สาธารณสุขวางแผนใช้วัคซีนสู้โควิดไตรมาสแรกปี 64 เริ่มฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ - กลุ่มเสี่ยง 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด
...................................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีนโควิดที่จะใช้แจกจ่ายภายในประเทศ ว่า ในสถานการณ์การระบาดของโลก วัคซีนเป็นเครื่องมือที่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาด อาจไม่สามารถกำจัดโรคนี้ไปได้หมด แต่จะทำให้การระบาดลดลง ทั้งนี้หลักการฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนสังคม ประเทศ หรือชุมชนใดก็ตามมีภูมิคุ้มกันขึ้นมา ทั้งนี้การมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระดับหนึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อออกไป ซึ่งมันจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดไป เพียงแต่อาจจะพบผู้ป่วยบ้างประปราย ดังนั้นหากใครไม่มีวัคซีน ไม่ได้แปลว่าไม่มีภูมิคุ้มป้องกันโรค กรมควบคุมโรคจึงแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนครอบคลุมในระดับหนึ่งที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ก่อน
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า การนำวัคซีนมาใช้ได้ จะต้องผ่านการทดลองในหนูและลิงว่าภูมิคุ้มกันและมีความปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ไหม ในระยะที่ 1 และ 2 ก่อนจะนำมาทดลองกับมนุษย์ในระยะที่ 3
โดยการทดสอบวัคซีนโควิดกลุ่มที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดและมีผลการทดสอบวัคซีนในระยะที่ 3 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รายงานว่าประกอบด้วย บริษัทไบโอเทค, บริษัทโมเดอร์นา, สถาบันกามาเลยา, บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า, บริษัทซีโน่ฟาร์ม และบริษัทซีโน่แวก ได้รับผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนเบื้องต้น 62-95 % มีตารางการให้วัคซีน 2 โด๊ส ฉีดห่างกันในระยะเวลา 14-28 วัน ตามวัคซีนแต่ละประเภท โดยพบผลข้างเคียง ในวัคซีนของบริษัทไบโอเทคว่า จะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศีรษะ และมีรายงานการแพ้วัคซีนจากการใช้ในวงกว้าง 11 ราย ต่อ 1 ล้านคน ส่วนบริษัทโมเดอร์นา พบอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า พบปวดบริเวณที่ฉีดชั่วคราว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เป็นไข้ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ส่วนวัคซีนจากสถาบันหรือบริษัทอื่นๆ ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการวางแผนแจกจ่ายวัคซีนในประเทศไทย ว่า ช่วงไตรมาสแรกปี 2564 วัคซีนจะมีในจำนวนจำกัด ดังนั้นเพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตให้น้อยลงมากที่สุด จึงจะแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดในสมอง, โรคมะเร็งทุกชนิด และโรคเบาหวาน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยในช่วงเดือน ก.พ.2564 จะแจกจ่ายวัคซีน 200,000 โด๊ส แบ่งให้บุคลาการทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า อาสามัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 20,000 คน และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 180,000 คน
เดือน มี.ค.2564 จะแจกจ่ายวัคซีย 800,000 โด๊ส แบ่งให้กลุ่มแรกข้างต้น (ที่ได้รับเข็มแรกเมื่อเดือน ก.พ. 2564) เพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 200,000 คน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า และ อสม.60,000 คน และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 540,000
เดือน เม.ย.2564 จะแจกจ่ายวัคซีย 1 ล้านโด๊ส แบ่งให้กลุ่มสองข้างต้น (ที่ได้รับเข็มแรกเมื่อเดือน มี.ค.2564) เพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่สอง 600,000 คน และสำรองไว้เผื่อสำหรับกรณีที่ระบาด 400,000 คน
นอกจากนั้น นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้เตรียมความพร้อมรับมือจากอาการไม่พึงประสงค์ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากระยะเวลาอันจำกัดในการทดสอบวัคซีนในสถานการณ์การระบาดของโควิด โดยได้ร่วมมือกับ อย. และสถานพยาบาล ติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนทุกคนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ประชาชนสามารถมั่นใจถึงความปลอดภัยได้
ทั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคอยากให้ประชาชนได้รับวัคซีนเร็วที่สุด จึงได้เจราจากับบริษัทซีโน่แวกจากจีน ซึ่งจะส่งมาให้ไทยเร็วที่สุด 2 ล้านโด๊ส อย่างไรก็ดีคาดว่าจะได้รับวัคซีนก่อน และจะได้รับจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 26 ล้านโด๊ส และ 35 ล้านโด๊ส ทั้งนี้วัคซีนที่นำมาใช้ในประเทศจะต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทยก่อน ดังนั้นองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้นำวัคซีนเข้ามาและกรมควบคุมโรคจะเป็นหน่วยงานจัดซื้อและกระจายไปสู่ประชาชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage