กกต.เตือน ขรก.การเมือง-ส.ส.-ส.ว.-จนท.รัฐ-คนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามช่วยหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ถ้ากดไลค์-แชร์ข้อความถือว่าผิดด้วย - ตอบ พท.-ภท.สนับสนุนผู้สมัครได้-ยกเว้น กก.บริหารฯ-ผู้ช่วย ส.ส.
...........................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563 ที่ หอประชุม อบจ.สมุทรสงคราม อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิก อบจ.สมุทรสงคราม โดยเป็นวันที่ 4 ของการรับสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ.และ สมาชิกสภา อบจ.ทั่วประเทศ
นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า ในวันที่ 6 พ.ย. จะเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร เมื่อเสร็จสิ้นการรับสมัครแล้ว ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือประจำ อบจ.ทุกจังหวัด รวบรวมรายชื่อ ตรวจสอบคุณสมบัติ และ ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครทุกท่าน แล้วจะประกาศที่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งภายใน 7 วัน หากผู้สมัครรายใดไม่มีชื่อ หรือคิดว่าตนเองไม่ผ่านคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม สามารถที่จะยื่นคำร้องต่อ กกต. ภายใน 3 วัน หลังจากที่ได้รับแจ้ง แล้ว กกต. ก็จะพิจารณาคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิ ถ้าหากผู้สมัครมีข้อโต้แย้ง สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้
นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวอีกว่า อยากจะฝากผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ช่วยหาเสียงว่านักการเมือง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ท่านไม่สามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ส่วนการหาเสียงทางออนไลน์ ผู้สมัครจะต้องมาขออนุญาตและลงทะเบียนต่อสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด ว่าท่านประสงค์ที่จะหาเสียงทางออนไลน์ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ กกต. กังวลคือ การกดไลค์กดแชร์ ของบุคคลที่ไม่สามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้ตามมาตรา 34 ถ้าหากท่านกดไลค์ กดแชร์ ท่านต้องมีความผิดทันที และผู้สมัครก็จะมีความผิดด้วย
@กกต.ตอบ พท.-ภท.สนับสนุนผู้สมัครได้-ยกเว้น กก.บริหารฯ-ผู้ช่วย ส.ส.
วันเดียวกัน รายงานข่าวจากสำนักงาน กกต. แจ้งว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. มีหนังสือตอบกลับข้อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่น กลับไปยังพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 2563 ตามที่ทั้ง 2 พรรคมีการสอบถามว่า พรรคการเมืองสามารถส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง และสามารถสนับสนุนให้สมาชิกพรรคการเมือง หรือบุคคลใดลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่
โดย กกต. ตอบกลับถึง 2 พรรคการเมืองข้างต้นว่า พรรคการเมืองสามารถส่งสมาชิกพรรค หรือสนับสนุนให้สมาชิกพรรค หรือบุคคลใดลงสมัครรับเลือกตั้งได้ หรือกรณีสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งโดยที่พรรคไม่ได้มีมติส่งสมัครในนามพรรค แต่พรรคอนุญาตให้ใช้ชื่อพรรค ภาพเครื่องหมายพรรคในการหาเสียง สามารถทำได้เช่นกัน
แต่ในส่วนของกรรมการบริหารพรรค ส.ส. หรือสมาชิกพรรค ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ หรือผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. ผู้ช่วยดำเนินงาน ส.ส. จะไปช่วยถ่ายภาพในแผ่นป้าย เอกสารอื่นใดที่ใช้ในการหาเสียงร่วมกับผู้สมัครท้องถิ่น แจกใบปลิว ขึ้นเวทีปราศรัยกับผู้สมัคร หรือสนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงให้ผู้สมัครท้องถิ่นนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถือเป็นบุคคลตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ห้ามดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด
ทั้งนี้ในส่วนข้อหารือของพรรคไทย มีการขอความชัดเจนของคำว่า ‘ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด มีความหมายและขอบเขตเพียงใด’ โดย กกต. ระบุว่า หมายถึงการกระทำตามที่คิดไว้ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด รวมทั้งยืนยันว่า กกต. จะปฏิบัติตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ อย่างเคร่งครัด หากปรากฎข้อเท็จจริงว่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
ทั้งนี้ในข้อหารือของพรรคเพื่อไทยยังได้มีการขอความชัดเจนของคำว่า “ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด มีความหมายและขอบเขตเพียงใด” ซึ่ง กกต. ก็ได้ตอบกลับไปว่า หมายถึงการกระทำตามที่คิดไว้ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด รวมทั้งยืนยันว่า กกต.จะปฏิบัติตามมาตรา34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage