เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ให้ ‘โสภณ ตะติโชติพันธุ์’ อดีตที่ปรึกษา กสม. คืนเงินค่าตอบแทน 2.1 แสนบาทแก่ไทยพีบีเอส หลังทุจริตแก้สัญญาเพิ่มเงินเดือน-ขออนุญาตไปช่วยราชการ ทั้งที่ได้รับอนุญาตให้ไปครั้งคราว ไม่ใช่เต็มเวลา
........................
จากกรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายโสภณ หรือ โสภณธีณ์ หรืออภิวิชญ์ ตะติโชติพันธุ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อครั้งช่วยราชการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส ) เปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินค่าจ้างโดยทุจริตทำให้องค์การต้องจ่ายเงินเดือนสูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 161 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 73 คงจำคุก 1 ปีนั้น (อ่านประกอบ : คุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา! อดีตที่ปรึกษา กสม.ทุจริตแก้สัญญาเพิ่มเงินเดือนช่วยงานไทยพีบีเอส)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ศาลปกครองกลางสูงสุดมีคำพิพากษากรณีที่เกี่ยวเนื่องไว้เช่นกัน ในคดีหมายเลขดำที่ อบ.107/2559 หมายเลขแดงที่ อบ.20/2563 มีไทยพีบีเอส เป็นผู้ฟ้องคดี และนายอภิวิชญ์ หรือโสภณธีณ์ หรือโสภณ ตะติโชติพันธุ์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดี
คดีดังกล่าวศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ระเบียบ และธรรมเนียมของทางราชการ และต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการ และมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายและกฎระเบียบของทางราชการตลอดเวลาที่ยังรับราชการ
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดี (ไทยพีบีเอส) ได้ทำสัญญาจ้าง ลงวันที่ 16 ม.ค. 2551 จ้างผู้ถูกฟ้องคดีให้ปฏิบัติหน้าที่ในไทยพีบีเอส โดยตามสัญญาจ้าง ข้อ 4.2 ระบุให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร และอุทิศเวลาในการปฏิบัติงานให้กับผู้ฟ้องคดี และข้อ 3 กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทุกสิ้นเดือน และกรณีผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติงานไม่เต็มเดือน ให้จ่ายค่าตอบแทนโดยคำนวณตามสัดส่วน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่าขณะนั้น เป็นข้าราชการของสำนักงาน กสม. และรับเงินเดือนดังกล่าว หลังจากนั้นผู้ฟ้องคดีมีหนังสือที่ ส.ส.ท. 002/2 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2551 ถึงเลขาธิการ กสม. ขอไปช่วยราชการที่ไทยพีบีเอสเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 21 ม.ค. 2551 เป็นต้นไป แต่เลขาธิการ กสม. มีหนังสือแจ้งอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องไปช่วยราชการที่ไทยพีบีเอสเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น ทั้งนี้ต้องไม่เป็นผลเสียแก่ราชการของสำนักงาน กสม. ไม่ใช่อนุญาตไปช่วยราชการเต็มเวลาตามที่ขอ
ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีทำสัญญาจ้างก่อนมีหนังสือขอให้ไปช่วยราชการ และก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ กสม. ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.-29 เม.ย. 2551 และได้รับค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 80,000 บาท รวมเป็นเงิน 219,702 บาท อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า ไม่เป็นการช่วยราชการในลักษณะเป็นครั้งคราว แต่เป็นการไปปฏิบัติงานในลักษณะประจำ และผู้ถูกฟ้องคดีได้รับค่าตอบแทนรายเดือนตามสัญญาจ้าง ในขณะที่ยังคงได้รับเงินเดือนในช่วงเวลาเดียวกันกับสำนักงาน กสม. ดังนั้นผู้อำนวยการของไทยพีบีเอสจึงไม่สามารถทำสัญญาจ้างผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติราชการของผู้ถูกฟ้องคดี ซ้ำกับการจ่ายเงินเดือนของ กสม. ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทน 219,702 บาทดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าวศาลปกครองกลาง (ชั้นต้น) มีคำพิพากษายกฟ้อง อย่างไรก็ดีศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง โดยให้นายอภิวิชญ์ หรือโสภณธีณ์ หรือโสภณ ตะติโชติพันธุ์ คืนเงินจำนวน 219,702 บาทแก่ไทยพีบีเอส พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 ส.ค. 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในศาลปกครองชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์แก่ผู้ถูกฟ้องคดี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage