ม็อบราษฎรยุติชุมนุมหน้าสภา 'อานนท์ นำภา' ประกาศนัดใหม่พรุ่งนี้ 18 พ.ย.ที่แยกราชประสงค์ ขณะที่ ส.ส.-ส.ว.บางส่วนทยอยอพยพจากรัฐสภา-'ชวน' ลั่นถ้าม็อบชุมนุมโดยสงบ แต่หากโดนทำอะไรเกินเหตุ ต้องมีคนรับผิดชอบ หลัง ตร.สลายชุมนุม ล่าสุดม็อบรุกคืบห่างสภาแค่ 50 เมตรแล้ว-ตร.เสริมอุปกรณ์แก๊สน้ำตา-ปืนยิงกระสุนยาง - ถกแก้ไขร่าง รธน. 7 ฉบับ 'จอน'รับร่าง รธน.ไอลอว์เปิดช่องแก้หมวดกษัตริย์ได้-ลั่นประชาชนเป็นผู้กำหนดต้องไว้ใจ ชี้แจงรับเงินทุนต่างชาติ ยันไม่ถูกชี้นำ-ไม่มีใครบงการได้ วันแรกอภิปรายถึงเที่ยงคืน ก่อนไปลงมติ 18 พ.ย. จบก่อน 6 โมงเย็น
..............
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 7 ฉบับ ที่ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และภาคประชาชนเสนอมา โดยมีกลุ่มมวลชนปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณโดยรอบรัฐสภา ท่ามกลางการตรึงกำลังเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
@ม็อบราษฎรประกาศชัยชนะนัดใหม่แยกราชประสงค์พรุ่งนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 20.45 น. ผู้ชุมนุมราษฎรฝ่าแนวกันของตำรวจ เคลื่อนขบวนจนถึงบริเวณด้านหน้ารัฐสภาได้สำเร็จ นายอานนท์ นำภา แกนนำ ขึ้นปราศรัยบนเวที โดยระบุว่ามีการปาระเบิดปิงปองใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย ซึ่งหลังจากนี้จะไม่มีการประนีประนอมใด ๆ ทั้งสิ้น ส่วนในวันพรุ่งนี้รัฐสภาจะมีการโหวตอะไรก็โหวตไป แต่วันที่ 19 พ.ย. ขอนัดชุมนุมใหญ่บริเวณแยกราชประสงค์ เวลา 16.00 น. และจะเปลี่ยนชื่อแยกเป็นราษฎรประสงค์
ต่อมาเวลา 21.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรได้ร่วมกันปล่อยลูกโป่งหลากสีเพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ และได้ประกาศยุติการชุมนุมในวันนี้ พร้อมประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับผ่านทางแยกบางกระบือเท่านั้น เนื่องจากบริเวณแยกเกียกกายยังมีการปักหลักชุมนุมของกลุ่มไทยภักดีอยู่
ส่วนบรรยากาศในรัฐสภา สมาชิกรัฐสภายังคงสลับสับเปลี่ยนกันอภิปรายถึงร่างแก้ไข รธน.ฉบับไอลอว์ โดยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.เพื่อไทย ขอหารือในที่ประชุมว่า เหตุการณ์บริเวณด้านนอกรัฐสภามีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้ยินเสียงคล้ายปืนดังขึ้นเป็นระยะ จึงขอให้ประธานรัฐสภาประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่อยู่ ชี้แจงว่า ได้มีการประสานงานและประเมินสถานการณ์ด้านนอกมาโดยตลอด โดยได้รับแจ้งจากนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันให้จัดการประชุมต่อไป ทั้งนี้จะมีการประเมินสถานการณ์ทุกๆ 15-20 นาทีหลังจากนี้
ต่อมาเวลา 24.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สั่งพักการประชุม โดยจะกลับมาอภิปรายต่อในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.30 น. จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 7 ฉบับต่อไป
@ม็อบรุกคืบห่างสภาแค่ 50 เมตรแล้ว-ตร.เสริมอุปกรณ์แก๊สน้ำตา-ปืนยิงกระสุนยาง
เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร พยายามเคลื่อนย้ายแท่งแบริเออร์ที่ตำรวจวางแนวกั้น ถ.สามเสน ฝั่งหน้าบริษัท บุญรอดฯ โดยใช้แม่แรงยกรถยกแท่งดังกล่าว จากนั้นใช้ลวดกับเชือกไปผูกกับลวดหนามที่ตำรวจวางแนวไว้ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำ สลับกับแก๊สน้ำตาใส่เป็นระยะ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่สามารถฝ่าแนวกั้นเข้ามาได้ โดยตำรวจได้เสริมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ไม่ว่าจะเป็นปืนยิงแก๊สน้ำตา และปืนยิงกระสุนยางเข้ามาเพิ่มอยู่ตลอดเวลา
เวลาเดียวกันฝั่งแยกเกียกกาย กลุ่มผู้ชุมนุมที่ฝ่าแนวกั้นแรกของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาได้นั้น ได้เคลื่อนขบวนพร้อมติดเครื่อขงขยายเสียง โดยมีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิ้น ปราศรัยอยู่ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเตรียมไปปักหลักบริเวณประตูใหญ่หน้าอาคารัฐสภา ติดกับบริษัท บุญรอดฯ โดยเบื้องต้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้หยุดตรงบริเวณกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ที่อยู่ห่างจากประตูใหญ่รัฐสภาเพียง 50 เมตร โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เจรจาให้ตำรวจถอยออกไป
@'จอน'รับร่าง รธน.ไอลอว์เปิดช่องแก้หมวดกษัตริย์ได้-ลั่นประชาชนเป็นผู้กำหนดต้องไว้ใจ
เมื่อเวลา 19.00 น. นายจอน อึ้งภากรณ์ กล่าวตอบการอภิปรายของ ส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว.บางราย ที่บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนฉบับไอลอว์นั้น ไม่ได้กำหนดห้ามแก้หมวด 1 ทั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงการรับเงินทุนต่างชาติของไอลอว์ว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น โดยปกติไม่ได้ห้าม ส.ส.ร. แก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ร. ปี 40 หรือปี 50 ไม่มีข้อห้ามไม่ให้แตะหมวด 1 หมวด 2 เรามีความเชื่อมั่นอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แล้วจะไปกำหนดประชาชนว่า ห้ามแตะตรงนี้ ห้ามแตะตรงนั้น มันขัดแย้งกัน เราต้องเชื่อในระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่า ส.ส.ร. ที่จะได้รับเลือกในประเทศไทยนั้น จะมีความหลากหลาย ไม่ต่างกับรัฐสภาแห่งนี้ ไม่ต่างกับ ส.ส. จะมีหลายลักษณะ หลายความคิด และหน้าที่ของ ส.ส.ร. คือการไกล่เกลี่ยหาข้อที่ดีที่สุด ดูว่าเสียงส่วนใหญ่ไปทางไหน
“ตลอดเวลาการเมืองไทย ปัญหาเกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจไม่ไว้ใจประชาชน ถึงได้เกิดรัฐประหารบ่อย แต่ถ้าเราจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนไม่ใช่เด็ก ๆ ที่จะมีผู้ใหญ่มาบอกว่า คุณห้ามพิจารณาเรื่องนี้ พวกคุณห้ามแตะเรื่องนั้น คนที่จะบอกประชาชนเป็นใคร แสดงว่ามองตัวเองว่าใหญ่กว่าประชาชน เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่า ในส่วนของ 1 แสนรายชื่อ ที่ลงชื่อรับรองเสนอร่างของเราเนี่ย จะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่สมาชิกหลายท่านวาดภาพลบเกินไป ในความหลากหลายนั้น เราเชื่อในสิทธิเสรีภาพ” นายจอน กล่าว
นายจอน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ไม่กำหนดว่าห้ามแก้หมวด 1 และหมวด 2 เรามองว่า เราต้องไว้ใจประชาชนที่จะทำในสิ่งที่ทำประเทศไปข้างหน้า เราไม่ได้คิดว่า หมวด 1 หมวด 2 แก้ไม่ได้เลย อาจจะแก้ได้ในบางจุดที่จำเป็นต้องแก้ ที่ผ่านมาก็เคยมีการแก้ อันนี้ก็คือเหตุผลในส่วนนี้
@ชี้แจงรับเงินทุนต่างชาติ ยันไม่ถูกชี้นำ-ไม่มีใครบงการได้
“เรารับเงินต่างประเทศ จริง ๆ ไม่อยากจะพูดมาก คือ มันเป็นธรรมดาที่องค์กรพัฒนาเอกชนในไทย รวมถึงสถาบันที่มีชื่อหลายสถาบัน รับทุนจากหน่วยงานในต่างประเทศ ไม่ได้แปลว่าถูกชี้นำ ไม่ได้แปลว่าถูกบงการ และเรารับรองได้ ในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งไอลอว์ว่า ในองค์กรของไอลอว์เอง ก็ไม่เคยมีใครสามารถมาบงการ การทำงานของไอลอว์ได้ ผมขอพูดแค่นี้” นายจอน กล่าว
@ทบ.ยัน'ข่าวปลอม'อ้างทหารเข้าควบคุมพื้นที่หน้ารัฐสภา
วันเดียวกัน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) ปฏิเสธกระแสข่าว พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงรัฐสภา เกียกกาย เช่น กองพลปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) เข้าควบคุมพื้นที่การชุมนุมหน้ารัฐสภา ว่า ไม่เป็นความจริง เป็นข่าวบิดเบือน ยืนยันทหารไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูแลการชุมนุม
(นายจอน อึ้งภากรณ์ (ขวา) ชี้แจงร่าง รธน.ฉบับไอลอว์)
@'ม็อบราษฎร'ฝ่าด่านแยกเกียกกายสำเร็จ-เหลืออีกแนวกั้นเดียวถึงสภา
เมื่อเวลาประมาณ 18.15 น. มีรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรบริเวณแยกเกียกกายได้ฝ่าแนวกั้นของตำรวจบริเวณแยกเกียกกาย ถ.สามเสน ได้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ล่าถอยออกจากพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร ปะทะกับกลุ่มเสื้อเหลือง มีการปาสิ่งของเข้าใส่กัน เช่น ขวดน้ำ ถังสี และสิ่งของอื่น ๆ อย่างชุลมุนอยู่พักหนึ่งจน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิ้น) ประกาศให้หยุดแล้วถอยออกมา เช่นเดียวกันกับแกนนำเสื้อเหลือง ได้ประกาศหยุดพร้อมบอกว่า อย่าเขวี้ยงอะไรมา
ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎร เดินหน้าถึงแนวกั้นชั้นที่ 2 ก่อนถึงหน้ารัฐสภา โดยแกนนำผู้ชุมนุมประกาศชัยชนะยึดแยกเกียกกายได้แล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำสีม่วงเข้าใส่ผู้ชุมนุมหลังแนวกั้น โดยมีการนำกำลังเจ้าหน้าที่มาตั้งแถวหลังแนวกั้น ขณะเดียวกัน แกนนำบนรถกระจายเสียงประกาศว่า แนวกั้นนี้ เป็นด่านสุดท้ายก่อนถึงหน้ารัฐสภา
(เหตุการณ์ม็อบราษฎร และม็อบเสื้อเหลืองปะทะกัน, ขอบคุณภาพจาก : https://www.thaipost.net/)
@ส.ส.-ส.ว.บางส่วนทยอยอพยพออกจากรัฐสภาแล้ว
เมื่อเวลาประมาณ 17.20 น. รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมฉีดน้ำ และยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ขณะเดียวกันตำรวจรัฐสภาได้ตรึงกำลังเข้มงวด และปิดประตูทางเข้าออกรัฐสภาด้วยนั้น ในช่วงเวลาเดียวกันมีการเริ่มอพยพลำเลียง ส.ส. และ ส.ว. บางส่วนที่ไม่ได้มีคิวอภิปราย นั่งรถตู้ออกจากรัฐสภาไปขึ้นรถตามจุดปลอดภัยต่าง ๆ แล้ว
โดยบริเวณท่าเรือเกียกกาย มี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐสภาบางส่วน ทยอยเดินทางออกจากสภา โดยเรือที่กองทัพเรือจัดไว้ให้ เช่น นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ที่ต้องนั่งวีลแชร์เนื่องจากเพิ่งผ่าตัดเท้า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ส.ว. นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ส.ว. นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นต้น โดยเรือของกองทัพเรือจะนำผู้โดยสารทั้งหมดไปลงที่กองทัพเรือ
ส่วนนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา นายสมงพ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางด้วยเรือสปีดโบ๊ตที่มารอรับ โดยโบกมือปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อ
ช่วงเวลาเดียวกันมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางมาด้วยเรือด่วนเจ้าพระยา พยายามฝ่าเจ้าหน้าที่ขึ้นท่าเกียกกายที่ปิดห้ามผู้โดยสารขึ้น และมีการต่อว่าเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมปล่อยให้ไปสมทบกับผู้ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา
(นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา)
@'ชวน'ลั่นถ้าม็อบชุมนุมโดยสงบ แล้วโดนทำอะไรเกินเหตุ ต้องมีคนรับผิดชอบ
เมื่อเวลาประมาณ 17.15 น. นางทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงเหตุการณ์การชุมนุมของม็อบราษฎร บริเวณหน้ารัฐสภา ที่ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำ ฉีดน้ำผสมสารเคมี และแก๊สน้ำตานั้น จึงอยากหารือถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าในที่ประชุมจะต้องดำเนินการอย่างไร
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่แล้ว และมีการติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน พบว่า ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติอย่างที่มีสมาชิกบางท่านได้บอก แต่เรื่องการใช้ความรุนแรงนั้น ตนได้กำชับเจ้าหน้าที่ไปแล้วว่า หากมีการชุมนุม เรายินดีต้อนรับ เพราะเป็นตัวแทนจากประชาชน ที่นี่ (รัฐสภา) มีคนมาอยู่เป็นปกติ จึงกำชับเจ้าหน้าที่ว่าอย่าประมาท และอย่าวิตกเกินไป
“หากชุมนุมโดยสงบอย่างนี้ไม่มีปัญหา ย้ำอย่างนี้มาตลอด แม้แต่ตอนนี้ แม้แต่ตอนที่ท่านพรเพชร (วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา) มาปฏิบัติหน้าที่แทน ผมไปติดตามดูสถานการณ์ และกำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแล ตามที่ได้สั่งการไป ถ้าเขามาชุมนุมโดยสงบ อย่าไปทำอะไรเกินเหตุ เขามีสิทธิชุมนุมได้ เพราะเราเคารพหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราทำอย่างนี้มาตลอด แต่ขอร้องผู้ชุมนุมดำเนินการโดยสงบ อย่าคุกคาม ไม่ว่าด้วยวาจา หรืออะไรก็ตาม” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ขอให้พวกเรา (สมาชิกรัฐสภา) ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี หากอะไรไม่ถูกต้อง ต้องมีการรับผิดชอบ ไม่มีใครสามารถปกปิดได้ เพราะมีการบันทึกไว้ตลอด
“ผมเข้าใจท่านสมาชิก ผมขอย้ำว่าถ้าเขา (ม็อบ) ชุมนุมโดยสงบ ใครทำอะไรเกินเหตุ คนนั้นต้องรับผิดชอบ” นายชวน กล่าว
@ตัวแทน'ไอลอว์'โดนถาม ทำไมเปิดช่องแก้หมวดพระมหากษัตริย์ได้-มีเจตนาอะไรหรือไม่
เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ และ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ได้อภิปรายถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมภาคประชาชน สรุปได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มิใช่ร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ แต่เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีประชาชนกว่า 1 แสนชื่อร่วมกันเสนอ เพียงแต่ไอลอว์เป็นหนึ่งในผู้ประสานงานเท่านั้น และขอให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยต่อไปข้างหน้า แต่หากรัฐสภาไม่รับพิจารณา คงต้องหาคำอธิบายแก่ประชาชนกว่า 1 แสนชื่อที่เสนอมา
อย่างไรก็ดีสมาชิกรัฐสภาบางราย เช่น พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายตั้งคำถามถึงร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนดังกล่าวว่า เหตุใดจึงไม่มีการเขียนข้อกำหนดเกี่ยวกับหมวด 1 ทั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มีเจตนาอะไรต้องการแก้ไข 2 หมวดข้างต้นหรือไม่
ขณะที่ความเคลื่อนไหวจากพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าอาจพิจารณาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนของไอลอว์นั้น มีรายงานว่า นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือพรรคร่วมฝ่ายค้านเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า พรรคเพื่อไทยจะโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนของไอลอว์ด้วย เนื่องจากได้อ่านแล้วทุกคนสบายใจขึ้น และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ผ่านร่างนี้
(นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์)
@ตร.เตรียมปืนยิงกระสุนยาง-แก๊สน้ำตาเพิ่ม ป้องม็อบเข้าสภา
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มราษฎร บริเวณหน้ารัฐสภา เกียกกาย ถ.สามเสน โดยก่อนหน้านี้เกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนที่ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการปาพลุควันกลับคืนนั้น เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.
โดยเมื่อเวลาประมาณ 15.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นรั้วรอบ 2 มีการขว้างขวดน้ำ ก้อนหิน และพลุควันสีใส่แนวเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศห้ามกลุ่มผู้ชุมนุมปาสิ่งของ มิฉะนั้นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน และขอให้ผู้ชุมนุมถอยหลังกลับไป หลังจากนั้นตำรวจได้เตรียมรถน้ำอีกคันเข้าประจำจุด
ต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมไม่หยุดขว้างปาสิ่งของ ตำรวจจึงยิงแก๊สน้ำตาใส่ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้หยิบแก๊สน้ำตาขว้างกลับมาใส่แนวตำรวจ ทำให้ต้องจัดแนวใหม่อีกครั้ง โดยมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน รวมถึงตำรวจตระเวนชายแดนอีก 500 ราย และมีการแจกปืนยิงแก๊สน้ำตา และอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตา รวมถึงปืนยิงกระสุนยางด้วย
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า มีกลุ่มผู้มาชุมนุมทั้งสิ้น 4 กลุ่ม โดย 2 กลุ่มแรกมีการแจ้งว่าจะชุมนุมและยุติ 14.00 น. ส่วนอีก 2 กลุ่มแจ้งว่าจะชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา มีเงื่อนไขคือชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ลงถนน ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น และจะมีการยุติชุมนุมในเวลา 22.00 น. และเวลา 24.00 น. ของวันที่ 18 พ.ย. 2563 อย่างไรก็ดีสำหรับกลุ่มคณะราษฎร ไม่มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ไว้ ดังนั้นจึงผิดเงื่อนไข และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยหลังจากกลุ่มคณะราษฎร เคลื่อนตัวมาบริเวณแนวกำบังของแบริเออร์ ตามกฎหมายระบุว่า ไม่สามารถเข้ามาในเขต 50 เมตรจากรัฐสภาได้ ผู้ชุมนุมจึงเริ่มทำลายสิ่งกีดขวาง และเจ้าหน้าที่ได้มีการเจรจา ประกาศ และแจ้งเตือนแล้วว่า การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรนั้นผิดกฎหมาย การทำลายสิ่งกีดกั้นก็ผิดกฎหมายอย่างสิ้นเชิง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งเตือนแล้ว 3-4 กลุ่ม ผู้ชุมนุมยังไม่หยุดทำลายสิ่งกีดกั้น เจ้าหน้าที่จึงฉีดน้ำตามยุทธวิธีของตำรวจ ขอนำเรียนว่าครั้งที่ 4 เป็นการฉีดที่มีการผสมแก๊สน้ำตาอย่างที่เห็นอยู่ การปฏิบัติการของตำรวจนั้น ไม่ใช่การสลายการชุมนุม แต่เป็นการเจรจา และเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ
เมื่อถามว่า จะมีการใช้แก๊สน้ำตาต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า กำลังดำเนินการเจรจาตามขั้นตอนอยู่ เพราะเป็นพื้นที่ควบคุม
เมื่อถามย้ำว่า จะมีการใช้กระสุนยางควบคุมการชุมนุมจริงหรือไม่ พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า อุปกรณ์การควบคุมฝูงชนเป็นเรื่องปกติ ต้องรอดูตามหน้างาน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.50 น. พบว่า ตำรวจควบคุมฝูงชน ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการตั้งแท่นแบริเออร์ วางลวดหนามหีบเพลง และนำรถฉีดน้ำแรงดันสูงมาจอดไว้ ป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามายังหน้ารัฐสภาได้
เบื้องต้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ตะโกนด่าทอการทำงานของตำรวจ และชู 3 นิ้ว ต่อมาเวลาประมาณ 14.10 น. การ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มใช้คีมตัดเหล็กตัดรั้วลวดหนามหีบเพลง
หลังจากนั้น พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รอง ผบก.น.1 สั่งนำรถฉีดน้ำมาประชิดแนวกั้น พร้อมกับประกาศเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมหยุดทำลายรั้วลวดหนาม และหากไม่หยุดจะฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตา
ต่อมาเวลาประมาณ 14.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการปาพลุมีสีมีควันมีกลิ่นเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยแกนนำประกาศกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันแก๊สน้ำตาให้ถอยออกจากแนวกั้น
หลังจากนั้นเวลา 14.30 น. ตำรวจสั่งรถฉีดน้ำแรงดันสูงถอยออกจากแนว และให้สื่อมวลชนด้านข้างถอยออก โดยแจ้งว่า จะขอเจรจากับหัวหน้าการ์ดผู้ชุมนุม
(ภาพประกอบจากเพจ เยาวชนปลดแอก - Free YOUTH)
@อภิปรายแก้ รธน.วันแรกถึงเที่ยงคืน-ลงมติ 18 พ.ย.
ส่วนบรรยากาศภายในรัฐสภา ช่วงเช้า นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ขอให้สมาชิกเร่งพิจารณา โดยฝ่ายค้านได้เวลา 5 ชั่วโมง ทั้งนี้ในวันที่ 17 พ.ย. 2563 จะยุติการประชุมในเวลา 24.00 น. และอภิปรายต่อในวันที่ 18 พ.ย. 2563 จนเวลา 13.00 น. จะเริ่มลงมติ น่าจะจบลงได้ในเวลาไม่เกิน 18.00 น.
ส่วนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า เวลาของฝ่ายรัฐบาลมีทั้งสิ้น 4 ชั่วโมง รวมกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการด้วย ส่วน ส.ว. ได้เวลา 5 ชั่วโมง ขณะที่การนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนของไอลอว์นั้น ตัวแทนผู้เสนอได้เวลา 30 นาที ทั้งนี้ขอให้พยายามพูดให้อยู่ในเวลาร่วมกันด้วย
@ตร.ตรึงกำลังเข้มรอบสภา-ประกาศพื้นที่รัศมี 50 เมตรห้ามชุมนุม
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณโดยรอบรัฐสภาว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินตรึงกำลังเข้ม โดยเปิดให้รถยนต์เข้าเพียงทางเดียว บริเวณ ถ.ทหาร แยกเกียกกาย และให้เข้าทางท่าเรือเกียกกาย พร้อมทั้งประกาศให้รัศมีบริเวณ 50 เมตรรอบอาคารรัฐสภา เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุม เพื่อรับมือการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่ประกาศนัดชุมนุมบริเวณรอบรัฐสภา พิจารณาการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในเวลา 16.00 น.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage