 (เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันน้ำไหลหลากและดินสไลด์ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา นราธิวาสและปัตตานี รวมทั้งหมด 32 อำเภอ 185 ตำบล 996 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 58,497 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย (ยะลา 2 ราย สงขลา 1 ราย) บาดเจ็บ 2 ราย (สงขลา) แยกเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 4 จังหวัด รวม 29 อำเภอ 145 ตำบล 697 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 58,497 ครัวเรือน จุดอพยพ 14 จุด ผู้อพยพ 907 คน (นราธิวาส 4 จุด ยะลา 7 จุด สงขลา 3 จุด) ดังนี้
จ.นราธิวาส น้ำไหลหลากในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสาคร อ.บาเจาะ อ.ระแงะ อ.สุไงปาดี อ.รือเสาะ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.เจาะไอร้อง อ.จะแนะ อ.สุไหงโก-ลก อ.เมืองนราธิวาส อ.ยี่งอและอ.ตากใบ รวมทั้งหมด 70 ตำบล 448 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 25,211 ครัวเรือน
จ.ยะลา น้ำไหลหลากในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองยะลา อ.รามัน อ.เบตง อ.บันนังสตาและ อ.กรงปีนัง รวมทั้งหมด 21 ตำบล 60 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 15,229 ครัวเรือน
จ.ปัตตานี น้ำไหลหลากในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองปัตตานี อ.แม่ลาน อ.สายบุรี อ.หนองจิก อ.กะพ้อ อ.ยะรัง อ.ไม้แก่นและ อ.ทุ่งยางแดง รวม 35 ตำบล 131 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 10,508 ครัวเรือน
จ.สงขลา น้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี และอ.เทพา รวม 19 ตำบล 58 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 7,549 ครัวเรือน
ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส รวม 3 อำเภอ 7 ตำบล 22 หมู่บ้าน ไม่มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ซึ่งสถานการณ์คลี่คลายแล้ว