'อินโดนีเซีย'เคาะ 13 ม.ค.เริ่มฉีดวัคซีน ปธน.เข้ารับวัคซีนเข็มแรก เผยตอนนี้จัดหาวัคซีนจากบ.ซีโน่แวก ประเทศจีนแล้ว 7.6 แสนโด๊ส ขณะ WHO เผย อินโดนีเซียพิจารณาวัคซีนเร็วไป ทำ ปชช.ส่วนหนึ่งไม่เชื่อมั่น ชี้ อย.อินโดนีเซียไม่เคยระบุผลศึกษาวัคซีนขั้นสุดท้าย
....................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสทั่วโลกว่า ประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศว่าจะเริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ในวันที่ 13 ม.ค. โดยจะมีนายโจโค วิโดโด้ ประธานาธิบดี จะเป็นผู้แรกที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซึ่งผลิตจากบริษัทซีโนแวก ไบโอเท็คของประเทศจีน
โดยนายบูดี้ กูนาดี้ (Budi Gunadi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่าโปรแกรมการฉีดวัคซีนทั่วประเทศนั้นจะเริ่มต้นที่กรุงจาร์กาต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และโครงการฉีดวัคซีนในพื้นที่อื่นๆของประเทศจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 14 และ 15 ม.ค.
ทั้งนี้ประเทศอินโดนีเซียถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก และมีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แต่ ณ เวลานี้ก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเลวร้ายที่สุดในอาเซียนเช่นกัน เพราะ ณ เวลานี้หน่วยงานด้านสุขภาพของอินโดนีเซียได้รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อซึ่งพุ่งขึ้นถึงวันละ 7,445 ราย และมีผู้เสียชีวิตใหม่สูงถึง 198 ราย ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อของประเทศอยู่ที่ 779,548 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 23,109 ราย
โดยก่อนหน้านี้นั้นรัฐบาลได้เคยประกาศไปแล้วว่า จะมีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 1.3 ล้านคนเป็นกลุ่มแรก ด้วยวัคซีนจากซีโน่แวกซึ่งชื่อว่าโคโรน่าแวก (CoronaVac)
ซึ่งขณะนี้นั้นอินโดนีเซียได้มีการเซ็นสัญญาจัดหาวัคซีนไปแล้วจำนวน 125.5 ล้านโด๊ส และได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 3 ล้านโด๊ส โดยนายบูดี้กล่าวว่าหลังจากที่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนแล้ว ผู้ที่จะได้รับวัคซีนในลำดับถัดมาควรเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน
อนึ่ง เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ออกรายงานระบุผลสำรวจว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซียได้พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้กระบวนการการพิจารณาวัคซีนนั้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้ 27 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มประชาชนซึ่งถูกสำรวจในประเทศอินโดนีเซียรู้สึกถึงความไม่สบายใจที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน
โดยเหตุผลที่จะไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นมีด้วยกันหลายประการนับตั้งแต่ความกลัวในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ไปจนถึงความเชื่อในศาสนา และความเชื่อถึงความเป็นไปได้ว่าวัคซีนนั้นอาจจะถูกสกัดมาจากเนื้อหมู ซึ่งขัดต่อหลักการของศาสนาอิสลามที่มีผู้นับถือในประเทศอินโดนีเซียถึง 87 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 273 ล้านคน
ขณะที่องค์การอาหารและยาของประเทศอินโดนีเซียหรือที่เรียกว่า BPOM ก็ยังไม่ได้มีการอนุมัติฉุกเฉินสำหรับการใช้งานวัคซีนโควิด-19 โดยทาง ฺBPOM นั้นไม่ได้ตอบคำถามในประเด็นเรื่องนี้แต่อย่างใด ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้นั้น หน่วยงานนี้เคยออกมาระบุว่าจะมีการอนุมัติฉุกเฉินวัคซีนก็ต่อเมื่อได้มีการศึกษาข้อมูลการทดลองการฉีดวัคซีนซีโน่แวกจากในประเทศบราซิล ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศตุรกีมาก่อนแล้ว
โดย ณ เวลานี้ บริษัทซีโน่แวกของประเทศจีนได้มีความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไบโอฟาร์มา(Bio Farma)ของอินโดนีเซีย ในการดำเนินการทดลองทางคลินิกในพื้นที่จังหวัดเวสต์จาวา (West Java)
ซึ่งผลการทดลลองเบื้องต้นระบุว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 91.25 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นักวิจัยจากประเทศบราซิลระบุว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพอยู่ที่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าผลการทดลองเต็มรูปแบบนั้นยังคงไม่ถูกเปิดเผยจากทางบริษัทแม้จะมีการร้องขอแล้วก็ตาม
โดยขณะนี้นั้นรัฐวิสาหกิจไบโอฟาร์มาได้ดำเนินการแจกจ่ายวัคซีนไปแล้ว 7.6 แสนโด๊ส ไปยังพื้นที่ 34 จังหวัดทั่วประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียได้บรรลุข้อตกลงที่จะจัดหาวัคซีนจำนวนกว่า 329 ล้านโด๊สจากทั้งบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค และวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
ขณะที่นายบูดี้เคยกล่าวว่าประเทศอินโดนีเซียนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างน้อย 181.5 ล้านคน หรือประมาณ 67 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น ซึ่งวัคซีนนั้นจะมีการแจกจ่ายและฉีดให้ฟรีทั่วทุกหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย และจะใช้เวลาแจกจ่ายประมาณ 15 เดือน โดยหลังจากที่บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนไปแล้ว ถัดไปก็จะเป็นคิวของผู้สูงอายุ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นเป็นแนวทางเดียวกับที่ประเทศอื่นๆได้เริ่มการฉีดวัคซีนไปแล้ว อาทิ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและที่ประเทศอังกฤษ
โดยมีผู้เชี่ยวชาญบางรายออกมาระบุว่าวิธีการของอินโดนีเซียนั้น แม้ว่าจะสามารถชะลอการระบาดได้ แต่ก็คงไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเสียชีวิตมากนัก
"ผู้ทำงานซึ่งมีช่วงอายุน้อยจะเป็นผู้ที่มีการเคลื่อนไหว และมีการใกล้ชิดทางสังคมมากกว่าผู้ซึ่งมีอายุมาก ดังนั้นถ้าหากฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ก่อนก็จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ดีกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มผู้สูงอายุนั้นจะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคมากกว่า ดังนั้นผมจึงเห็นการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ หรือกับที่ที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มนั้น ต่างก็มีข้อดีกันคนละแบบ" นายเดล ฟิชเชอร์ ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์
เรียบเรียงจาก:https://www.aljazeera.com/news/2021/1/5/indonesia-to-start-mass-covid-vaccination-drive-next-week
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage