ปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ 'บิ๊กตู่' ย้ำจะทำหน้าที่นายกฯ จนกว่าจะไม่มีโอกาสได้ทำ พร้อมย้อนถาม เหตุชุมนุมทางการเมืองปี 49 และ ปี 57 มีนายกฯคนไหนลาออกหรือไม่ 'วิรัช' ชงตั้งกรรมการสมานฉันท์ เชิญทุกฝ่ายร่วมเจรจาหาข้อยุติ 'สุทิน' ห่วงผู้ชุมนุมยกระดับข้อเรียกร้อง หากนายกฯไม่ออก
---------------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2563 ในการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่สอง ที่เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. เพื่ออภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ และมีวาระสำคัญถึงการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การชุมนุม
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวปิดอภิปราย ว่า สภาแห่งนี้เป็นที่ที่สามารถหาข้อยุติบางอย่างได้ เหตุผลที่มาวันนี้ไม่ใช่พวกเรากังวลฝ่ายเดียว คนที่กังวลมากกว่าเราคือประชาชน เพื่อนสมาชิกที่เสนอความเห็นให้เปิดอภิปรายครั้งนี้ มาจากความลำบากใจที่ไม่รู้ว่าบ้านเมืองจะไปในทิศทางไหน สภาของเราจึงต้องหาทางออกที่บรรเทา ตนไม่ใช้คำว่าแก้ปัญหาทั้งหมด แต่จะบรรเทาลดปัญหาในระดับหนึ่ง ส่วนข้อเสนอที่นายวิรัชเสนอมา และนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากมาตรา 165 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่เราจะรับไปหารืออีกครั้งหนึ่งกับทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง วุฒิสมาชิกและบุคคลภายนอก ว่าเราจะดำเนินการด้วยวิธีอะไรให้เห็นผลสำเร็จจริง ๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน ได้กล่าวปิดประชุมและเลขาธิการสภาฯ อ่านพระบรมราชโองการปิดประชุมสมัยวิสามัญในเวลา 22.00 น.
@‘บิ๊กตู่’ย้อนถามชุมนุมการเมืองปี 49 และ ปี 57 นายกฯลาออกหรือไม่
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวอภิปรายในช่วงท้ายก่อนที่จะปิดการประชุมตอนหนึ่ง ว่า ประเด็นที่กล่าวหาว่าตนต้องลาออกเพราะบริหารประเทศล้มเหลว หากย้อนกลับไปปี 2549 และปี 2557 มีการชุมนุม มีใครลาออกหรือไม่ มีการกระทำความผิดหรือไม่ ตนไม่กล่าวอ้างถึงใครทั้งสิ้น แต่คนเหล่านี้ตอนนี้อยู่ที่ไหน ส่วนกรณีการชุมนุม ตนรักลูกหลานทุกคน รักเด็ก รักนิสิตนักศึกษาทุกคน นี่คือพลังของแผ่นดินในวันข้างหน้า แต่เราจะสามารถสร้างความเข้าใจกันได้หรือไม่ บทบาทอยู่ตรงไหนใครที่จะชี้นำในทางที่ถูกต้องในทางที่จะสงบ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ตนถือว่าทุกคนคือเสียงหนึ่งของประเทศไทย ตนยอมรับฟัง มีทั้งทำได้ ทำไม่ได้ ส่วนกรณีชุดนักเรียน ตนจำได้ว่า การแต่งชุดนักเรียนจะทำให้เกิดการประหยัด ไม่ต้องมีความแข่งขัน ไม่ต้องมีความแตกต่างระหว่างคนรวยคนจน ส่วนทรงผมก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเด็กนักเรียน ว่าคนเหล่านี้เวลาไปเดินพื้นที่ต่างๆ นอกเวลาเรียนจะได้ไม่ถูกทำร้าย แต่วันนี้โลกมันเปลี่ยนแล้ว ตนก็ยอมรับได้ ก็ลองคิดดูแล้วกันว่าจะทำอย่างไร ไม่อยากฟังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งข้างเดียว ทุกอย่างมีอดีตความเป็นมาทั้งสิ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อสักครู่ที่มีการกล่าวว่ามีการใช้โทรศัพท์ในการขับเคลื่อน ตนในฐานะ รมว.กลาโหม ได้รับรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบว่าในการแพร่ข้อความต่างๆ ในโทรศัพท์จะมีคนโพสต์ครั้งแรก 200 คน จากนั้นเวลาไม่กี่นาทีเพิ่มเป็น 50,000 คนจากแอคเคาท์เดิม ไม่ทราบว่าใช้เทคโนโลยีอะไร ตนอาจจะไม่ทันสมัยเท่า หรือบางแอคเคาท์แพร่ไปหลายช่องทาง แต่ตัวเลขที่ออกมาช่วงที่หนึ่ง ช่วงที่สอง ช่วงที่สามมันเท่ากันทั้งหมด มันมีเครือข่ายหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ กราบเรียนเพื่อทราบก็แล้วกัน เป็นข้อมูลที่ขอให้ช่วยตรวจสอบกันด้วย เป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้เป็นข้อมูลที่ได้จากผู้บริการทั้งหลาย ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชนใคร เป็นการใช้ระบบเอไอในการโพสต์ข้อมูลต่างๆ การที่บอกว่ารัฐบาลไปปิดกั้น ตนก็ไม่อยากปิดกั้นใคร แต่ถ้าละเมิดจนเกินไป ไม่สุภาพ ตนคิดว่าสังคมรับไม่ได้ วันนี้เห็นกันอยู่แล้วว่าสังคมก็มีปัญหา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ตนเห็นด้วยหากจะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางที่มีการพูดคุยกันในรัฐสภา 2 วันมานี้ นำไปสู่การพูดคุย หาทางออก เอาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล รัฐสภา ผู้เห็นต่าง ก็คุยกันให้รู้เรื่อง จะได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
“ขอให้ไปหามาแล้วกันว่าใครจะมาร่วม ผมกังวลอยู่ว่าจะต้องไปพูดกับใคร เจรจากับใคร เพราะไม่มีใครเป็นหัวหน้า ทุกคนเป็นหัวหน้าหมด แต่ผมคิดว่าทำได้ ส่วนข้อเรียกร้องใด ๆ ของผู้ชุมนุมที่สอดคล้องกับประชาชนคนอื่นที่ไม่ได้ออกมาชุมนุม ผมยินดีนะครับจะรับไปดำเนินการ แต่ถ้าข้อเรียกร้องใดพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ผมขอสงวนสิทธิ์ ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่านประธานรัฐสภา ท่านสมาชิก และพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ผมจะทำหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเดินหน้าอย่างเต็มความสามารถ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไป จนกว่าจะไม่มีโอกาสได้ทำ ตอบชัดหรือไม่ครับ”
@‘สุทิน’ห่วงผู้ชุมนุมยกระดับ หากนายกฯไม่ออก
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) อภิปรายปิดท้าย ว่า พรรคฝ่ายค้านสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เจรจากับผู้ชุมนุม โดยเชื่อว่าแนวทางการเจรจาไม่สายเกินไป ส่วนการลาออกจากตำแหน่งไม่ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ ส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเรียกร้องให้ลาออกได้ เพราะไม่เชื่อมั่นต่อการบริหาร หากนายกรัฐมนตรีไม่ออก สภาก็มีสิทธิปลด , ถอดถอน และประชาชนมีสิทธิ์ขับไล่
"นายกรัฐมนตรีจะออกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำประเทศจบอย่างไร เมื่อวานนี้เขาบอกชัดว่าถ้า 3 วันไม่ออกจะยกระดับ ผมไม่ได้กลัว แต่ต้องใช้สติปัญญาอย่างประณีต พวกผมไม่มีทางจะทำอะไรนอกจากเดือนหน้าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ขึ้นอยู่ว่าท่านจะทำอย่างไร แก้รัฐธรรมนูญอย่างไร จะนองเลือดหรือไม่นองเลือด แต่จะเกิดอะไรขึ้นท่านและคนที่บอกไม่ให้ออกต้องรับผิดชอบ ผมขอภาวนาให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น วันนี้นายกรัฐมนตรีควรเลือก ท่านคิดว่าท่านเสียสละ ปี 2557 บอกว่าประชาชนเป็นสองฝ่ายต้องยึดอำนาจ ตอนนี้วนกลับมาอีกแล้ว ท่านคิดจะจัดการแบบเดิม บทเรียนวันนี้สำคัญที่สุด วันนั้นเผด็จการสภาที่สร้างขึ้น จำได้เพราะคนเลือกมาเยอะ แต่วันนี้เผด็จการสภาหรือไม่ แต่ประชาชนไม่ได้เลือก ส.ว.250 คน" นายสุทิน กล่าว
@‘วิรัช’ชงตั้งกรรมการสมานฉันท์เชิญทุกฝ่ายร่วมเจรจา
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ตลอด 2 วันของการอภิปราย สิ่งที่ได้เห็นโดยสรุปคือ อยากให้นายกรัฐมนตรีลาออก อยากให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอยากปฏิรูปสถาบัน อย่างไรก็ตามวันนี้ยังไม่เห็นโจทย์ที่ชัดเจนเลยว่าคนที่เสนออยู่แห่งหนตำบลใด ทราบมาแต่ว่าคนที่ไปเดินขบวนคอยดูแต่โทรศัพท์มือถือ ฟังคำสั่งจากมือถือ ก้มหน้าดูมือถือ แสดงว่ามีคนที่อยู่ในวอร์รูมประมาณ 10-20 คน หรืออาจจะเป็น 2 แห่งแล้วก็สัง่การมาให้นั่ง เดิน หยุด ฉะนั้นจะเห็นการชุมนุมที่เป็นรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย
นายวิรัช กล่าวด้วยว่า หากพูดถึงการสลายชุมนุม ตนก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะผู้ชุมนุมทุกคนถือเป็นลูกหลานของเขา ไม่กล้าทำอะไร ขอเรียนว่าการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ครั้งนี้ มีการเตือนหลายครั้ง จนกระทั่งนับถอยหลังจึงได้ฉีดน้ำขึ้นไปข้างบนและตกลงมา ผู้ชุมนุมผู้ประท้วงก็เฮ โดนร่มก็อยู่สภาพเดิม การสลายชุมนุมวันนี้ใช้น้ำแรงดันต่ำที่ฉีดสลาย ขณะเดียวกันหากดูคลิปวีดีโอก็จะเห็นทั้งคีม ทั้งค้อนไปกระทำต่อเจ้าหน้าที่
“ผมได้คุยกับเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าผู้ชุมนุมคือลูกคือหลาน จะทำอะไรต้องคิดอยู่ตลอดว่านี่คือลูกหลาน ไม่กล้าทำอะไร มีการพูดว่ามีการใส่สี ผมก็ไปถามมาว่าสีอะไร ฉีดไปแล้วเป็นอะไรหรือไม่ ถามไปถึงโรงพยาบาลต่างๆ ว่ามีใครเข้ารับการรักษาหรือไม่ ปรากฏว่ามี 1 รายที่เยื่อตาอักเสบ แต่ถ้าถามเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหรือไม่ มีหลายรายมากเหลือเกิน” นายวิรัช กล่าว
นายวิรัช กล่าวอีกว่า ตลอดเวลามีแต่เหตุผลที่บอกว่านายกรัฐมนตรีต้องลาออก ตนก็มีเหตุผลเช่นเดียวกันว่า นายกรัฐมนตรีไม่ต้องลาออก วันนี้หากนายกรัฐมนตรีลาออก หากสภาเลือกนายกรัฐมนตรีกลับมาอีกจะว่าอย่างไร ตนขอย้ำว่า นายกรัฐมนตรีถอยมาแล้วหนึ่งก้าว ตนคิดในใจว่าอาจจะถอยหลายก้าวในการประนีประนอม ช่วงบ่ายที่ผ่านมา จึงได้เรียนต่อประธานรัฐสภาว่า ในอดีตที่ผ่านมา นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดเมื่อปี 2552 คือคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมืองที่เรียกกันสั้นๆว่า กรรมการสมานฉันท์และปรองดอง มีทั้งนักวิชาการ คู่ขัดแย้ง จึงเห็นว่าน่าจะกรรมการหนึ่งชุด และต้องมีการพูดคุยกันระหว่าง คณะรัฐมนตรี วุฒิสมาชิก ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล และหากเป็นไปได้ ก็จะเพิ่มเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย
@‘อนุชา’ถาม'บิ๊กตู่'ผิดอะไรถึงต้องไล่ออก
ก่อนหน้านี้ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายว่าสาระสำคัญในการเสนอญัตติของรัฐบาล ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและจะให้ร้ายต่อผู้ชุมนุม โดยที่ไม่มีทางตอบโต้ ระบุว่า ตนขอยืนยันว่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีมีเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างยิ่งที่ต้องการแก้ไขปัญหาประเทศผ่านรัฐสภา การเสนอญัตติที่เขียนมานั้นเป็นการบรรยายถึงปัญหาถึงที่เกิดขึ้นของประเทศไทย ณ เวลานั้นคร่าวๆ มีข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมอยู่ในญัตติดังกล่าวด้วย และเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาก็จะมีความสามารถในการอภิปรายได้อย่างสร้างสรรค์ จะเห็นได้ว่าการอภิปรายแทบไม่มีการกล่าวร้ายให้ถึงผู้ชุมนุมโดยไม่จำเป็นแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามพรรคร่วมฝ่ายค้านมีแต่กล่าวโจมตีอีกฝ่ายโดยที่ไม่พูดถึงหนทางแก้ไขที่เป็นไปได้เลย
นายอนุชา ยืนยันว่า ในระบอบประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ เคารพความเห็นต่างได้ แต่ต้องไม่ใช่ความเห็นต่างที่นำไปสู่ความแตกแยก หรือนำไปบังคับขู่เข็ญ เพราะยังมีสังคมอีกส่วนหนึ่งก็เห็นต่างเช่นกัน ส่วนประเด็นที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ตนเห็นว่านายกรัฐมนตรีห้ามลาออก เพราะหากลาออกจะเท่ากับทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งต้องอยู่ครบ 4 ปีตามรัฐธรรมนูญ
“ท่านนายกรัฐมนตรีทำอะไรผิดหรือครับ ผิดกฎหมายข้อไหน ท่านผิดทำผิดรัฐธรรมนูญข้อไหน บริหารราชการบ้านเมืองผิดตรงไหน แต่ผมมาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้” นายอนุชา กล่าว
@'วิสาร' ส.ส.เพื่อไทยกรีดแขนประท้วงนายกฯ
เมื่อเวลา 17.45 น.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย ได้ถอดเสื้อสูท พร้อมถลกแขนเสื้อขณะที่กำลังอภิปราย พร้อมกับพูดว่า “ผมเป็น ส.ส.มาตั้งแต่ปี 2529 ผมรักสภา มิบังอาจทำอะไรให้สภาเสื่อมเสีย แต่วันนี้ผมคิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ผมไม่อยากให้เด็ก ๆ ต้องเลือดตกยางออก สิ่งที่ผมเรียกร้องอาจผิดข้อบังคับสภา แต่ผมต้องทำ ท่านประธานครับ ผมขออนุญาตกรีดเลือดให้ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นว่าผมตั้งใจจริง ๆ และขอให้เป็นตัวอย่างสุดท้าย 3 แผลเอาไปเลยครับ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิสาร ได้นำมีดปอกผลไม้ขึ้นมากรีดแขนตัวเอง 3 ครั้ง ก่อนถูกนำตัวออกนอกห้องประชุม โดยประธานรัฐสภาแจ้งว่า ได้ส่งนายวิสารไปโรงพยาบาลวชิระแล้ว
ก่อนหน้านี้ นายวิสาร ได้อภิปรายว่า นับตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 เราเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการเรียกร้องชุมนุมของนิสิตนักศึกษาและประชาชนจนถึงวันนี้รวม 39 วัน แต่รัฐใช้วิธีปราบปรามอย่างใช้มนุษยธรรม คุกคามจับกุมคุมขัง บังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเพราะการแก้ปัญหาผิด ๆ ขณะที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะใช้เวทีรัฐสภาในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แล้วประชาชนจะเชื่อหรือไม่ และตนเป็นห่วงว่าไม่อยากให้เกิดความรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์ชุมนุมเหมือนในอดีต ทั้งนี้ยังเห็นว่าปัญหาอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพียงผู้เดียว
ด้าน น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย บุตรสาวของนายวิสาร เปิดเผยว่า ได้รับทราบจากเพื่อน ส.ส.ทั้งจากพรรคเพื่อไทยและต่างพรรค รวมถึงผู้สื่อข่าว ซึ่งตนกำลังลงพื้นที่อยู่พอดี ก็รู้สึกงงๆ และตกใจ ตอนแรกไม่เชื่อว่าคุณพ่อจะทำอย่างนั้น ปกติคุณพ่อเป็นคนนิ่งๆ แต่ก็ทราบข่าวคุณพ่อได้รับการรักษาแล้ว โดยเย็บแผลรวม 9 เข็ม ตอนนี้ปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตามเห็นจากบาดแผล คุณพ่อน่าจะอึดอัดใจมากจริงๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่พูดว่า ขอให้เป็นเหลือดหยดสุดท้าย ซึ่งคุณพ่อติดตามสถานการณ์และสอบถามถึงการชุมนุมของนักศึกษาอยู่ตลอด
@ส.ว.วันชัย ชูปรองดอง ชงล้างโทษการเมือง
ขณะที่เมื่อเวลา 15.30 น. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปรายว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีแถลงยอมกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการชี้แจงของนายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรีที่ระบุว่ารัฐบาลกำลังจะรีบเสนอกฎหมายที่เหมาะสม ทำให้บรรยากาศของสภาที่อึมครึ้ม ทั้งในสภาและนอกสภาก็ถูกคลายล็อกไปได้ทันที เพราะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีเป็นส่วนสำคัญในการนำเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นทางเข้าของปัญหาและเป็นทางออกของปัญหานี้ด้วย
นายวันชัย กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์อยู่ตอนหนึ่งว่าเราควรหันหน้ากับมาปรองดองกัน เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สิ่งที่นายกรัฐมนตรีพูดนี้ หากเกิดได้จริงตามที่ท่านพูดเชื่อเหลือเกินว่าความสงบเรียบร้อย รวมไปถึงความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะความสามัคคีของคนไทยเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่หากคน นประเทศแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประเทศจะเกิดหายนะแน่นอน
“ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองที่มาจากนักการทหาร เร่งสร้างความปรองดอง ด้วยการล้างโทษของนักโทษทางการเมืองกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะเป็นจุดหนึ่งที่จะสร้างเมตตาธรรมช่วยทำให้ประเทศชาติเกิดความสงบขึ้นและความปรองดองได้ และบ้านเมืองก็จะเริ่มเดินหน้าได้ ด้วยนายกรัฐมนตรีท่านนี้” นายวันชัย กล่าว
@ก้าวไกลจี้'บิ๊กตู่'เสียสละ-พปชร.ซัดนักการเมืองฝังชิพคนรุ่นใหม่
ก่อนหน้านี้โดยเมื่อเวลา 11.20 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.ก้าวไกล กล่าวว่า ความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติในสังคม และไม่สามารถบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันคงเป็นไปไม่ได้ และเราไม่สามารถไล่หรือกำจัดคนเห็นต่างออกจากชีวิตของเราได้ ดังนั้นท่าทีของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญมาก และควรใช้วิธีตามระบอบประชาธิปไตย ใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ไขปัญหา เปิดโอกาสให้คนคิดต่างมีพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนเหตุผลอย่างมีวุฒิภาวะ ซึ่งจะทำให้แต่ละฝ่ายลดความหวาดระแวงลง และมองเห็นเจตนาของอีกฝ่ายมากขึ้น
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนพูด เพราะไม่ฟังเสียงประชาชน เหิมเกริมยืนยันว่าตนเองไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ทำให้ปัญหาลุกลามเป็นไฟลามทุ่ง อีกทั้งยังพบความพยายามในการปิดกั้นสื่อ แต่โชคดีที่ทำไม่สำเร็จ และที่ให้อภัยไม่ได้คือการผลิตซ้ำเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 ที่เอาประเด็นอ่อนไหวมายุยงให้คนเกลียดขังกัน รวมถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่แยกราชประสงค์เมื่อปี 2553 สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่บอกตัวเองซ้ำ ๆว่า ผู้ชุมนุมมีคนอยู่เบื้องหลัง คิดดูถูกประชาชน ใช้มุขเดิม ๆ สร้างปีศาจให้อีกฝ่ายเป็นศัตรู และใช้กฎหมายจัดการคนคิดต่างอย่างเลือกปฏิบัติ
“วันนี้ขอเรียกร้อง ให้นายกรัฐมนตรีเสียสละลาออกจากตำแหน่ง พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัว และเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เป็นอิสระจากกลไกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้เข้ามาขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้กลไกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) ที่มาจากการเลือกตั้ง จากนั้นเมื่อแก้ รธน.เสร็จ ก็ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ถ้าไม่ได้เพ่งโทษ มองเจตนาที่ดีก็คือการปรับปรุงให้ดีขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใหญ่หรือนักวิชาการหลายท่าน เสนอแนวทางปฏิรูปสถาบันที่แตกต่างจากผู้ชุมนุม ถือเป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันได้ด้วยเหตุด้วยผล ลดความหวาดระแวงต่อกัน ตนเชื่อว่า ความขัดแย้งยังมีหนทางที่จะคลี่คลายได้ และรัฐบาลต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการพูดคุยกัน
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.พลังประชารัฐ กล่าวว่า เมื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุม จะพบ 3 ปัจจัยที่มีคววามสำคัญคือ 1.โซเชียลมีเดีย ที่ถูกนำข้อมูลไปใช้อย่างบิดเบือน สร้างความเกลียดชัง 2.เงินทุน ทุกความเคลื่อนไหวของมวลชนต้องใช้เงิน ไม่มีเงินเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องตรวจสอบว่าเงินมาจากไหน มาจากต่างชาติหรือไม่ และ 3.นักการเมือง ที่มีบางกลุ่มใช้กระแสเรื่องนี้เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ
“ผมไม่เคยโกรธเกลียดเยาวชนรุ่นใหม่ เขารักชาติบ้านเมือง เขาออกมาต่อสู้เพราะเขายากลำบาก หลายคนเรียนจบไม่มีงานทำ หลายคนมีงานทำแต่ไม่พอกิน มองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง วันนี้มีนักการเมืองไปหลอกเขา ไปฝังชิพให้เขาว่า ชีวิตจะมีอนาคตได้ ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักการเมืองคนไหน ผมไม่ทราบ แต่คนไทยทั้งประเทศรู้” นายชัยวุฒิ กล่าว
นายชัยวุฒิ กล่าวด้วยว่า ทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นคือสิ่งที่รัฐบาลต้องตัดให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ ไม่มีวันชนะ แต่ถ้าตัดไม่ได้ตนก็มีทางออก 5 ข้อ ที่จะเสนอ ดังนี้ 1.นายกรัฐมนตรีลาออก ยอมแพ้ นำไปสู่การตั้งรัฐบาลใหม่ แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะไม่มั่นคง เพราะเกิดปัญหาทุจริต ปัญหาการแก่งแย่งอำนาจระหว่างพรรค จนทำให้ผู้ชุมนุมออกมาเคลื่อนไหวอีก 2.ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนไปเลือกตั้งใหม่ ถ้าสมมติให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปสับสนุนพรรคการเมืองที่เขาเห็นด้วย ได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลสำเร็จ ถึงเวลาก็จะมีคนอีกกลุ่มออกมาประท้วงท่าน ปัญหาไม่จบ และถ้ารัฐบาลเดิมชนะเลือกตั้ง ก็อยู่ในกติกาเดิม ปัญหาเดิม สุดท้ายทำได้แค่ซื้อเวลาไปอีก 3-6 เดือนเท่านั้น
3.ยึดอำนาจ นายกรัฐมนตรีทำได้ แต่ก็จะอยู่ได้ไม่นาน เหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต 4.ทำประชามติ ถามประชาชน อยากเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ก็อาจเป็นทางออกได้ และ 5.ไม่ต้องทำอะไร ทนอยู่กันไปแบบนี้ หลายครั้งสถานการณ์จบแบบไม่ต้องทำอะไรเลย ก็กลายเป็นทางออกที่ดีที่สุด และใช้ความอดทน ทำความเข้าใจกันไป เพื่อดึงแนวร่วมออกมา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage