ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ‘ม.ราชภัฏเชียงใหม่’ ห้ามหักเงินเดือนพนักงานฯ 0.2% เข้ากองทุนสวัสดิการฯ-จ่ายเงินประจำตำแหน่งวิชาการ พร้อมให้ชดเชยค่าเสียหาย 8 หมื่นบาท หลังออกระเบียบมหาวิทยาลัยปี 56 กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำพนักงานระดับ ‘อาจารย์-วุฒิป.โท’ ไม่เป็นไปตามมติครม.
...................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ศาลปกครองสูงสุดอ่านพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานรัฐทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการออกกฎ ระหว่างจ่าสิบเอก จอห์นนพดล วิศินสุนทร ผู้ฟ้องคดี และสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ,อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
สำหรับคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี (จ่าสิบเอก จอห์นนพดล) เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ (สาย ก) คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) โดยมีสัญญาจ้างปฏิบัติหน้าที่ราชการของพนักงานมหาวิทยาลัย 2 ฉบับ คือ สัญญาฉบับแรกว่าจ้างปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 1 ต.ค.2552-30 ก.ย.2554 และสัญญาฉบับที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554-1 ต.ค.2558
แต่ในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดี (จ่าสิบเอก จอห์นนพดล) ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างฉบับที่ 2 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2555 เห็นชอบการปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามวุฒิการศึกษาของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในปีที่ 1 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 รวมทั้งให้ชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบในกรณีดังกล่าวด้วย โดยให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ต่อมามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีมติอนุมัติให้ใช้บัญชีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2556 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 เป็นต้นไป โดยประเภทวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คุณวุฒิปริญญาโท อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 15,850 บาท ขั้นสูง 39,630 บาท และอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้นำมติดังกล่าวไปใช้ปรับค่าจ้างพนักงานในเดือนพ.ค.2556
อย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดี (จ่าสิบเอก จอห์นนพดล) ไม่เห็นด้วยกับข้อบังคับดังกล่าว จึงยื่นอุทธรณ์กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ต่อมาสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อบังคับดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 เฉพาะส่วนที่ให้ปรับเพิ่มฐานค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยสายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คุณวุฒิปริญญาโท ขั้นต่ำ 15,850 บาท โดยให้มีผลย้อนหลัง และให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ชำระค่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 145,170 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ส่วนคำขออื่นๆ เช่น ขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คืนเงินร้อยละ 0.2 ที่หักจากค้าจ้างของพนักงานมหาวิทยาลัยให้แก่พนักงานมหาวิทยาลัย ศาลปกครองชั้นต้นให้ยก อย่างไรก็ตาม สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ไม่เห็นด้วย จึงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
สำหรับการพิจารณาในชั้นศาลปกครองสูงสุด ศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในช่วงที่ผู้ฟ้องคดี (จ่าสิบเอก จอห์นนพดล) ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามสัญญาที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2554-1 ต.ค.2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2555 ให้ปรับเงินเดือนแรกบรรจุตามวุฒิการศึกษาของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในปีที่ 1 โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 31 ม.ค.2555
ต่อมาสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กำหนดค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย ประเภทวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คุณวุฒิปริญญาโท อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 15,850 บาท ขั้นสูง 39,630 บาท แต่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าควรได้รับค่าจ้างในอัตรา 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 จนถึงวันที่ 31 ก.ค.2556 และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ไม่มีสิทธิหักค่าสวัสดิการจากเงินค่าจ้างร้อยละ 0.2 ของเงินเดือน เนื่องจากเป็นการปรับค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามมติครม.นั้น
ศาลฯมีคำวินิจฉัย สรุปได้ว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2542 มีมติอนุมัติหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่…เพื่อบรรเทาปัญหาการว่างงาน และครม.เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2542 มีมติให้บุคลากรสาย ก ได้รับค่าจ้างเพิ่มจากอัตราข้าราชการแรกบรรจุร้อยละ 70 ของอัตราแรกบรรจุ หรือได้รับค่าจ้างในอัตรา 1.7 เท่าของอัตราเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ
และข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 25 ก.ย.2551 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปรับค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยในสังกัด สายวิชาการเป็น 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ และอีก 0.2 เท่าของเงินดังกล่าวใช้เป็นสวัสดิการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2551 เป็นต้นไป ซึ่งผลรวมของอัตราค่าจ้างดังกล่าว คิดเป็น 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ อันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติครม.
อย่างไรก็ดี ต่อมามหาวิทยาลัยฯได้ปรับอัตราค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 โดยมีการออกระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่งของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ซึ่งให้ประเภทวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คุณวุฒิปริญญาโท กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 15,850 บาท ขั้นสูง 39,630 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยกว่า 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ
ศาลฯเห็นว่า ระเบียบฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมติของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. และ 25 ก.ย.2551 ที่กำหนดเงินค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยในอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ คือ ขั้นต่ำ 22,950 บาท
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหักเงินค่าจ้างประมาณ 4,000 บาท เพื่อนำไปบวกให้พนักงานเก่า เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ และไม่เป็นไปตามกรอบวัตถุประสงค์ของค่าตอบแทน และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของครม. เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2555 , 1 มิ.ย.2542 ,31 ส.ค.2542 และ 19 ธ.ค.2549 ที่ให้พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างสูงกว่าเงินเดือนข้าราชการ
ดังนั้น การที่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ออกระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่งของพนักงานราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หักอัตราค่าจ้างร้อยละ 0.2 ของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุไว้สำหรับเป็นค่าสวัสดิการ เช่น เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ กองทุนสวัสดิการเพื่อประโยชน์ของพนักงานมหาวิทยาลัยที่อยู่ในสายวิชาการ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ต้องดูแลอยู่ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและนั้น
ศาลฯเห็นว่า เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ เป็นค่าตอบแทนที่อยู่ในความหมายตามระเบียบสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ว่าด้วยค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์สำหรับบุคลากร ประจำปี พ.ศ.2547 ซึ่งระเบียบข้อ 10 กำหนดให้สายวิชาการมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตำแหน่งทางวิชาการ กรณีดังกล่าวจึงเป็นสิทธิได้รับเงินตอบแทนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งนั้น มหาวิทยาลัยฯ จะต้องจัดสรรเงินมาทดแทน มิใช่นำเงินสวัสดิการมาใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ได้อยู่ในความหมายของคำว่าสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลที่บุคคลทุกรายมีสิทธิได้รับจากหน่วยงานของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเอง
ส่วนที่มีการอ้างว่าหักเงินเพื่อนำไปไว้ในกองทุนสวัสดิการนั้น ศาลฯเห็นว่า ปัจจุบันสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ออกระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ว่าด้วยสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าตรวจสุขภาพประจำปี ค่าเล่าเรียนบุตร และเงินช่วยพิเศษกรณีพนักงานมหาวิทยาลัยถึงแก่ความตายของพนักงานมหาวิทยาลัย พ.ศ.2560 และกองทุนสวัสดิการฯดังกล่าวไม่มีรายละเอียดว่ากองทุนก่อตั้งตามระเบียบ หรือข้อบังคับใด หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อพนักงานมหาวิทยาลัยในเรื่องใด หากหักเงินเข้ากองทุนฯจึงฟังไม่ขึ้น
ทั้งนี้ ศาลฯมีคำพากษาให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดี เป็นเงิน 81,090 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และให้เพิกถอนระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ว่าด้วยอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินประจำตำแหน่งของพนักงานมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) เฉพาะส่วนที่ให้ปรับเพิ่มฐานค่าจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คุณวุฒิปริญญาโทขั้นต่ำ 15,850 บาท โดยมีผลบังคับย้อนหลังถึงวันที่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับ คือ วันที่ 1 ต.ค.2555
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage