ก.ล.ต. กล่าวโทษดำเนินคดีอาญา ‘ก๊วน’ ปั่นหุ้น ‘ACD’ ต่อ ‘ปอศ.’ พร้อมใช้มาตรการทางแพ่งสั่งปรับ ‘จันทร์ทิพย์ วานิช’ เป็นเงิน 3.38 ล้านบาท ฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหุ้น UVAN
..................
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ก.ล.ต. กล่าวโทษดำเนินคดีอาญาบุคคล 4 ราย ได้แก่ (1) นายธนเดช ศรีณรงค์ (ขณะกระทำความผิดชื่อนายพรหมกรรณ ศรีณรงค์) (2) นางณฤดี เขียวยิ่ง (3) นายนิธิศ ศิลมัฐ และ (4) นายวิญญู อำนวยสมบัติ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) กรณีสร้างราคาและปริมาณหุ้นบริษัท เอเชีย คอร์ปอเรท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ACD) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท กรีน รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (GREEN) พร้อมรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกรณีสภาพการซื้อขายหุ้น ACD ที่ผิดไปจากสภาพปกติ ในช่วงปลายปี 2557 อันเนื่องมาจากการซื้อขายของบุคคลกลุ่มหนึ่ง และจากการตรวจสอบเพิ่มเติม ก.ล.ต. พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ในวันที่ 7 และ 17 พฤศจิกายน 2557 นายธนเดช นางณฤดี นายนิธิศ และนายวิญญู ได้ตกลงหรือร่วมรู้เห็นกันส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น ACD ในลักษณะที่เป็นการสร้างราคาและปริมาณโดยผลักดันราคาให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการอำพรางให้บุคคลทั่วไปหลงผิดเกี่ยวกับราคาและปริมาณ ทำให้สภาพการซื้อขายหุ้น ACD ผิดไปจากปกติ
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 243 (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) โดยมีระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ตามมาตรา 244/3 และต้องระวางโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 4 ราย ต่อ ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนั้น ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่ออีกด้วย เนื่องจากความผิดฐานสร้างราคาและปริมาณหลักทรัพย์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ
วันเดียวกัน ก.ล.ต. ยังดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดรวม 3 ราย ได้แก่ (1) นางจันทร์ทิพย์ วานิช กรณีซื้อขายหุ้นบริษัทยูนิวานิช น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) (UVAN) โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน (2) นางสาวอมรรัตน์ เกษมศักดากร กรณีช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการซื้อขายหุ้น UVAN และ (3) นางสาววลัยลักษณ์ ปฐมรังษิยังกุล กรณีช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการซื้อหุ้น UVAN
โดยให้ผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายชำระค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมจำนวน 5,132,632.50 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้ง 3 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร
กรณีดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561 นางจันทร์ทิพย์ วานิช กรรมการของ UVAN รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานปี 2560 ของ UVAN ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ที่มีกำไรรายไตรมาสสูงสุดในรอบ 3 ปี
และได้ซื้อหุ้น UVAN ระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวอมรรัตน์ เกษมศักดากร และนางสาววลัยลักษณ์ ปฐมรังษิยังกุล จำนวนรวม 1,286,700 หุ้น ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ทำให้นางจันทร์ทิพย์ได้ประโยชน์จากการซื้อหุ้นดังกล่าว
และพบว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2561 นางจันทร์ทิพย์รู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ซึ่งมีผลกำไรสุทธิลดลงจำนวนมาก และนางจันทร์ทิพย์ได้ขายหุ้น UVAN ระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 โดยใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวอมรรัตน์ จำนวน 314,500 หุ้น ทำให้ได้ประโยชน์จากการหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561
การกระทำของนางจันทร์ทิพย์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 5 พ.ศ. 2559 มาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่แก้ไขโดยฉบับที่ 5 และการกระทำของนางสาวอมรรัตน์ และนางสาววลัยลักษณ์ซึ่งได้กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นางจันทร์ทิพย์ในการกระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 242(1) เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242(1) ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ที่แก้ไขฉบับที่ 5
ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับนางจันทร์ทิพย์ นางสาวอมรรัตน์ และนางสาววลัยลักษณ์ โดยให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด
โดยในส่วนของนางจันทร์ทิพย์ คิดเป็นเงินรวม 3,388,672.50 บาท นางสาวอมรรัตน์ คิดเป็นเงินรวม 1,121,980 บาท และนางสาววลัยลักษณ์ คิดเป็นเงินรวม 621,980 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามผู้กระทำผิดทั้ง 3 รายเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ โดยในส่วนของนางจันทร์ทิพย์ เป็นเวลา 14 เดือน นางสาวอมรรัตน์ และนางสาววลัยลักษณ์ เป็นเวลารายละ 9 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดทั้ง 3 รายไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ทั้งนี้ ค.ม.พ. วางแนวทางให้ ก.ล.ต. ร้องขอต่อศาลเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าที่ ค.ม.พ. กำหนดจนถึงอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนรายนางสาวจรีภรณ์ เอี้ยวสุวรรณ ขณะกระทำความผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ฐานกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน โดยนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนและหุ้นกู้รวม 1 ล้านบาท ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว และห้ามเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563
พร้อมกันนั้น ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนของนางสาวดวงทิพย์ ชาญประสิทธิ์ผล และห้ามเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 10 ปี กรณีกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินและแสวงหาผลประโยชน์จากผู้ลงทุน ขณะกระทำผิด สังกัดบริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)
อ่านประกอบ :
รื่นวดี สุวรรณมงคล : พลิกบท ‘ก.ล.ต.’ เป็นพนง.สอบสวน ‘ปั่นหุ้น’-สัญญาต้องเสร็จสมัยนี้
ก.ล.ต.ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งผู้กระทำผิด 3 ราย อินไซด์เดอร์ขายหุ้น 'ซิโน-ไทย'
ก.ล.ต.ปรับ 160 ล.'พิชญ์ โพธารามิก-พวก' ปั่นหุ้น JAS-MONO ขึ้นทะเบียนไม่น่าไว้ใจ 3 ปี
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage