วงเสวนา แนะจับตาสภาพิจารณาร่าง รธน. วันที่ 17-18 พ.ย. เชื่อเป็นวันประวัติศาสตร์กำหนดสถานการณ์ทางการเมือง 'อภิสิทธิ์'เชื่อไม่มีใครขัด หาก 'บิ๊กตู่' พูดชัดจะรับร่างทั้ง 7 ฉบับ 'สุดารัตน์'กางบันได 3 ขั้น เปิดพื้นที่พูดคุย-แก้ รธน.-เลือกตั้งใหม่ปลายปี 64 'พิชาย' เรียกร้อง ส.ว.แสดงเจตจำนงเพื่อประชาชน 'คำนูณ' ค้าน ส.ว.เข้าชื่อเสนอศาล ชี้ เป็นอันตรายร้ายแรง
-----------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2563 คณะกรรมการญาติวีรชนพฤกษภา 35 พร้อมด้วยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมจัดเวทีสาธารณะสภาที่ 3 หัวข้อ “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย”
@‘อภิสิทธิ์’เชื่อไม่มีใครขัด หาก‘บิ๊กตู่’รับร่าง รธน.7 ฉบับ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 พ.ย.ก็จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าประเทศจะเดินไปทางไหน เพราะถ้ามีการปฏิเสธการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ตนบอกได้เลยว่าเส้นทางที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งแทบจะไม่เหลือแล้ว ดังนั้นหนทางคลี่คลายสถานการณ์คือต้องรับหลักการ รธน.ทุกฉบับ นอกจากนั้น การแก้ไข รธน.ยังต้องผ่านอีกหลายด่าน สมมติว่ามีการผ่านการพิจารณาทุกวาระ ก็ยังจะต้องเจอกับประชามติที่ขอพูดเสียเลยว่าคนที่พยายามตีความอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ รธน.ปี 2550 ควรกลับไปอ่านคำวินิจฉัยใหม่ เพราะครั้งนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องทำประชามติ และศาลไม่ได้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัย แต่ครั้งนี้หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรก็ต้องผ่านประชามติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติถึงสองรอบ ด่านที่สองคือสมาชิกสภาสามารถยื่นตีความได้อีกว่าร่างที่ผ่านไปนั้นมีปัญหา ว่าไปขัดหรือชอบด้วย รธน.หรือเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่
นายอกิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นยังมีด่านพิเศษจาก ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่งที่ไม่รู้อำนาจหน้าที่ตัวเอง และอยากจะไปถามศาลว่าตนเองมีอำนาจหรือไม่ อย่างไรก็ตามผ่านด่านเหล่านี้ไปแล้ว ยังว่ากันด้วยเรื่องสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่าด้วยกันเรื่องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งเรากำลังพูดถึงกระบวนการที่จะเสร็จสิ้นช่วงกลางปี 2565 ที่ยังไม่นับรวมกับการทำกฎหมายลูกมารองรับ โดยสรุปแล้ว เผลอๆ รัฐบาลก็อาจจะใกล้ครบเทอม ดังนั้นจะเห็นว่านี่คือเหตุผลที่ตนย้ำว่าทำไมถึงต้องมีการรับหลักการร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 7 ฉบับ และไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นด้วยกับทุกมาตรา แต่เห็นว่าการรับหลักการจะเป็นรูปธรรมเดียวที่แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจเข้าใจและได้ยิน สิ่งที่เขาเรียกร้อง
“วันนี้หมวด 1 และหมวด 2 ถูกหยิบเป็นคำพูดง่ายๆ ว่าเกี่ยวข้องกับสถาบัน แต่อยากให้ย้อนดูเนื้อหา รธน.ในอดีตจะพบว่าทั้ง 2 หมวดมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สำคัญกว่านั้นคือประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะ 2 หมวด แต่บทบัญญัติในหมวดอื่นๆ ล้วนแล้วมีผลผูกพันเกี่ยวข้องโครงสร้างอำนาจรวมถึงพระราชอำนาจด้วยกันทั้งสิ้น ถ้าเรากังวลว่าจะมีการใช้แก้ไขเพิ่มเติม รธน. ที่เกี่ยวกับการล้มล้างหรือเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ ซึ่งความจริงทำไม่ได้อยู่แล้วเพราะขัดต่อ รธน. สิ่งที่เราทำได้ ไม่ใช่ห้ามแตะหมวด 1 และ หมวด 2 แต่ต้องคุยกันให้ชัดเจนในการแปรญัตติของ กมธ. เขียนให้ชัดเลยว่า รธน.ที่จะไปยกร่างขึ้นมาใหม่ต้องมีลักษณะที่ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร เป็นรัฐเดี่ยว มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองของประเทศ อย่างนี้ถึงจะเป็นรูปธรรมของคำตอบ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่ตนอยากจะพูดอีกเรื่องก็คือ ทำไมวันนี้คนถึงบอกว่า ช่องว่างระหว่างสองฝ่ายไม่ลดลงเลย ทำไมคนหวาดระแวงว่า รธน.จะไม่ผ่านการพิจารณา มีความพยายามจะบอกว่านายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณแล้ว แต่ตนติดตามทุกคำพูดของนายกรัฐมนตรี พบว่ามากที่สุดที่นายกรัฐมนตรีพูดคือการบอกให้พรรครัฐบาลสนับสนุนร่างของพรรครัฐบาล และมากที่สุดคือบอกว่าไม่ได้ขัดขวาง ซึ่งตนเห็นว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม อยากให้ร่างแก้ไข 7 ฉบับผ่าน มีวิธีง่ายนิดเดียว ขอให้ท่านลุกขึ้นยืนในสภา และบอกว่านี่เป็นทางออกของประเทศที่ต้องมีการพูดคุยกัน เราอาจจะไม่ต้องเห็นด้วยกับทุกมาตรราในร่างแก้ไขทุกฉบับ แต่ยังสามรถนำไปพูดคุยหรือแปรญัตติใน กมธ.ต่อได้ และถ้าไม่ทำเช่นนี้ ประเทศจะมีความขัดแย้ง และจะบริหารประเทศต่อไปไม่ได้ ตนเชื่อว่า ถ้านายกรัฐมนตรีพูดเช่นนี้ ก็อยากจะดูว่า จะมี ส.ว.ที่ไม่ยอมรับร่าง รธน.อีกหรือไม่
@‘สุดารัตน์’ปูบันได 3 ขั้นใช้ รธน.ฉบับใหม่จัดเลือกตั้งปลายปี 2564
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานสถาบันสร้างไทย กล่าวว่า วันนี้ความความขัดแย้งทั้งหมดจะยุติได้ หากนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจและเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ด้วยการลาออก เพราะหากดึงดันไม่รับข้อเสนอของฝ่ายที่เห็นต่างก็จะทำให้สถานการณ์ดิ่งลงมากกว่านี้ ส่วนการประชุมรัฐสภา วันที่ 17-18 พ.ย.นี้จะเป็นการชี้ชะตาและพิสูจน์ความจริงใจ พร้อมขอเสนอบันได 3 ขั้นในการแก้ปัญหา คือ 1.มีคณะกรรมการแสวงหาทางออกประเทศ โดยมีกฎหมายรองรับเพื่อความไว้ใจ เป็นเวทีที่คนเห็นต่างและนายกรัฐมนตรีจะได้พูดคุยกัน โดยใช้เวลา 3-5 เดือนให้ได้ข้อสรุป 2.เร่งแก้ไข รธน.โดยพิจารณาทั้ง 7 ร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อให้ขั้นตอนในสภาแล้วเสร็จ ธ.ค.2563 และนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. และ 3.เมื่อร่างแก้ไข รธน.ที่ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ควรลาออก โดยรัฐบาลใหม่มีภารกิจเดียว คือ สนับสนุนให้มีร่าง รธน.ที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในช่วงปลายปี 2564
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้จริงใจในการแก้ไข รธน. เพราะพบว่ามีกระบวนการที่พยายามยื้อไม่ให้เกิดการแก้ไข โดยเฉพาะการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ดังนั้นวันที่ 17-18 พ.ย.นี้จะเป็นโอกาสสุดท้ายในการพิสูจน์ความจริงใจของนายกรัฐมนตรี
"ถ้านายกรัฐมนตรีจริงใจก็พูดออกมาคำเดียว คิดว่า ส.ส.และ ส.ว.จะเห็นด้วยและทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณาได้จบภายในเดือน ธ.ค.ทั้งสามวาระ และเข้าสู่กระบวนการจัดทำประชามติ ซึ่งแบบนี้ทำให้ปลายปี 2564 ประชาชนจะได้เลือกตั้งภายใต้กติกาที่มาจากประชาชน" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่จะร่วมโหวตนั้น ส่วนตัวจะรับหลักการวาระแรกอย่างน้อย 3 ญัตติ คือ ร่างแก้มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างแก้ไข มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ โดยส่วนตัว อยากรับร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เพราะเห็นว่า มีนวัตกรรมใหม่ ที่ให้แก้มาตรา 256 การตั้ง ส.ส.ร. รวมถึงการแก้ไขรายมาตรา แต่ยังติดใจในหลายประเด็น เช่น การให้ ส.ว.พ้นจากตำแหน่งทันที ทำให้ยังไม่สามารถที่จะโหวตรับร่างของไอลอว์ได้
@เรียกร้อง ส.ว.แสดงเจตจำนงแก้ รธน.เพื่อประชาชน
นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าว นี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของไทยอีกช่วงหนึ่ง ที่เราจะได้ดูกันว่าผู้เกี่ยวข้องจะมีท่าทีอย่างไร โดยเวลานี้รัฐสภามีบทบาทอย่างมาก ที่จะแสดงบทบาททั้งในแง่ตัวปัญหาและผู้คลี่คลายปัญหาครั้งนี้ เราจะเห็นภาพชัดว่าปมปัญหาหรือจุดชี้ขาดเส้นทางอนาคตของไทยหลังจากนี้คือ ส.ว. หากมองด้วยความเป็นจริงจะพบว่า พื้นฐานของ 250 ส.ว.ชุดนี้ ทั้งในแง่ตัวบุคคลและเชิงโครงสร้างอำนาจของสังคมไทยสามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจที่มีอภิสิทธิ์ชนในสังคมไทยอย่างสูง พวกเขาเป็นตัวแทนของคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน แม้ว่าตามตัวอักษรของ รธน.จะพูดว่าเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยก็ตาม เมื่อใดที่มีปฏิบัติการทางการเมืองกระทบกับประโยชน์เครือข่ายของตนเองที่พวกเขาเป็นตัวแทนอยู่ เราจะเห็นปฏิกิริยาต่อต้านด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ผลิตวาทกรรมมากมาย และอาศัยช่องว่างสิ่งต่างๆเหล่านี้ ปฏิบัติทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อหยุดยั้งการกระทำใดก็ตามที่เขามองว่าเป็นสิ่งคุกคามอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง
“ความคิดเห็นประชาชนในสายตาพวกเขาถูกอุปมาว่าต้องการตีเช็คเปล่า สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจประชาชน ล่าสุดมีการเสนอญัตติเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ สิ่งต่างๆเหล่านี้มีเป้าหมายเดียว คือ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้มีการแก้ไขหรือร่าง รธน. ที่มาจากประชาชน นี่คือสิ่งที่เห็นและดำรงอยู่” นายพิชาย กล่าว
นายพิชาย เชื่อว่า แม้ว่าในภาพใหญ่ ส.ว.จะมีความคิดเดียวกัน แต่ในฐานะปัจเจกบุคคล ย่อมมีเจตจำนงเสรีอยู่ ที่จะทำให้เขาเลือกตัดสินใจและทำด้วยเหตุผลที่หลากหลายขึ้น ซึ่งบทบาทที่ ส.ว.จะปฏิบัติในช่วง 17-18 พ.ย. จะต้องตระหนักความเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย มากกว่าการเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์และความเชื่อของตนเอง การตัดสินใจทางใดก็ตามต้องใช้จินตนาการและวิสัยทัศน์เป็นหลักมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า
@'คำนูณ' ค้าน ส.ว.เข้าชื่อเสนอศาล ห่วงเป็นอันตรายร้ายแรง
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า การแสดงความเห็นวันนี้เป็นการพูดในนามส่วนตัว เพราะไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ และยอมรับว่าวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ถือเป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้พอสมควร ตนเองคิดทบทวนตลอดเวลานับตั้งแต่มาเป็นส.ว. เคยเสนอว่าบ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องคิดถึงการสลายความขัดแย้งด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวรับหลักการร่างแก้ไขฉบับที่มีการตั้ง ส.ส.ร.และลดอำนาจของ ส.ว. ส่วนร่างแก้ไขฉบับอื่นๆ ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าควรให้ ส.ส.ร.เข้ามาดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ อย่างไรก็ตามความคิดแบบตนถือว่าเป็นเสียงส่วนน้อยในวุฒิสภา โดยส่วนตัวยังเห็นว่าร่าง รธน.ฉบับภาคประชาชนก็มีประเด็นที่น่าสนใจ และมีนวัตกรรมใหม่ที่ให้แก้มาตรา 256 , การตั้ง ส.ส.ร. รวมถึงการแก้ไขรายมาตรา แต่ยังติดใจในหลายประเด็นเช่นกัน อาทิ การให้ ส.ว.พ้นจากตำแหน่งทันทีที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุญญากาศ
"ผมเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เคยกำหนดให้มีการให้เปิดให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีการแก้ไขเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาแล้ว การแก้ไขมาตรา 256 จะต้องถูกทำประชามติโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ" นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า เส้นทางการไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใดๆ รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศจะเขียนไว้ค่อนข้างจำกัด อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำหนดแล้วว่าจะต้องดำเนินการตาม 256 (9) เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นการกำหนดกรอบของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างจำกัด การไปศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 49 ว่าด้วยการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจะกระทำมิได้ โดยยื่นผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งในช่องทางนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความผิด ส่วนมาตรา 210 (2) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ที่มี ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้นตนเองไม่เห็นด้วยและจะไม่ยกมือให้กับญัตตินี้ เนื่องจากตนเองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหากไม่รู้ว่าหน้าที่มีอะไรแต่ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นเรื่องแปลก การเขียน 210 (2) ในเชิงทฤษฎีคิดว่าค่อนข้างอันตราย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage