เปิดประชุมสภาวิสามัญถกสถานการณ์ชุมนุม ‘ชวน’ ย้ำห้ามพาดพิงสถาบันฯโดยไม่จำเป็น ‘ประยุทธ์’ ลั่นหากยุบสภา ครม.-ส.ส.พ้นด้วย ต้องการแบบนี้หรือไม่ 'วิษณุ'เปิดไทม์ไลน์แก้ รธน. รับไม่ทราบจริง ๆ'ปฏิรูปสถาบันฯ'หมายถึงอะไร เล็งใช้ช่องประชามติให้'บิ๊กตู่'อยู่ต่อหรือไม่- หลังฝ่ายค้านระดมพลไล่บี้นายกฯลาออก - ส.ว.พร้อมโหวตรับหลักการแก้ รธน.
..........................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ประจำปี 2563 โดยเป็นการประชุมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ มีวาระสำคัญคือการพิจารณาสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม เบื้องต้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ที่มาเกิดจากการหารือกันภายในอย่างไม่เป็นทางการ ท่ามกลางสถานการณ์ประชาชนมีความกังวลห่วงใยบ้านเมือง แม้บทบาทเป็นของฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ มีส่วนใดสนับสนุนการแก้ไขปัญหา คลายกังวลประชาชนได้บ้าง สมควรจะทำ แม้ว่าสมัยประชุมจะเปิดในเวลาอันใกล้คือ 1 พ.ย. 2563 ก็ตาม ความเห็นร่วมกันควรเสนอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ในที่สุดความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ แต่เป็นเสียงส่วนใหญ่ ในที่สุดทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ถึงความเห็นไม่เป็นทางการในเรื่องนี้ กราบเรียนประธานวุฒิสภาให้ทราบ จนนำมาสู่การเปิดสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้
“เป้าหมายเพื่อมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษากับรัฐบาล เพื่อบรรเทาปัญหา เราไม่ได้ตั้งใจจะสร้างปัญหา หรือเพิ่มปัญหา หรือเพิ่มความกังวลให้ประชาชน” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวด้วยว่า การประชุมสภาครั้งนี้มีการถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา และช่อง 11 โดยเอกสิทธิ์การกล่าวข้อเท็จจริงจะไม่คุ้มครอง เนื่องจากมีการถ่ายทอดนอกบริเวณรัฐสภา หากมีการละเมิดสิทธิอาญา หรือทางแพ่ง สำหรับการอภิปรายทั่วไป ขอให้ปฏิบัติตามข้อบังคับข้อที่ 45 ในการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่ปรึกษากันอยู่ ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซาก และห้ามนำเอกสารใดมาอ่านในที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่จำเป็น ห้ามนำวัตถุใดมาแสดงในที่ประชุม เว้นแต่ประธานจะอนุญาต ห้ามผู้อภิปรายแสดงกริยาวาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย เสียดสีบุคคลอื่น และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเอ่ยชื่อสมาชิกรัฐสภาโดยไม่จำเป็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายดังกล่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ หนึ่ง กลุ่ม ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ที่พยายามอภิปรายถึงเหตุการณ์ม็อบล้อมขบวนเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 สอง กลุ่ม ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่พยายามแก้ต่างกรณีเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2563 และยืนยันว่าไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีเส้นทางขบวนเสด็จฯ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ตามข้อเสนอ 1 ใน 3 ข้อของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลา 20.25 น. ประธานรัฐสภา ได้สั่งปิดประชุม หลังจาก ส.ส. และ ส.ว.จำนวนกว่า 40 คนได้สลับสับเปลี่ยนกันอภิปรายนานกว่า 10 ชั่วโมง โดยประธานรัฐสภาได้นัดหมายประชุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 27 ต.ค. เวลา 09.30 น. โดยภาพรวมบรรยกาศวันนี้เป็นไปอย่างราบรื่น
@นายกฯเผยหากลาออก ครม.-ส.ส.พ้นตำแหน่งยกกระบิ-เปรยต้องการหรือไม่
ก่อนหน้านี้เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวตอบการอภิปรายของ ส.ส. และ ส.ว. ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจทุกเรื่อง แต่มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมาย และศึกษารัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่าถ้านายกรัฐมนตรีลาออก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) โดยนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจะต้องรักษาการจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะปฏิบัติหน้าที่ และที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยต้องใช้เสียงของ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา
“ไม่แน่ใจว่าพวกท่านที่อยู่ในที่นี้ต้องการหรือไม่ ตรงนี้เป็นแนวทางการปฏิบัติ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
@'วิษณุ'เปิดไทม์ไลน์แก้ รธน.-เผยร่างฉบับไอลอว์อยู่ระหว่างตรวจสอบรายชื่อ
เมื่อเวลา 15.50 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมมีอยู่ประมาณ 6-7 ข้อ เช่น เรียกร้องอิสรภาพให้ฮ่องกง เรียกร้องขอให้เปิดรัฐสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งก็ได้เปิดแล้ว นอกจากนี้ยังขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และขอให้เร่งดำเนินการเแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว โดย 6 ฉบับที่ค้างอยู่ ความจริงก็ควรจะพิจารณาตั้งแต่วันที่ 1-2 พ.ย. แต่ก็ต้องเข้าใจว่าร่างฉบับไอลอว์อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายชื่อ เสร็จเมื่อไหร่ก็ขึ้นอยู่ที่ความกรุณาของประธานรัฐสภาจะสั่งบรรจุวาระพิจารณาในคราวเดียวกันหรือไม่ก็แล้วแต่
“เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ก่อนประชุม ครม. นายกฯได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค และรัฐมนตรี 10 กว่าคน หารือว่าร่างรัฐธรรมนูญควรเดินหน้าต่อไปโดยเร็ว มีคนถามว่าจะส่งสัญญาณไปถึง ส.ว. และฝ่ายค้านอย่างไรได้บ้าง นายกฯก็บอกว่าสัญญาณก็ไปอยู่ดี แต่ถ้าจะเรียกหรือเชิญคงไม่เหมาะสม และความจริงสื่อมวลชนหลายที่เสนอไปแล้วว่า นายกฯได้ส่งสัญญาณอย่างไรไปยังพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ นายกฯได้ให้ผมทำไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าตามกฏหมายจะเดินอย่างไร นับแต่ที่เปิดสภาสมัยที่สอง ส่วนเหตุแทรกซ้อนไม่อาจคาดคิด เมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือน พ.ย. ก็รับหลักการวาระที่หนึ่ง ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ส่วนสภาจะตั้งกมธ.เต็มสภาหรือไม่ก็แล้วแต่” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เมื่อตั้ง กมธ. อาจตั้งเต็มสภาเพื่อเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่ง กมธ.พิจารณาไม่เกิน45 คน ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.เท่านั้น เสร็จแล้วต้องทิ้งไว้ 15 วัน ก็คงจะในช่วงเดือน ธ.ค. เชื่อว่าสามวาระ น่าจะเสร็จสิ้นได้ แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้อยู่ดี เพราะต้องมีการออกเสียงประชามติ โดยต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติฯ โดยร่าง พ.ร.บ.ที่ กกต.ร่าง และส่งมาเมื่อเช้า ทราบว่ามีการตรวจเสร็จสิ้นทุกมาตราแล้ว น่าจะส่งเข้าสภาได้ในสัปดาห์หน้า โดยจะขอพิจารณาร่วมสองสภา ซึ่งจะเร่งรัดตัดขั้นตอนไปได้ คงใช้เวลาช่วงเดือน พ.ย.คู่ขนานไปกับพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นนำร่างกฏหมายออกเสียงที่สภาเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงมีเวลาพิจารณา 90 วัน แล้วแต่พระมหากรุณาโปรดเกล้าลงมาเมื่อไหร่ จากนั้นจึงเอาร่างรัฐธรรมนูญไปสู่การทำประชามติ แต่หากมีการตั้งสสร.ก็ต้องดำเนินการคัดเลือกแล้ว รูปแบบจะอย่างไรก็แล้วแต่ กมธ.จะพิจารณาในวาระ2
@รับไม่ทราบจริง ๆ'ปฏิรูปสถาบันฯ'หมายถึงอะไร
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอ 3 ข้อที่ยังไม่มีการดำเนินการ คือ การลาออกของนายกฯ การยุบสภา และการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งการปฏิรูปสถาบันรัฐบาลไม่ทราบและไม่เข้าใจจริง ๆ ว่าหมายถึงอะไร จึงอยากฟังการอภิปรายของสมาชิกให้ชัดเจน ส่วนการยุบสภานั้นมีการพิจารณาเหมือนกัน แต่สภามีความผิดอะไรถึงจะยุบ เพราะจะต้องเกิดจากความขัดแย้งอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาถึงจะยุบสภาได้ แต่ถ้าเป็นความประสงค์และเจตนาร่วมจากหลายฝ่าย นายกฯคงต้องหารือผู้เกี่ยวข้องต่อไป
@เล็งใช้ช่องประชามติให้'บิ๊กตู่'อยู่ต่อหรือไม่
ส่วนประเด็นนายกฯลาออกนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายได้ทำข้อเสนอมาว่าหากลาออกแล้วจะหานายกฯคนใหม่จากขั้นตอนใด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 มีเงื่อนไขว่านายกฯคนใหม่ต้องมาจากรายชื่อที่เสนอเอาไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้ง ขณะนี้มีอยู่ 5 คน จากเดิม 7 คนโดยตัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ ออกไป แต่คนที่จะมาเป็นนายกฯจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อเช้าประธานได้รายงานว่าที่ประชุมมีสิทธิ์ออกเสียงได้ 732 คน ซึ่งกึ่งหนึ่ง ก็คือ 366 เสียง ต่อให้สว.งดออกเสียงทั้งหมดตามที่หลายคนเรียกร้อง ก็ต้องหากันมาให้ได้ 366 เสียง หากไม่ได้ก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นข้อกฎหมายว่า หากถึงทางตันแล้วจะทำอย่างไร
“หลายคนเสนอว่าขอให้พรรคพลังประชารัฐเทเสียงให้พรรคร่วมค้านยกใครขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องคำนึงเรื่องสิทธิของแต่ละฝ่ายด้วย เพราะนายกฯก็ได้รับเสียงเรียกร้องเหมือนกันว่าอย่าออก ก็ต้องพิจารณาว่าจะอย่างไรต่อไป ส่วนอีกข้อเสนอที่ทั้งสามฝ่ายเสนอมาในที่ประชุม คือการทำประชามติถามประชาชน ก็ต้องถามว่าจะถามอย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา166 บัญญัติห้ามทำประชามติออกเสียงเรื่องตัวบุคคล แต่หากจะหาช่องทางอื่นที่แยบคายและแนบเนียนก็น่าจะพิจารณาได้ โดยนายกฯก็คงจะมีการนำเรียนต่อประธานสภาในตอนท้ายว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร” นายวิษณุ กล่าว
@‘สมชาย’ชู 9 ข้อเสนอฝ่าวิกฤติประเทศ
เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์ชุมนุมพบว่า มีมวลชนพรรคการเมืองไปร่วมด้วยพอสมควร ไม่ใช่มีแค่นักเรียน นักศึกษา สาเหตุปัญหาไม่ใช่แค่นายกฯ รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันฯ แต่ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากนักการเมืองที่นำความขัดแย้งส่งต่อให้ลูกหลาน การชุมนุมมีคำปราศรัยที่รุนแรง ก้าวล่วงไกลเกินกว่าจะรับได้ โดยจากการตรวจสอบการชุมนุมพบว่า มีการปิดล้อมขบวนเสด็จจริง ทั้งที่เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเสด็จปกติ เพื่อขึ้นทางด่วนไปทอดกฐินที่วัดราชโอรส ขบวนเสด็จออกมาก็เจอมวลชน ทุกม็อบเวลาเจอขบวนเสด็จฯจะเปิดเส้นทาง ถวายความจงรัก ภักดี แต่ครั้งนี้มีการประกาศว่า ขบวนเสด็จมาให้ชู 3นิ้ว ไม่อยากให้บิดเบือนในโลกโซเชียลว่า ตั้งใจนำขบวนเสด็จมาผ่านมวลชน สิ่งเหล่านี้รัฐสภาต้องหาทางออกไม่ให้เกิดขึ้นอีก
นายสมชาย กล่าวมีข้อเสนอ 9 ข้อเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ใช้ไม้นวมไม้แข็งดูแลความขัดแย้งอย่างเหมาะสม 2.รัฐบาลต้องชี้แจงองค์ระหว่างประเทศเรื่องการแก้ปัญหาให้ดีกว่านี้ 3.ตั้งทีมจัดการข่าวปลอมเชิงรุกอย่างรวดเร็ว 4.ส.ส.และส.ว.ต้องร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ 5.ให้รัฐบาลเปิดเวทีกลาง เช่น มหาวิทยาลัย สนามกีฬาแห่งชาติ ให้ผู้ชุมนุมได้เสนอความเห็นตามเสรีภาพ แทนการชุมนุมบนถนน 6.การเปิดเวทีเจรจา แม้จะยากแต่ต้องทำ 7.การปฏิรูปสถาบันเป็นข้อเสนอสุดโต่ง 8.นายกฯไม่ควรลาออก เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหา 9.หากการดำเนินการข้อ1-8 แล้ว ไม่สามารถเป็นทางออกได้ ให้ใช้วิธีออกเสียงประชามติแก้ปัญหา
@ส.ว.รับหารือกันแล้วบางส่วนต้องแก้ รธน.-เตรียมโหวตรับหลักการวาระ 1
ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ส.ว. กล่าวตอนหนึ่งว่า ทางออกจากวิกฤติครั้งนี้ ต้องหันมาแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ถึงจะมีข้อดี แต่มีจุดด้อยต้องแก้ไข ไม่แปลกถ้ามีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี ส.ว.บางส่วนคุยกันแล้วเห็นว่า ควรโหวตรับหลักการแก้รัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 1 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง
นพ.อำพล กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ ส.ว.คิดมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิดวันนี้ และเห็นว่า รัฐสภาควรเห็นชอบการตั้ง ส.ส.ร. พื่อไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย นอกจากการตั้งส.ส.ร.แล้ว ควรตั้งคณะกรรมการคู่ขนานไปกับส.ส.ร.เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน นำข้อเสนอดี ๆ ไปอยู่ในเนื้อหาการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน หาสมดุลใหม่ เป็นสังคมที่แก้ปัญหาด้วยสันติ
@‘ไพบูลย์’เรียกร้องให้ ‘บิ๊กตู่’อยู่ต่อ-ชี้ใครมุ่งปฏิรูปสถาบันฯเข้าข่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย
เมื่อเวลา 10.45 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. กล่าวว่า การชุมนุมที่มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์มีมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงขนาดกระทำการขัดขวางรุมล้อมตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายใส่ขบวนเสด็จ การกระทำของผู้ชุมนุมถือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเป้าหมายหลักต้องการปฏิรูปสถาบัน แกนนำผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก เพื่อให้การปกป้องประเทศชาติอ่อนแอลงจนนำไปสู่การรุกคืบต่อการปฏิรูป ตนจึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต่อไป ขอให้ให้บริหารประเทศด้วยความมั่นคง และเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อย่าไปลาออกตามฝ่ายที่เรียกร้องซึ่งมีคนเพียงไม่กี่หมื่นคน ท่านต้องคำนึงถึงเสียงประชาชน 8.4 ล้านคน ที่เลือกท่านมาเป็นนายกฯ
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสถาบันหลายมาตรา และที่ชัดเจนคือการเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ไม่ได้กำหนดห้ามผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อเปิดช่องให้แกนนำเครือข่ายผู้ชุมนุม อดีตผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ร. การเรียกร้องให้นายกฯลาออก เพื่อนำไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญที่มุ่งไปสู่การปฏิรูปสถาบัน ซึ่งหากปรากฎว่าพรรคการเมืองใด ผู้บริหารพรรคการเมืองใด หรือส.ส.ของพรรคการเมืองใด ไปเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปสถาบัน หรือเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสถาบัน จะเข้าข่ายสนับสนุนการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งเป็นคดีอาญา
“ผมมั่นใจว่าประชาชนเสียงข้างมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ จะไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่จาบจ้วงสถาบันที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะมีการออกเสียงประชามติหรือไม่ แกนนำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันในขณะนี้ย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศอยู่แล้ว ในที่สุดจะพ่ายแพ้ไปอย่างแน่นอนในเร็ววันนี้ ผมขอให้ประชาชนอีกกว่า 60 ล้านคน ออกมาพิทักษ์ รักษาชาติ ศาสนา และสถาบัน ให้จงได้” นายไพบูลย์ กล่าว
@‘จุรินทร์’ชี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดเงื่อนไข-ชักฟืนออกจากกองไฟ
ต่อมา เมื่อเวลา 11.20 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพขอเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยเขาทำกัน เพื่อจะได้ให้รัฐสภาเป็นเวทีในการหาทางออกให้กับประเทศ การเปิดประชุมสมัยวิสามัญครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่สร้างเวทีโจมตีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ให้รัฐสภาเป็นที่พึ่ง เป็นเวทีสะท้อนความคิดเห็น และเป็นเวทีในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศอย่างแท้จริง เพื่อพิสูจน์ว่าเราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาได้ เพราะการใช้เวทีอื่นอาจก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงได้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นตลอดการพิจารณา 2 วันนี้คือ ต้องการเห็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความจริงใจ และไม่ซ้ำเติมสถานการณ์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกันลดเงื่อนไขที่เป็นปมแห่งความขัดแย้ง ต้องช่วยกันชักฟืนออกจากกองไฟ ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ควรนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 1 ทันทีที่สามารถทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติมจนสังคมเข้าใจว่าเป็นการยื้อเวลา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา และก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำประชามติเพิ่มเติมก่อนรับหลักการในวาระที่ 1 จนสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องการยื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ผมขอเสนอให้วิป 3 ฝ่าย ทั้งวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา หาคำตอบร่วมกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจะพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุในวาระไปก่อน หรือรอร่างของไอลอว์ที่ได้ชื่อว่าร่างของประชาชน หากเราพิจารณา 6 ร่างที่บรรจุวาระไปก่อนอาจถูกกล่าวหาได้ว่าต้องการทิ้งร่างของประชาชนหรือไม่ แต่ถ้ารอร่างของไอลอว์บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมก่อน ก็ต้องรออย่างน้อยหลังวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เพราะต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งอาจถูกครหาว่ารอเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่วิป 3 ฝ่ายควรหาทางร่วมกัน เพื่อทำให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความราบรื่น” นายจุรินทร์ กล่าว
@ชูข้อเสนอ 3 ข้อหาทางออกของประเทศร่วมกัน
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาวันนี้ควรมีข้อยุติและมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การหาทางออกของประเทศร่วมกัน อยากเห็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยถือหลัก 3 ข้อคือ 1.องค์ประกอบนั้นต้องมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนของรัฐบาล ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ฝ่ายที่เห็นต่างกับผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น 2.ให้คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ในการแสวงหาคำตอบที่เป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมให้กับประเทศ เน้นรูปแบบการจับเข่าคุยกันอย่างสร้างสรรค์ อาจต้องถอยคนละก้าวหรือคนละสองก้าวเพื่อมุ่งหาคำตอบและทางออกให้กับประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และ 3.ขอให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถ้าหากทำได้ อย่างน้อยที่สุดสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง เพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นแสงสว่างแห่งความหวังถูกจุดขึ้นตรงปลายอุโมงค์โดยรัฐสภา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบอบประชาธิปไตยของเรา
@ปธ.วิปรัฐบาลเปิดไทม์ไลน์การประชุม
อนึ่ง ในช่วงเช้า นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า จากการหารือของตัวแทน 4 ฝ่าย ได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2.ฝ่ายค้าน 3.ฝ่ายรัฐบาล และ 4.วุฒิสมาชิก ได้ข้อสรุปกำหนดเวลาเบื้องต้นในส่วนญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ จะใช้เวลาทั้งหมดรวมแล้วประมาณ 12 ชั่วโมง 30 นาที โดยคณะรัฐมนตรี มีเวลาในการตอบและชี้แจง 5 ชั่วโมง ส่วนสมาชิกฝ่ายค้านเสนอข้อแนะนำ 8 ชั่วโมง สมาชิกฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง และ ส.ว. 5 ชั่วโมง มีเวลาประมาณ 25 ชั่วโมง คาดว่าจบเวลา 22.30 น.
“ส่วนในวันที่ 27 ต.ค. 2563 เริ่ม 09.30 น. ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะครบกำหนดเวลา แต่วันเวลาช่วงนี้อาจเลตบ้าง ต้องขออภัย อาจเลยเวลา เกิน 22.30 น. เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในวันพรุ่งนี้ (27 ต.ค. 2563) ถ้าเริ่ม 09.30 น. ต้องมาแต่เช้าเพื่อเซ็นชื่ออีกครั้ง แต่ต้องดูกันหน้างานอีกรอบว่า ถ้าการอภิปรายติดพันหรือตกค้าง อาจข้ามไปเที่ยงคืน พรุ่งนี้ได้อภิปรายได้ต่อ” นายวิรัช กล่าว
@เผยต้องระวังในการบริหารแผ่นดิน-ไม่ขอกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 63
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีผู้ป่วยติดเชื้อ มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลายภูมิภาค ไทยมีการตรวจสอบพบพื้นที่ควบคุมของรัฐ แต่เราควบคุมได้ในระดับน่าพอใจ ขณะเดียวกันช่วงเวลานี้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ที่ประสงค์ลงทุนด้านธุรกิจ ลักษณะเช่นนี้ รวมถึงการท่องเที่ยว แข่งขันกีฬา ใช้บริการสาธารณสุขในไทย เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส รัฐบาลหามาตรการผ่อนปรนดังกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันทราบดีอยู่แล้วว่ามีสถานการณ์ชุมนุมเกิดขึ้นทางการเมือง ทั้งใน กทม. และพื้นที่ต่างจังหวัด มีลักษณะแออัดประชิดตัวบ่อยครั้ง อาจเป็นปัญหาด้านสุขภาพต่อไป และช่วงเวลานี้ทราบดีอยู่แล้วว่า สมาชิกทราบดีอยู่แล้วว่า มีปัญหาอุทกภัย แสนสาหัสเช่นเดียวกันประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก
“สถานการณ์เช่นนี้ต้องระมัดระวังบริหารราชการแผ่นดิน ลดปัญหาความขัดแย้ง เดินหน้าเศรษฐกิจด้วยกัน หลายอย่างก้าวหน้าดีขึ้นตามลำดับ ต้องสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ และต่างประเทศ ทุกคนติดตามรับฟัง ติดตามข้อมูลแต่ละประเทศได้ตามสื่อต่าง ๆ ทั่วไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ชุมนุมที่มีต่อเนื่อง ตั้งแต่ 14 ต.ค. 2563 ทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่กล่าวในที่นี้ ไม่สมควรจะเกิดขึ้น ในส่วนการชุมนุม มีการชุมนุมพักค้างคืนบ้าง หรือมีกำหนดเวลาอยู่บ้าง เรื่องนี้ส่อให้เห็นว่าอาจยืดเยื้อ เกรงว่าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และอาจมีผู้ฉวยโอกาสแทรกซึม เหตุการณ์นี้เคยเกิดในประวัติศาสตร์แล้ว โดยเฉพาะก่อนปี 2557 รัฐบาลอาศัยอำนาจมาตรา 5, 11 คณะรัฐมนตรีออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีประกาศตั้งแต่ 15 ต.ค. 2563 โดยคณะรัฐมนตรีรับทราบเห็นชอบ เป็นเวลา 30 วัน แต่ต่อมารัฐบาลดูถึงสถานการณ์ ดูความเหมาะสมได้มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์นี้ไปแล้ว จากสถานการณ์ดังกล่าวเรื่องการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาลพยายามดูแลสถานการณ์ให้ดีที่สุด มีการใช้กฎหมายทุกประการในลักษณะอะลุ้มอล่วย ผ่อนผัน ไม่ว่าการห้ามปราม พยายามเตือน หยุดยั้ง ชี้แจงข้อกฎหมายต่าง ๆ แล้วก็ตาม การชุมนุมยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่อง
@ไม่อยากเห็นการปะทะ-เกิดจราจล
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราได้พยายามหยุดยั้งการชุมนุม มีเสรีภาพ การคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ ต้องควบคุมการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เป็นข้องดเว้นใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 44 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ เรายังเห็นอยู่ว่ามีการชุมนุมอยู่เกือบทุกวัน มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย ดิจิตอลเข้ามาเพื่อให้มีการชุมนุมต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ 3 ข้อเรียกร้องต่าง ๆ เหล่านี้ ทราบดี มีข้อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯ หลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว ศาลอนุญาตปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมหลายราย หลายครั้งแม้การชุมนุมจะเรียบร้อย แต่บางแห่งมีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ ปฏิบัติในสิ่งไม่สมควร เพราะฉะนั้นเป็นห่วงตรงนี้ รัฐบาลเห็นชอบร่วมกัน ทำให้เกิดการประชุมในวันนี้ และไม่อยากให้เกิดการปะทะกัน ไม่อยากให้เกิดจลาจลในบ้านเมือง รัฐบาลรักษาสิทธิคนไทยทั้งประเทศ
@พร้อมแก้ไขนำประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่มั่นใจในวันนี้คือ คนไทยทุกคน ไม่ว่ามีมุมมองการเมืองอย่างไร แบบไหน เชื่อมั่นว่าทุกคนรักชาติ วัฒนธรรม รากเหง้า และความเป็นไทย และรู้ว่าต้องการอนาคตที่ดีของประชาชนและประเทศ 2 เรื่องนี้เราดำเนินการมาต่อเนื่อง รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่ ต้องหาหนทางแก้ไขนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น มีหลักการ มีเหตุผล ถูกต้อง ต้องเป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น ต้องไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่า เราจะได้สังคมที่แข็งแรง มีรากเหง้าที่หยั่งรากลึกเข้าไปในหัวใจทุกคน และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
“ในนามรัฐบาล ในนามขอนายกรัฐมนตรี ทราบดีว่ามีเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ต้องยอมรับว่าในไทยของเรา คนจำนวนหลายสิบล้านคน ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ลักษณะเกิดความวุ่นวายสับสนอลหม่าน ทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง ต้องมีความสมดุลความต้องการของแต่ละคนด้วยได้อย่างสร้างสรรค์” นายกรัฐมนตรี กล่าว
@‘สมพงษ์’ชี้ญัตติไม่สร้างสรรค์ เสนอ 4 ข้อหาทางออกประเทศ
ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า เมื่อได้อ่านญัตติของรัฐบาลที่เสนอมา ตนเองรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นญัตติที่ไม่สร้างสรรค์ และเนื้อหามีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทยให้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น และจะช่วยซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก ไม่สามารถเป็นทางออกให้กับสังคมได้แต่อย่างใด
นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการปัญหาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งนำพาไปสู่สถานการณ์รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากถ้อยคำ การกระทำ และมาตรการที่ออกมา ล้วนแต่เป็นการราดน้ำมันลงไปในกองไฟ ซ้ำเติมยั่วยุให้สถานการณ์ยุ่งยากมากขึ้นไปอีก สถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันนี้ ประเด็นข้อเรียกร้องล้วนเกิดมาจากเงื่อนปมที่ผูกไว้โดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ขาดความชอบธรรมตั้งแต่การเข้ามาสู่อำนาจ สร้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศ เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของตน มากกว่าเป้าประสงค์ที่รัฐธรรมนูญควรจะเป็น ทัศนคติที่คับแคบถือตนเป็นใหญ่ ไม่เห็นหัวประชาชนอยู่ในสายตา จึงได้ใช้วิธีจัดการกับผู้เห็นต่างด้วยการปราบปราม จับกุมคุมขัง การแก้ไขวิกฤติต้องไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงยั่วยุให้เกิดการปะทะกัน การใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการใช้กฎหมายที่เกินเลยกว่าความเป็นจริง รวมถึงการปิดกั้นสื่อที่เห็นต่าง ล้วนเป็นการกระทำที่สร้างแรงกดดันเพิ่มหรือตั้งใจจะสร้างความไม่พอใจที่จะนำไปสู่สภาวะที่ยากต่อการควบคุม
นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ขอเสนอให้การอภิปรายในสภาครั้งนี้ ต้ต้องแก้ปัญหา 4 ข้อ คือ 1.เปิดรับฟังข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษาและประชาชนอย่างจริงจัง 2.เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ไม่เตะถ่วงหรือดึงเวลาให้ล่าช้า 3.เร่งปลดเงื่อนไขที่เป็นมูลเหตุของวิกฤติ ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับคุมขัง และ 4.นายกรัฐมนตรีต้องลาออก
“ท่านคืออุปสรรคสำคัญที่เป็นภาระของประเทศ หากท่านลาออกจะถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดและความล้มเหลวทั้งปวดที่ได้กระทำลงไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาที่ศักดิ์แห่งนี้จะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเตะถ่วงเวลาและฟอกความล้มเหลวให้แก่รัฐบาล” นายสมพงษ์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage