สธ.แถลงอัพเดตสถานกาณณ์โควิด พบ 689 รายเชื่อมโยงจากตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร กระจายตัวไปอีก 5 จังหวัด มี กทม.ด้วย ขณะที่ ศบค.ลุยค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอีก 10,300 ราย
--------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 เวลา 15.00 น. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์จริต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลการติดตามสถานการณ์โควิดใน จ.สมุทรสาคร ว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นการพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศไทย จากหญิงไทยรายแรกที่พบว่าป่วยโควิดไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แปลว่าไม่ได้เป็นต้นเชื้อหรือผู้ติดเชื้อรายแรกในกรณนี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจึงได้พยายามหาสาเหตุ และตั้งข้อสงสัยว่ามาจากกลุ่มแรงงานเมียนมา กระทั่งพบว่าตลาดกลางกุ้ง มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก และเมื่อตรวจหาเชื้อพบว่ามีคนติดเชื้อจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแต่อย่างใด
“สถานการณ์ในภาพรวมเรียกว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกรอบหนึ่งแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุข ได้จำกัดวงการควบคุมโรคค่อนข้างชัดเจน เริ่มจากการล็อกดาวน์ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อออกไปพื้นที่อื่นแล้ว” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการติดตามสถานการณ์โควิดใน จ.สมุทรสาคร ว่า การสอบสวนโรคและขยายผลตรวจสอบในเชิงรุก ทำให้ในภาพรวมขณะนี้พบผู้ป่วยโควิด ที่มีความเชื่อมโยงกลับมาที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร รวม 689 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบที่โรงพยาบาลและค้นหาผู้สัมผัส 32 ราย กระจายอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ นครปฐม 2 ราย สมุทรปราการ 3 ราย กรุงเทพฯ 2 ราย สุพรรณบุรี และ ราชบุรี รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ส่วนอีก 657 รายเป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบจากการค้นหาในชุมชน โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว
นพ.โอภาส ยืนยันว่า การระบาดยังอยู่ในวงจำกัดไม่ได้กระจายไปมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการพบเชื้อในตลาดกลางกุ้ง และหอพัก ซึ่งบริเวณเหล่านั้นได้ถูกปิดกั้นไม่ให้มีการเข้าออกแล้ว
เมื่อถามว่า ผู้ที่ลงพื้นที่ตลาดกางกุ้ง จ.สมุทรสาคร โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ไปทำข่าว จำเป็นต้องได้รับการกักตัวหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เบื้องต้นขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับประเมินความเสี่ยง เช่น ถูกผู้ติดเชื้อไอจามรด พูดคุยกันไม่เกิน 1 เมตรเป้นระยะเวลาเกิน 5 นาที หรือไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ล้างมือหรือไม่ หากถูกประเมินว่าสัมผัสเสี่ยงสูงจะถูกกักตัวและเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้หากไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว ก็จะได้รับคำแนะนำในการสังเกตอาการตัวเองต่อไป
เมื่อถามว่า การระบาดในขณะนี้ประชาชนทั่วไปยังสามารถรับประทานอาหารทะเลหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอนำเรียนว่าในหลายประเทศพบการปนเปื้อนในอาหาร แต่เป็นการพบสารพันธุกรรมมในอาหารที่มีการปนเปื้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเชื้อจะถ่ายทอดไปกับผู้อื่นผ่านการรับประทานอาหารหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่า เมื่อรับประทานอาหารติดเชื้อเข้าไปแล้วเราจะติดเชื้อหรือไม่ อย่างไรก็ตามขอให้ยึดหลักอาหารสุก ร้อน และสะอาด ที่ปราศจากเชื้อโรค ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ
ขณะที่ นพ.กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 5 กล่าวว่า ขณะนี้ขอให้คำยืนยันว่าในพื้นที่ 8 จังหวัดรอบ จ.สมุทรสาคร ได้เตรียมความพร้อมรับมือเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ขณะนี้ได้มีการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ ปิดกั้นพื้นที่บางส่วน เช่น ตลาดกลางกุ้งและหอพัก นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมเรื่องเตียง อยากให้ประชาชนสบายใจว่า ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการและเป็นชาวเมียนมา และมีผู้ป่วยที่มีอาการ และเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเพียง 30 รายเท่านั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังเตรียมความพร้อมมือกับสถานการณ์ได้
สำหรับประชาชนที่มีประวัติเดินทางไป จ.สมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 หรือเข้าข่ายต้องสงสัยว่าจะติดโควิด สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อในสถานพยาบาลทั่วประเทศ หรือทดสอบผ่านระบบออนไลน์ของโรงพยาบาลราชวิถี ผ่านเว็บไซต์ http://covid19.rajavithi.go.th
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 11.00 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงผลการติดตามสถานการณ์พบผู้ติดเชื้อโควิดใน จ.สมุทรสาคร ว่า จากการค้นหาเคสภายในหอพักที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันตอนนี้อยู่ที่ 576 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 19 ราย เป็นการคัดกรองเชิงรุกจากต่างแรงงานต่างด้าว 516 ราย และอยู่ในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ 41 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,907 ราย หายป่วย 17 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 806 ราย และเสียชีวิตคงเดิม 60 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าว่า สำหรับผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและพบเชื้อในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ 41 ราย กลับมาจากบาห์เรน 30 ราย เนเธอร์แลนด์ 2 ราย เยอรมนี 1 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย สาธารณรัฐกานา 1 ราย สหราชอาณาจักร 2 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย และเมียนมา 2 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศ 19 รายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสอบสวนโรคและตรวจหาเชื้อเชิงรุก จากกณีที่พบผู้ติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร ที่เริ่มจากการพบเชื้อรายแรกเป็นหญิงไทย 67 ปี ติดเชื้อที่ตลาดกลางกุ้ง บางคนมีอาการมากหน่อย มีหนึ่งรายเป็นชายอายุ 20 ปี ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ส่วนที่เหลือมีอาการไอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก มีเสมหะ โดยพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสมุทรสาคร
ทั้งนี้มีผู้ป่วย 2 ราย ที่พบเชื้อในพื้นที่ กทม. คือหญิงไทยอายุ 33 ปี ประกอบอาชีพค้าขาย และหญิงไทยอายุ 76 ปี อาชีพค้าขายเช่นกัน ที่พบประวัติเคยเดินทางไปที่ตลาดกลางกุ้งตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ใกล้กับพื้นที่ตลาดมีหอพักของชาวเมียนมาที่พักอาศัย เนื่องจากมีจำนวนมากและส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เจ้าหน้าที่ได้จำกัดพื้นที่ไม่ให้ออกมานอกบริเวณแล้ว นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค จะลงพื้นที่ค้นหา ตีวง เฝ้าระวัง และสื่อสาร เพื่อสร้างความร่วมมือ การค้นหาตอนนี้จะพุ่งเป้าไปที่แรงงานต่างด้าวทั้งหมด ส่วนแผนการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในชุมชนอีกประมาณ 10,300 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่ 8 แห่ง คือ ตลาดทะเลไทย , ตลาดแม่พ่วง , หอพักบริเวณตลาดไทยยูเนียน , บ้านเอื้ออาทรท่าจีน , ตลาดเคหะนาดี , ตลาดโกรกราก , ตลาดนัดและหอพักมหาชัยนิเวศ
“จากวงการตรวจสอบใน จ.สมุทรสาคร จะขยายวงไปสู่การตรวจสอบลูกค้าที่มาซื้อของในตลาดแห่งนี้ ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 5 จังหวัด คือ กทม. ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา จากนั้นจึงจะขยายวงตรวจสอบเพิ่มเติมไปอีก ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้มีการเพิ่มความเข้มข้นตรวจสอบโรคทุกจังหวัด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
เมื่อถามว่า การระบาดครั้งนี้นับเป็นการระบาดระลอกสองหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เราจบการระบาดรอบแรกไปเมื่อ พ.ค.2563 แต่จะบอกว่าเป็นระลอกสองก็ไม่ใช่ เพราะเป็นการติดใหม่ขึ้นมาจากคนอีกกลุ่มก้อน ส่วนใหญ่จะใช้คำว่า ระบาดใหม่ มากกว่า
เมื่อถามย้ำว่า นายจ้างที่มีแรงงานเมียนมาทำงานที่บ้านจะดูแลอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ถ้ามั่นใจว่าเขาอยู่ที่บ้านและไม่ได้สุงสิงกับใคร ก็จะมีคนจำนวนน้อย สัมผัสกันไม่มาก ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมาก แต่ถ้าเขาบอกว่าเพิ่งไปเยี่ยมเพื่อน หรือเพิ่งกลับจากตลาดกลางกุ้ง ถือว่ามีความเสี่ยง ดังนั้นขึ้นอยู่กับประวัติการเดินทางของแต่ละคน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงกรณีที่คนไปเที่ยว จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ 1 ธ.ค. แต่ไม่ได้ไปตลาดกลางกุ้ง ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าไม่สบายใจ สามารถขอรับการตรวจหาเชื้อได้ เนื่องจากเราได้ยกระดับขึ้นมาให้สามารถตรวจได้ทุกที่ในประเทศไทย ตอนนี้ 77 จังหวัดสามารถขอตรวจสารคัดหลั่งที่เกิดขึ้นจากโพรงจมูกได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่ม 612,802 ราย รวม 76,620,145 ราย อาการหนัก 106,507 ราย หายป่วย 53,747,151 ราย เสียชีวิต 1,691,772 ราย โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยเพิ่ม 189,415 ราย รวม 18,077,768 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2,556 ราย รวม 323,401 ราย อินเดีย พบเพิ่ม 26,834 ราย รวม 10,031,659 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 342 ราย รวม 145,513 ราย บราซิล พบเพิ่ม 49,243 ราย รวม 7,213,155 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 669 ราย รวม 186,356 ราย ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 151 ของโลก
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า วันนี้จะมีคนเดินทางกลับเข้าไทยอีก 105ราย 9 เที่ยวบิน ประกอบด้วย ปากีสถาน 3 ราย เยอรมนี 2 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 39 ราย ไต้หวัน 9 ราย จอร์แดน อิรัก ศรีลังกา และปากีสถาน 23 ราย ฮ่องกง 3 ราย แอฟริกาใต้ 8 ราย เนเธอร์แลนด์ 8 ราย และสิงคโปร์ 10 ราย โดยทั้งหมดต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ เพื่อเฝ้าดูอาการ 14 วัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/