ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลดโทษจำคุก ‘ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ’ อดีตอธิการบดี ม.อุบลฯ คดีอนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนไปทอดกฐิน-ให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาภายในแก่บุคลากรมิชอบ เหลือ 9 ปี 28 เดือน เหตุศาลชั้นต้นคำนวณไม่เป็นไปตาม ป.อาญา เจ้าตัวยื่นฎีกาต่อ
.................................
จากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำคุก ศ.ประกอบ วิโรจนกุฎ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเวลา 11 ปี 4 เดือน โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช). ชี้มูลความผิดกรณีอนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยโดยมิชอบนั้น (อ่านประกอบ : ศาลฯ สั่งจำคุก 11 ปี 4 เดือน ศ.ประกอบ อดีตอธิการฯ ม.อุบล คดีทอดกฐิน-ให้ทุนมิชอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมา ศ.ประกอบ ได้ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษา โดยแก้ไขเกี่ยวกับการคำนวณระยะเวลาจำคุก จากเดิม 11 ปี 4 เดือน เหลือจำคุก 9 ปี 28 เดือน นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้จำเลย (ศ.ประกอบ) กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน และเป็นการไม่ชอบ เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับ 30 วันเป็น 1 เดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้นการกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วัน หรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ
ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤตมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 43 จึงมีคำพิพากษาแก้ดังกล่าว
มีรายงานว่าภายหลังศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว ศ.ประกอบ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ จ.สุรินทร์ ได้ขอยื่นฎีกา และขอขยายระยะเวลาฎีกา และมีการยื่นฎีกาไปเมื่อ 29 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาว่าจะอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ศาสตาจารย์ประกอบ มีโทษความผิดทางวินัยร้ายแรง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ.2534 และใช้จ่ายเงินรายได้ที่ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ.2533 และยังถูกชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ด้วย ก่อนได้ส่งสำนวนให้กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องคดีไปตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
ส่วนมาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิด ของ ศาสตาจารย์ประกอบ มี 2 ส่วนหลัก คือ
1. อนุมัติให้ยืมเงินสำรองหมุนเวียน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบราชการ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการทอดกฐินสามัคคีและมอบทุนการศึกษาประจำปี 2549 2.การให้ทุนแก่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ในโครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษา ครั้งที่ 1 และ 3. โครงการส่งเสริมศักยภาพครูผู้สอนภาษาอังกฤษจากการเรียนรู้สภาพจริงกับเจ้าของภาษาครั้งที่ 2
2. อนุมัติให้กู้ยืมเงินสวัสดิการเพื่อการศึกษาแก่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยทั้งข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 165 ราย โดยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีไม่ได้จัดสรรรายได้ตั้งเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อนุมัติงบประมาณสำหรับการให้กู้ยืม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ หรือขาดการเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคสามและวรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 อาศัยอำนาจตามมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2554 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ประกอบมาตรา 30 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 จึงลงโทษไล่ออกศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจนกุฏ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2553 เป็นต้นมา
อ่านประกอบ : ศาลฯ สั่งจำคุก 11 ปี 4 เดือน ศ.ประกอบ อดีตอธิการฯ ม.อุบล คดีทอดกฐิน-ให้ทุนมิชอบ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/