นายกฯ เผย ครม.เตรียมขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เปิดพื้นที่ถกปัญหาสถานการณ์การชุมนุม ยืนยันยังไม่ขยายพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ขณะที่ 'วิรัช' เร่งถก กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน. 6 ญัตติให้จบ 22 ต.ค.นี้ - 'สุทิน' ชี้ฝ่ายค้านไม่หนุนยุบสภา ห่วงเลือกตั้งกลับมาเจอปัญหาเดิม แนะ 'บิ๊กตู่' ลาออก ถอดสลักการเมือง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลทราบว่าที่สภามีการหารือเพื่อเปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปถึงสถานการณ์การชุมนุมในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดนี้อยู่แล้ว โดยจะหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 20 ต.ค.2563 เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน รัฐบาลก็มีหน้าที่ตรงนี้ และตนไม่ได้ทำเพราะแรงกดดันของใคร แต่เพื่อเอาข้อเท็จจริงมาพูดกันในสภา เป็นไปตามกลไกของรัฐสภาในการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งลงไปให้ได้มากที่สุด
“วันนี้ปัญหาประเทศไทยก็มีหลายประการด้วยกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาทนำในเรื่องเหล่านี้ และยินดีที่จะใช้กลไกรัฐสภาในการแก้ปัญหา ผมยืนยันตรงนี้และจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.วันพรุ่งนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
เมื่อถามถึงการเพิ่มมาตรการกับกลุ่มผู้ชุมนุม เช่นขยายพื้นที่ ตอบว่า ยังไม่มีการขยายพื้นที่ใดๆทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามประนีประนอมมากที่สุดอยู่แล้ว ขออยู่ไม่กี่อย่างเองอย่ากระทำความผิด ทำลายทรัพย์สินราชการ ประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดระมัดระวังการกระทบกระทั่งกันในกลุ่มผู้ชุมนุม ทะเลาะกันเอง ตีกันเองเหล่านี้ก็ขอให้ระมัดระวังให้มากที่สุด แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ก็ขอร้องกันไม่กี่เรื่อง ขอให้การชุมนุมโดยสงบ รัฐบาลก็ผ่อนคลายไปบ้างแล้ว การใช้กำลังก็จะหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด แต่ขออย่าให้มีการสร้างสถานการณ์ให้นำไปสู่จุดนั้นก็แล้วกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการแล้วหรือไม่ว่าถ้าไม่จำเป็นจะไม่ให้มีการใช้กำลังเหมือนเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่คณะกรรมการเขาพิจารณากันอยู่”
เมื่อถามย้ำว่ามีการเปรียบเทียบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กับการชุมนุมทางการเมืองในอดีต พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คนละเรื่อง คนละเวลา คนละสถานการณ์ คนละรัฐบาล อย่ามาถามรัฐบาลตน แต่ก่อนนี้รัฐบาลใคร
เมื่อถามว่า ประกาศเคอร์ฟิว ว่า “ยังไม่ได้พูดถึงอะไรเลยสักอย่าง เธอก็ถามกันไปตลอด เราก็บอกว่ายังไม่มี แล้วจะถามให้มันมีอยู่ได้ ขอให้เข้าตรงนี้บ้าง”
ส่วนที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เชิญผู้แทนพรรคการเมือง หารือเกี่ยวกับการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายถึงสถานการณ์การชุมนุม โดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง นายชวน กล่าวว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งตนจะรีบร่างหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบภายในวันนี้
ต่อมา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ร่วมกันแถลงผลการประชุม โดยนายวิรัช กล่าวว่า นอกจากประเด็นการประชุมสมัยวิสามัญแล้ว ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการเปิดให้วุฒิสภาเข้ามาส่วนร่วมในเวทีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเวลาที่เราจะดำเนินการไปตามขั้นตอนหลังจากนี้ ส่วนการดำเนินการของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ทั้ง 6 ฉบับ ก็จะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ต.ค.2563 หากที่ประชุมเห็นว่าจะต้องนำเรื่อง รธน.มาพิจารณาด้วยทางเราก็พร้อมดำเนินการ อย่างไรก็ตามยังมีร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชนที่จะเข้าสู่สภาด้วย หากจะรอให้พิจารณาร่วมกันก็ย่อมได้ เพราะหลังจากนั้นก็จะมีการพิจารราในวาระที่ 2-3 ต่อไป ฉะนั้นจะอยู่ในห้วงเวลาเดียวกัน
“ขอฝากไปถึงผู้ที่ชุมนุมด้วยว่า ในส่วนข้อเรียกร้องดูแล้วมีสิ่งที่น่าจะทำได้ก็คือเกี่ยวกับการแก้ไข รธน. ขอฝากไว้ว่า เราก็พยายามอย่างเต็มที่ แล้วก็เป็นไปในทิศทางในส่วนที่คิดว่าได้ดูแลความต้องการเรื่องนี้ให้ได้มากและดีที่สุด” นายวิรัช กล่าว
นายสุทิน กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่เป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาพิจารณาเพื่อเป็นข้อเสนอกับรัฐบาลไป หลายคนเสนอว่าให้ควรยกเลิกหรือจะยกเลิกก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญก็เป็นเรื่องดี รวมถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่มีการพูดกันว่า ควรจะต้องมีการโหวตรับหรือไม่รับร่างแก้ไข รธน.ด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่ายังมีร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชนที่จัดทำโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ที่บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระในวันที่ 12 พ.ย.2563 จึงอยากจะให้ทำพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม นายสุทิน กล่าวถึงกรณีที่มีการยุบสภาด้วยว่า ส่วนตัวเห็นว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และเหมือนนำปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันไปแก้ไขอีกครั้งในปีหน้า นอกจากนี้หากยุบสภา ก็ต้องใช้ระบบเลือกตั้งเดิม ทำให้ปัญหาวนกลับมาอีก และคำว่าสืบทอดอำนาจก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาอีก ทางออกที่ดีที่สุดคือทำให้กระบวนการแก้ไข รธน.เกิดขึ้น และจะเอาใครมาเป็นรัฐบาลในช่วงนี้ก็ต้องช่วยกันคิด ต้องเป็นรัฐบาลที่ทุกฝ่ายยอมรับและสามรถถ่วงดุลตรวจสอบได้
เมื่อถามถึง ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในเรื่องของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น นายสุทิน กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าทางรัฐสภาไม่สามารถพูดได้โดยตรง แต่หากมีการตั้งเวทีขึ้นมาและเปิดโอกาสให้พูดว่าการปฏิรูปนี้คืออะไร ต่างจากการล้มล้างหรือไม่ และต้องการปฏิรูปอะไร ก็เชื่อว่าต้องมีการรับฟังอย่างเป็นเหตุเป็นผลก่อน ซึ่งอะไรทำได้หรือไม่ได้สังคมจะมีคำตอบเอง จึงไม่ควรไปวิตกกับข้อเสนอดังกล่าวหากมีการพูดคุยกันอาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครเปิดเวทีดังกล่าว และรัฐสภาควรเป็นผู้หารูปแบบว่าการเปิดเวทีลักษณะนี้ควรเป็นอย่างไร
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเสนอประเด็นมาตรา 27 เพื่อให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง นายสุทิน กล่าวว่า เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทั้ง 700 คนมี วิจารณญาณว่าอะไรสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มาตราดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้แต่ต้องมาคิดกันว่าสถานการณ์ปัจจุบันนี้เหมาะสมหรือไม่ ส่วนที่ว่าหากนายกรัฐมนตรีลาออกและใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อนั้น ต้องขึ้นอยู่กับสภาและประชาชน โดยส่วนตัวเห็นว่ามี 2 กลไกตามรัฐธรรมนูญคือเลือกตามแคนดิเดตเดิม หรือการใช้มาตรา 272 ก็ได้หรือใครที่นอกเหนือจากนี้ก็เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ ด้วยการฟังเสียงของสังคม
นายสุทิน กล่าวด้วยว่า ทางฝ่ายค้านต้องมีการหารือเรื่องเหล่านี้กันอีกครั้ง แต่ตนคิดว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นคนถอดสลักต่อปัญหานี้ หรือหากพรรคร่วมรัฐบาล ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมก็ถือว่าเป็นทางออกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามถ้าทุกคนตระหนักดีว่าสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ควรคิดได้ว่าต้องถอนตัว และเชื่อว่าระบบรัฐสภามีทางเลือกจำนวนมาก ขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage