‘คลัง’ ประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดรองราชการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินฉบับใหม่ กรณีถุงยังชีพเบิกจ่ายไม่เกินชุดละ 700 บาทต่อครอบครัว ซ่อมบ้านเสียหายไม่เกินหลังละ 4.95 หมื่นบาท ค่าดำรงชีพไม่เกิน 3,800 บาทต่อครอบครัว
...............
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา นายจำเริญ โพธิยอด รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายจ่ายและหนี้สิน ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามประกาศหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 เป็นต้นไป
พร้อมกันนั้น ประกาศฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 21 มี.ค.2562
สำหรับสาระสำคัญหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฉบับใหม่ แบ่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เป็น 7 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการดำรงชีพ ให้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงิน เช่น ค่าอาหารจัดเลี้ยง วันละไม่เกิน 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน ค่าถุงยังชีพ ชุดละไม่เกิน 700 บาทต่อครอบครัว ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 3,800 บาท และค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท เป็นต้น
2.ด้านสังคมสงเคราะห์ ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยจัดโครงการฝีกอบรมส่งเสริมอาชีพระยะสั้นเฉพาะพื้นที่ประสบภัยพิบัติแก่ผู้ประสบภัยเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวในภาวะวิกฤต เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์การฝึกอาชีพ เท่าที่จ่ายจริงคนละไม่เกิน 2,000 บาท ค่าใช้จ่ายตอบแทนวิทยากร วันละไม่เกิน 500 บาท ไม่เกิน 10 วัน เงินทุนประกอบอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรม เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน 4,000 บาท เป็นต้น
3.ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เช่น ค่าวัสดุ เคมีภัณฑ์ สำหรับไปทำความสะอาดบ่อน้ำตื้นของประชาชนบ่อน้ำละไม่เกิน 250 บาท ค่าน้ำดื่มแก่ครอบครัวที่ขาดแคลนน้ำสะอาดบริโภค ครอบครัวละ ไม่เกิน 200 บาท ค่าอาหารเสริมโปรตีน และอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแก่ประชาชนผู้ประสบภัย เพื่อการฟื้นฟูสภาพร่างกายและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค ครอบครัวละไม่เกิน 570 บาท เป็นต้น
4.ด้านการเกษตร ให้ดำเนินการช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลแต่ละด้านของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนเกิดภัยพิบัติแล้วเท่านั้น เช่น ด้านพืชให้ความช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริงที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยคิดจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ย ตามชนิดของพืช คือ กลุ่มพืชอายุสั้น และกลุ่มไม้ผล
ด้านประมงให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ อาหารสัตว์น้ำ วัสดุทางการประมง ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ด้านปศุสัตว์ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีที่เป็นการจัดหาอาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพสัตว์เลี้ยง และจัดหาอาหารสัตว์ตามราคาท้องตลาดหรือตามความจำเป็นและเหมาะสม ส่วนกรณีสัตว์ตายหรือสูญหายหรือแปลงหญ้าอาหารสัตว์เสียหาย ให้ช่วยเหลือตามความจำเป็นและเหมาะสม
5.ด้านบรรเทาสาธารณภัย ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ โดยเบิกจ่ายได้ในหลายรายการ เช่น การจัดหาภาชนะรองรับน้ำ อาทิ โอ่งซีเมนต์ ถังเหล็กอาบสังกะสี ถังเก็บน้ำ ค.ส.ล. ถังปูนฉาบเสริมลวด หรือถังเก็บน้ำประเภทอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การซ่อมแชมภาชนะรองรับน้ำที่ชำรุดเสียหาย เพื่อให้สามารถใช้เก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค เป็นต้น
6.ด้านการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้เบิกค่าใช้จ่าย เช่น ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำหรือผลักดันน้ำเครื่องปั่นไฟ เครื่องมืออุปกรณ์ด้านการกู้ชีพกู้ภัย ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ค่ากระแสไฟฟ้า สำหรับยานพาหนะเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำหรือผลักดันน้ำ เครื่องปั่นไฟ ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้
7.กรณีมีความจำเป็น หากรายการใดมิได้กำหนดให้จ่ายเป็นเงิน ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจอนุมัติให้การช่วยเหลือพิจารณาให้จ่ายเป็นเงินก็ได้ โดยคำนึงถึงสภาพและเหตุการณ์ตามความเหมาะสม
อ่านประกอบ :
'วิษณุ'เร่ง ป.ป.ท.สางคดีทุจริตเก็บข้าวในคลัง-นายกฯสั่งติดตามค่าเสียหายโครงการรับจำนำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage