นายกฯ ปัดตอบคำถามการเมือง 'อนุทิน'พร้อมสนับสนุน เชิญอดีตนายกฯ ร่วม กก.สมานฉันท์ ด้าน ‘จุรินทร์' หวังทุกฝ่ายร่วมวงหารือ ส่วน ‘วราวุธ’ ขอคุยใน ชทพ.ก่อน ขณะที่ ‘คำนูณ’ หนุน ‘ชวน’ นั่งประธาน แต่เจ้าตัวยันไม่เหมาะ ขอทำหน้าที่ประสานงาน เผยทาบทาม 4 อดีตนายกฯร่วมวง ‘สุทิน’ ย้ำฝ่ายค้านยังไม่ชัดร่วมด้วยหรือไม่ คาด 17 พ.ย.รัฐสภาถกร่างแก้ไข รธน. 7 ฉบับ
---------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 ที่ จ.ภูเก็ต โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเมือง โดยระบุว่า การเดินทางมาประชุมวันนี้จะไม่ตอบคำถามเรื่องการเมือง เพราะต้องการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนได้เห็นว่าที่ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ และวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้เพื่อต้องการสร้างความเชื่อมั่น หากเราจะเริ่มเปิดประเทศในแต่ละระยะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มากยิ่งขึ้น
@ภท.-ปชป.พร้อมหนุนตั้งกรรมการสมานฉันท์
ก่อนหน้าการประชุม ครม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะมีรูปแบบการตั้งคณะกรรมการเป็นอย่างไร ส่วนหลักคิดที่ตนเคยเสนอให้คณะกรรมการมีที่มาจาก 7 ฝ่าย ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายใดจะมีมากหรือน้อยกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาแสวงหาความเห็นให้เป็นฉันทามติตรงกัน ไม่ใช่ยกมือแข่งกัน เพราะการหาทางออกบางเรื่องใช้วิธีโหวตไม่ได้ ต้องพูดคุยเจรจา ทำความเข้าใจร่วมกัน ทั้งนี้หากประธานรัฐสภาหารือกับทุกฝ่ายแล้วเห็นว่าอะไรเหมาะสมที่สุด พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตามยังเห็นว่า ทางดีที่สุดคือทุกฝ่ายควรจะเข้าร่วมเพื่อให้เป็นความเห็นพ้องต้องกัน
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่ประธานรัฐสภาจะเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่า หากผู้ใหญ่บ้านในเมืองที่มีบารมีมาช่วยกัน มวลชนมาช่วยกันเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน
@ชทพ. รอถกในพรรคก่อน เชื่อหลายฝ่ายมีเจตนาดี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เรื่องของคณะกรรมการสมานฉันท์ยังไม่มีใครมาหารือกับพรรค หรือแม้แต่ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่ได้คุยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงขอรับฟังความคิดเห็นส่วนรวม และต้องมีการหารือกันภายในพรรคเสียก่อน รวมถึงต้องดูองค์ประกอบและเป้าหมายด้วยว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ตนเชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่หลายฝ่ายมีเจตนาดีที่อยากเห็นสถานการณ์การชุมนุมคลี่คลาย แต่ต้องรอดูก่อนว่าแนวทางใดจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและได้รับการยอมรับจากหลายๆ ฝ่าย
@‘ส.ว.คำนูณ’หนุน‘ชวน’นั่งประธาน กก.สมานฉันท์
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ คือ ผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน เคยมีประสบการณ์ตรง และมีความเข้าใจในปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้น รวมทั้งมีบารมี เป็นที่ยอมรับและเคารพนับถือจากทุกฝ่ายมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ และส่วนใหญ่จะมองไปที่อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งในนาทีนี้ตนเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมที่สุดคือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน เนื่องจากนายชวน เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย , อดีตประธานรัฐสภา 2 สมัย และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2512 มีความอาวุโสทางการเมือง ทั้งนี้ยังเป็นผู้ที่เข้าใจในการเมืองระบอบประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังเห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของนักการเมือง ไม่เคยยอมรับระบอบรัฐประหาร เข้าใจคนยากคนจน เข้าใจหัวอกของคนที่ถูกกล่าวหาอย่างเหมารวมด้วยความไม่เป็นธรรมเพราะท่านเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในยุค 6 ตุลาคม 2519 มาแล้ว
@‘ชวน’ทาบ 4 อดีตนายกฯร่วมวง ชี้ไม่เหมาะหากนั่งเก้าอี้ ปธ.เอง
วันเดียวกันนี้ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เชิญนายพรเพชร วิชิลชัย ประธานวุฒิสภา , นายสุชาติ ตันเจริญ , นายศุภชัย โพธิ์สุ รองปรานสภาผู้แทนราษฎร , นายวิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และนายสุทิน คลังแสง ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน เพื่อหารือรูปแบบโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่สถาบันพระปกเกล้านำเสนอมา 2 รูปแบบเมื่อวานนี้
นายชวน กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้รับคำชี้แจงจากนายสุทินว่า ฝ่ายค้านไม่ได้ถึงขนาดที่จะไม่เข้าร่วมในโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ต้องขอรอดูแนวทางและรูปแบบคณะกรรมการก่อน ถือว่าไม่ปฏิเสธการเข้าร่วม แต่วันนี้ที่ประชุมยังไม่ได้หารือกันว่า จะใช้รูปแบบใด โดยหลังจากนี้จะนำความเห็นทั้งหมดส่งให้เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ารับทราบอีกครั้ง ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้ตนทำหน้าที่ประธานนั้น ตนเห็นว่าไม่เหมาะ ตนควรรับภาระการประสานเพื่อให้ทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน แต่กรณีใดที่เป็นประโยชน์ตนก็ยินดีทำ
นายชวน กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ได้ติตด่อทางโทรศัพท์ถึงอดีตนายกรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วย นายอานันท์ ปันยารชุน , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดย นายอานันท์ , พล.อ.ชวลิต และนายอภิสิทธิ์ พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือ ซึ่งจากนี้จะเดินทางไปพบเป็นการส่วนตัวอีกครั้งหนึ่ง ส่วนนายสมชายยังไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพ ขอให้รอสักระยะหนึ่งก่อน และขอย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องยาวในอนาคต แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอีกเรื่อง โดยเฉพาะการชุมนุมเป็นอีกประเด็น ต้องดูพิเศษต่างหาก
@ฝ่ายค้านยังไม่สรุปเข้าร่วมด้วยหรือไม่
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านจะเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการหารือในช่วงแรกที่เชิญทุกฝ่ายมาคุยกันก่อน ถ้าทุกฝ่ายยอมรับการมีคณะกรรมการ จึงจะนำไปสู่เรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ โดยเฉพาะความเห็นจากผู้ชุมนุม หากไม่ยอมรับคณะกรรมการชุดนี้ ฝ่ายค้านคงไม่เข้าร่วมด้วย เพราะการแก้ปัญหาควรเอาผู้ชุมนุมและประชาชนเป็นตัวตั้ง และเชื่อว่าการหารือขั้นตอนแรกนี้น่าจะเกิดขึ้นไม่เกินสัปดาห์หน้า และคงเป็นการหารือกันไม่กี่คน อาจจะมีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. ผู้ชุมนุม นักวิชาการ และสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมด้วย
@คาด 17 พ.ย.รัฐสภาถกวาระแก้ไข รธน.
ส่วนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า นอกจากการหารือเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์แล้ว ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีอยู่ทั้ง 7 ฉบับ ประกอบร่างแก้ไขที่เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล 6 บับ และร่างแก้ไขฉบับประชาชนที่จัดทำโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ อีก 1 ฉบับ ทั้งนี้คาวด่าจะมีการพิจารณาในวันที่ 17 พ.ย.วันเดียวจบ แต่ถ้าไม่จบก็จะต่อเวลาไปวันที่ 18 พ.ย.ด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/