ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง ‘ธาริต เพ็งดิษฐ์’ ไม่ได้กลั่นแกล้งร้องถอนประกัน ‘พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม’ ชี้มีพฤติการณ์ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานจริง ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
.................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี อ่านคำพิพากษาคดีที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ และ พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรนันท์ ศรีล้ำ อดีตผู้อำนวยการกองบริหารคดีพิเศษ และอดีตรองโฆษกดีเอสไอ และ พ.ต.ท.สุวิชชัย หรือเกียรติกรณ์ แก้วผลึก เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย มาตรา 157 สร้างหลักฐานการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเเจ้งความอันเป็นเท็จต่อศาล มาตรา 137
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เชื่อได้ว่า นายธาริต จำเลยที่ 1 ในฐานะอธิบดีดีเอสไอเป็นผู้ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น สั่งใช้มาตรการพิเศษคุ้มครองพยานปากจำเลยที่ 3 โดยมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 5 คน ที่ รมว.ยุติธรรม แต่งตั้ง เป็นการปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่ตามลำดับชั้นบังคับบัญชา ซึ่งต้องดำเนินการเป็นความลับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ในคดีอาญา พ.ศ.2546 มาตรา 9 และ 10 พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบยังไม่พอฟังว่าการคุ้มครองพยานจำเลยที่ 3 เป็นเท็จ
ส่วนการยื่นขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวโจทก์ทั้งสองของจำเลยที่ 1-2 เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า ในคำร้องขอคุ้มครองพยานระบุว่า ถูก พล.ต.ท.สมคิด โจทก์ที่ 1 ใช้ให้บริวารตามข่มขู่จำเลยที่ 3 และครอบครัว เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 3 เข้าเบิกความเป็นพยานในคดีอาญา รวมทั้งโจทก์ที่ 1 แถลงข่าวในทางทำให้จำเลยที่ 3 เสื่อมเสีย จนไม่อาจอยู่เป็นปกติสุขได้ แม้จำเลยที่ 3 เปลี่ยนชื่อก็ยังไม่พ้นต้องขอเปลี่ยนที่อยู่และคุ้มครองความปลอดภัย กรณีนี้โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว แม้โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าเป็นการค้นหาความจริงเพื่อเอาผิดจำเลยที่ 1 กับพวก ร่วมกันพาจำเลยที่ 3 ออกนอกประเทศโดยมิชอบ
กรณีนี้ นายชาญเชาว์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการณ์แทนปลัดกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น เบิกความว่าได้หนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศส่งมาจากสถานทูตซาอุดิอาระเบีย มีข้อความแปลเป็นไทยสรุปข้อความได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับและเผยแพร่เอกสารที่เป็นเรื่องลับและละเอียดอ่อนเกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อและออกหนังสือเดินทางให้กับจำเลยที่ 3 พร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ทางสถานทูตมีความประหลาดใจที่โจทก์ที่ 1 เป็นอิสระที่ทำเรื่องที่ว่าโดยไม่มีการสอบสวนใด ๆ บ่งชี้ถึงความสามารถที่ใช้อิทธิพลอำนาจในทางที่เป็นเพื่อให้ได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น พร้อมใช้ประโยชน์จากสื่อมีการแถลงข่าวพร้อมเหล่าข้าราชการแจกใบปลิว มุ่งที่จะให้กระบวนการยุติธรรมเสื่อมเสียชื่อเสียง ทางสถานทูตเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะกดดัน จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนจำเป็น เพื่อลดความกังวลของรัฐบาลซาอุฯ
เมื่อนายธาริต จำเลยที่ 1 พิจารณาข้อเท็จจริงในหนังสือดังกล่าวประกอบคำร้องจำเลยที่ 3 พบว่ามีมูลตามคำขอ จึงนำไปยื่นต่อศาลอาญา ขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวโจทก์ เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกันเห็นว่า พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งสองเป็นการยุ่งเหยิงกับพยานตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 108/1 (2)(5) จึงทำคำร้องโดยอ้างเหตุตามข้อเท็จจริงที่ได้มาไปยื่นต่อศาลอาญา เป็นการใช้ดุลยพินิจตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 108/1 (2)(5) ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย กรณีจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1-2 นำข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าวเบิกความต่อศาลอาญาตามคำร้องนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (แจ้งความอันเป็นเท็จต่อศาล) และคดีขาดอายุความหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายธาริต อธิบดีเอสไอในขณะนั้นกับพวก มีคำสั่งให้นำ พ.ต.ท.สุวิชชัย หรือเกียรติกรณ์ แก้วผลึก พยานโจทก์ในคดีการหายตัวไปของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ศาลอาญาให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยสายการบิน ey402 ทั้งที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย เป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดมีนบุรีได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในคดีร่วมฆ่าฯ เชื้อพระวงศ์ลาว ซึ่งศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศไว้
แต่ภายหลังจำเลยกลับมายื่นคำร้องขออนุญาตศาลอาญาให้ส่งประเด็นไปสืบต่างประเทศ โดยอ้างว่าพบพยานดังกล่าวหลบหนีหมายจับไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์อนุญาตส่งประเด็นไปสืบต่างประเทศ ทั้งที่ความจริงเเล้วตอนนั้นพยานโจทก์ปากดังกล่าวพำนักอยู่ในไทย แต่อัยการโจทก์ไม่สามารถนำตัวมาเบิกความที่ศาลอาญาโดยเปิดเผยได้ เนื่องจาก พ.ต.ท.สุวิชชัย เป็นจำเลยหลบหนีหมายจับของศาลจังหวัดมีนบุรี
นายธาริตกับพวกซึ่งทำหน้าที่รายงานความคืบหน้าการส่งประเด็นไปสืบพยานต่างประเทศตามคำสั่งศาลอาญาในขณะนั้น เป็นผู้ซื้อตั๋วเครื่องบินให้ พ.ต.ท.สุวิชชัย เเละเจ้าหน้าที่ดีเอสไออีกสองคนเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อดำเนินการสืบพยานลับหลังจำเลยในคดีการหายตัวไปของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ด้วยช่องทาง พ.ร.บ.ร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาฯ ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะความจริงแล้ว การสืบพยานต่างประเทศด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว จะต้องเป็นกรณีที่พยานมีภูมิลำเนาต่างประเทศ มิใช่เกิดจากการนำพยานเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขการส่งประเด็นไปสืบ แต่กลับเเจ้งต่อศาลว่าพบพยานดังกล่าวหลบหนีหมายจับอยู่ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กระทั่งตรวจสอบพบว่า จำเลยทั้งสามในฐานะตัวการเเละผู้สนับสนุน ร่วมกันสร้างพยานหลักฐานการคุ้มครองพยานมาตรการพิเศษ โดยอ้างว่าโดนโจทก์ข่มขู่พยาน เพื่อเป็นข้ออ้างแก้ตัว กรณีโดนโจทก์ร้องคัดค้านการนำพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย เดินทางออกนอกประเทศ ว่าเป็นการคุ้มครองพยานเพื่อนำไปสืบพยานที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอ้างเป็นหลักฐานแจ้งต่อศาล ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวแก่โจทก์ทั้งสอง จึงเท่ากับจำเลยมีเจตนาพิเศษกลั่นแกล้ง เพื่อให้โจทก์ถูกศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวในขณะนั้น หากศาลเชื่อตามคำร้องเท็จของจำเลย
ศาลไต่สวนแล้วคดีมีมูลประทับรับฟ้อง จำเลยที่ 1-2 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 3 หลบหนี จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายธาริต จาก https://img.tnews.co.th/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage