'อนุทิน' แจง งบ 6 พันล้านไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะวัคซีนออกซ์ฟอร์ด แต่รวมค่าดำเนินการด้วย ยันไทยเป็นผู้ร่วมลงทุนจึงได้ราคาต่ำกว่าวัคซีนจากไฟเซอร์-ซีโน่แว็ก ย้ำ ณ เวลานี้ไทยังไม่จำเป็นต้องจัดหาวัคซีนจากที่อื่น
...........................
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด สำหรับคนไทย โดยเป็นการสั่งจองล่วงหน้า ผ่านการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (Thailand) จำกัด และ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า UK จำกัด กรอบวงเงินรวม 6,049,723,117 บาท โดยรัฐบาลได้มอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ทำการจองวัคซีนแบบล่วงหน้า (Advance Market Commitment : AMC) โดยจะเป็นการจัดหาวัคซีนให้ได้ 20% ของประชากร หรือประมาณ 13 ล้านคน จำนวน 26 ล้านโดส (อ่านประกอบ: ครม.ทุ่มเงิน 6 พันล้านบาทจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 26 ล้านโดสให้คนไทย)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เปรียบเทียบราคาวัคซีนกับข่าวในต่างประเทศ พบข้อมูลว่าก่อนหน้านีนายปาสคาล โซริออท ผู้บริหารบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้เคยให้ข่าวราคาวัคซีนว่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (151 บาท) และเมื่อนำเอาราคา 151 บาทต่อโดสมาคูณกับจำนวนวัคซีน 26 ล้านโดส ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.926 พันล้านบาท เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราจึงได้นำประเด็นดังกล่าวไปสอบถามกับนายอนุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงจำนวนเงินที่มีความแตกต่างกันกับที่สำนักข่าวอิศราได้คำนวณ เป็นจำนวนประมาณ 2 พันกว่าล้านบาท
นายอนุทินจึงได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่ามันมีค่าดำเนินการของกรมควบคุมโรค ค่าหลอด ค่าไซริงค์ ค่าเข็มฉีดยา ค่านำวัคซีนไปฉีด เพราะเวลาวัคซีนมาถึงเมืองไทยมันมาเป็นขวด จึงต้องมีค่าดำเนินการมากมาย หรือก็คือสรุปว่าเงินงบประมาณจำนวนกว่า 6 พันล้านบาทนั้นครอบคลุมไปหมดแล้ว ไม่ใช่แค่ค่าของอย่างเดียว
เมื่อถามนายอนุทินว่าจะพิจารณาในประเด็นการจัดหาวัคซีนประเภท mRna ด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ณ เวลานี้เข้าใจว่ามีหลายสถาบันก็ทำวัคซีนประเภท mRna อยู่ รวมไปถึงวัคซีนที่ทางสถาบันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขาได้วิจัยอยู่ แต่ที่เราได้จัดหาไปแล้วก็คือวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
เมื่อถามถึงกรณีที่ทางทีมงานบริษัทไฟเซอร์ได้มาพบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทินจะเข้าหารือด้วยหรือไม่ในประเด็นเรื่องการจัดหาวัคซีน นายอนุทินกล่าวว่าทางนายกรัฐมนตรีก็ได้เรียกเข้าไปพบเหมือนกัน แต่ตอนนี้ต้องขอชี้แจงก่อนว่า ณ เวลานี้ เราได้มีข้อตกลงร่วมกันกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในการร่วมลงทุนและพัฒนา ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการร่วมลงทุนจัดหาและพัฒนาก็คือราคาอยู่บนหลักการ No Profit No Loss Principle หรือเป็นหลักการการไม่แสวงหาผลกำไร โดยเขาจะขายในราคาต้นทุน ในราคาต่ำ โดยอยู่ที่ราคาประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (151 บาท) ต่อหลอด ถ้าเทียบกับวัคซีนจากบริษัทอื่นๆอาทิจากไฟเซอร์ หรือจากบริษัทซีโน่แว็กก็ปรากฎว่ามันยังมีราคาที่สูงอยู่ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าที่มันราคาสูงเพราะเราไม่ได้ไปร่วมอะไรกับเขา
“ถ้าหากเราสามารถครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงได้แล้ว เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปจองจากที่อื่น และก็ในเรื่องวัคซีน mRna เราก็ยังสนับสนุนอยู่ ทั้งการทำงานของคณะแพทย์ศาสตร์จุฬา เขาก็ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งเราก็ยังคงจะมีช่องทางในการจัดหาวัคซีนตรงนี้ด้วย”นายอนุทินกล่าวและย้ำว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องไปจองวัคซีนจากบริษัทอื่นๆ
เมื่อถามถึงความจำเป็นจะต้องจัดทำตู้เก็บความเย็นวัคซีนใหม่หรือไม่
นายอนุทินกล่าวว่าของแอสตร้าเซนเนก้านั้นไม่จำเป็นต้องทำตู้เย็นอยู่ที่ -20 องศาเซลเซียส หรือที่ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งจากที่ได้รับรายงานจากทีมแพทย์มานั้นก็ได้ข้อสรุปว่าตู้เย็นธรรมดา ก็สามารถจัดเก็บวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage