ปธ.ป.ป.ช.นำเรื่องเข้าที่ประชุมศูนย์ป้องปรามทุจริตฯหารือด่วน แก้ปัญหา พนง.ไต่สวนบางจังหวัดอยู่ภูมิลำเนาตัวเอง ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพ อ้างกลัวอิทธิพลท้องถิ่น ทำให้คดีค้างอายุความอื้อ โดยเฉพาะเรื่องบัญชีทรัพย์สิน
................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2563 มีกลุ่มพนักงานไต่สวน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหนังสือถึงประธานกรรมการ ป.ป.ช. (พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ) ร้องเรียนถึงปัญหาการปฏิบัติราชการในพื้นที่ของพนักงานไต่สวน สรุปได้ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. มีภารกิจด้านการไต่สวนและปราบปรามการทุจริต ที่ต้องดำเนินการแผนยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเห็นได้ว่า พนักงานไต่สวนจะปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเป็นส่วนใหญ่ บางจังหวัดมีพนักงานไต่สวนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่ตนปฏิบัติงานอยู่ทั้งจังหวัด เช่น พนักงานไต่สวน สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดหลายแห่ง เป็นบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นทั้งหมด ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่ โดยอ้างเรื่องผู้มีอิทธิพลในจังหวัด อ้างเรื่องอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ทั้งที่พนักงานไต่สวนได้ค่าตอบแทนอัตราสูงเกือบเทียบเท่าข้าราชการอัยการ หรือผู้พิพากษา
“ผู้บริหารอาจนั่งอยู่ส่วนกลางเพื่อพิจารณาคดี หรือเรื่องกล่าวหาร้องเรียนต่าง ๆ ที่พนักงานไต่สวนสรุปสำนวนให้วินิจฉัย แต่อาจไม่ทราบถึงปัญหาระดับจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่พนักงานไต่สวนอยู่ในภูมิลำเนาแทบทุกคน มักอ้างเรื่องปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติงาน บางจังหวัดมีพนักงานไต่สวนระดับสูง แต่ไม่มีผลงานออก” หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ระบุ
หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ระบุอีกว่า อีกประเด็นคือการกำหนดตัวชี้วัด ที่บางจังหวัดไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คือ 6 ตรวจสอบ 3 ไต่สวน/คน/ปี (การรับร้องเรื่องร้องเรียนตรวจสอบเบื้องต้น 6 เรื่อง และการไต่สวนคดี 3 เรื่อง/คน/ปี) ถือว่าพนักงานไต่สวนที่ไม่ปฏิบัติตาม ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ แต่ผลการประเมินกลับอยู่ระดับดีเด่น ทำให้พนักงานบางคนที่ทำแต่ผลงาน ไม่ได้ตามตัวชี้วัดหรือเป้าหมายไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ต้องยอมรับผลการประเมิน นอกจากนี้ผลการปฏิบัติงานของพนักงานไต่สวนบางราย อาจไม่สามารถตอบโจทย์สังคมได้ และยังไม่เป็นบรรทัดฐานในการประเมินผลการปฏิบัติงานในแต่ละรอบประเมิน และส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจต่อพนักงานไต่สวนที่เสียสละทุ่มเทการปฏิบัติงาน
หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ระบุด้วยว่า กลุ่มพนักงานไต่สวนจึงมีข้อเสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดตัวชี้วัดรายบุคคลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการคดีของประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้เป็นมาตรฐานหรือบรรทัดฐานเดียวกันทั่วประเทศ คือ 6 ตรวจสอบ 3 ไต่สวน/คน/ปี และให้ใช้ค่าดังกล่าวเป็นค่ากลางคือ ระดับ 3 ส่วนจังหวัดไหนทำครบได้คะแนนระดับ 5 เป็นต้น
ส่วนกรณีพนักงานไต่สวนที่อยู่ภูมิลำเนาจังหวัดของตนเองนั้น หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ระบุว่า ไม่สมควรให้พนักงานไต่สวนอยู่ในจังหวัดของตนเอง เนื่องจากมีกระแสข่าวต่าง ๆ ที่กล่าวขานกันในหมู่พนักงานไต่สวนว่า มีพนักงานไต่สวนบางรายไปทานข้าวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ดำเนินการอยู่ อาจเป็นเครือญาติ บุคคลที่รู้จัก เพื่อนสนิท หรือด้วยเหตุผลประการอื่น ๆ ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีต่อองค์กร ทำให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาจถูกจับตามองในสังคม โดยเฉพาะจังหวัดถือเป็นสังคมขนาดเล็กผู้คนแทบจะรู้จักกัน จึงขอร้องเรียนประธานกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาพื้นที่การปฏิบัติงานของพนักงานไต่สวนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดของตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสำนักงาน ป.ป.ช. และเป็นการกระตุ้นให้พนักงานไต่สวนตระหนักถึงภาระ หน้าที่ ที่ตนจะต้องปฏิบัติ และวางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการของสำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2563 มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รองเลขาธิการฯ ผู้ช่วยเลขาธิการฯ ผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูงภายในสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุม สำ โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมด้วย
ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวได้หารือถึงประเด็นนี้ สรุปได้ว่า จากการตรวจสอบคดีในต่างจังหวัดพบว่า มีหลายจังหวัดที่มีคดีค้างจำนวนมาก และบางคดีใกล้ครบกำหนด 3 ปี ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 (การไต่สวนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หากมีเหตุจำเป็นขยายเวลาได้แต่ไม่เกิน 3 ปี เว้นแต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือขอหลักฐานจากหน่วยงานต่างประเทศ) แต่ยังทำไม่แล้วเสร็จ
“กรณีนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะพนักงานไต่สวนบางรายที่ยังทำคดีค้างอยู่ เติบโตได้รับการเลื่อนชั้นขึ้น ทำให้มีการโยกย้ายเข้าส่วนกลาง หรือไปที่อื่น ทำให้คดีที่ไต่สวนยังค้างอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ โดยคดีค้างที่เยอะที่สุดคือคดีประเภทตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เห็นได้จากมีหลายกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มักพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากคดีหมดอายุความเสียก่อน”
ส่วนประเด็นเรื่องตัวชี้วัดนั้น ที่ประชุมฯหารือกันและพบว่า กรณี 6 ตรวจสอบ 3 ไต่สวน/คน/ปี ยังไม่เคยมีพนักงานไต่สวนรายใดทำได้มาก่อนเลย ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วย ส่วนการปรับโครงสร้างพนักงานไต่สวนตามข้อเสนอในหนังสือร้องเรียนนั้น คงต้องรอหารือกันอีกครั้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage