รัฐสภาเริ่มอภิปรายปมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ ฝ่ายค้าน-รัฐบาล หนุนตั้ง สสร. ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 - 'สมพงษ์'ย้ำยกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ - 'วิรัช'เชื่อแก้ไข รธน. ยุติปัญหาความขัดแย้งบ้านเมือง ส่วน ปชป.ชูจุดยืนแก้ รธน.ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง พร้อมยกมือหนุนทั้ง 2 ฝ่าย
------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2563 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) จำนวน 6 ญัตติ โดยมี 2 ญัตติจากฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่เสนอการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เพิ่มหมวด 15/1 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขณะเดียวกันก็มีอีก 4 ญัตติที่มีการเสนอแก้ไขรายมาตรา โดยใช้เวลาอภิปราย 23-24 ก.ย.นี้ ส่วนการลงมติจะรับหลักการทีละฉบับ โดย
@‘สมพงษ์’ย้ำยกเลิก ส.ว.โหวตนายกฯ
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน และ ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 หรือเรียกว่า ตั้ง สรร. เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ หมวด 2 เนื่องจากการแก้ไขมาตรานี้ต้องมีเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง และเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 อีกทั้งในวาระที่ 3 ต้องมี ส.ส.จากฝ่ายค้านเห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% และต้องมีการออกเสียงประชามติ ทำให้มีการแก้ไข รธน.ทำได้ยากจนไม่อาจแก้ไขได้และไม่ทันต่อสถานการณ์ จึงเห็นควรจัดตั้ง สสร. เพื่อยกร่าง รธน.ฉบับใหม่
นายสมพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนหลักการและเหตุผลในการเสนออีก 4 ญัตติเพื่อแก้ไขยกเลิกมาตรา 270 – 272 เป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดกับหลักถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ขัดต่อหลักการถ่วงดุลอำนาจ อีกทั้ง ส.ว.ยังมีสิทธิ์ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนญัตติขอให้ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชน ขัดหลักสิทธิเสรีภาพ ยังได้การรับรองให้ชอบด้วย รธน.ทั้งที่ คสช.สิ้นสุดไปแล้ว เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องของระบบเลือกตั้ง ซึ่งการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมีปัญหาหลายด้าน ยุ่งยากในการปฏิบัติ ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และเห็นว่าควรกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ประชาชนเข้าใจดีอยู่แล้ว
@พรรคร่วมรัฐบาลหนุนตั้ง สสร.ดึงทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พลังประชารัฐ อภิปรายการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 เนื่องจากเมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับไประยะหนึ่ง และเห็นว่ามีปัญหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมประชาชน ปัญหาการกระจายอำนาจ ปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพ จึงเห็นควรให้มีการทบทวนรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อตั้ง สสร. แก้ไข รธน.ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
ต่อมาหลายพรรคการเมืองชูประเด็นตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคพลังประชารัฐไม่มีนโยบายแก้ไขเรื่องนี้ แต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็ปรากฎเป็นนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้ก็มีกลุ่มภาคประชาชนทั้งคณะประชาชนปลดแอก หรือกลุ่มไทยภักดีกำลังเคลื่อนไหว ดังนั้นไม่ว่าจะแก้ไขมากหรือน้อยก็ต้องเกิดปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งตนเองอยากเห็นบ้านเมืองสงบไม่แบ่งแยก และยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีเจตนารมณ์แก้ไขในมาตราที่เป็นปัญหา และยืนยันไม่แก้หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาโหวตลงมติรับหลักการญัตติพรรคร่วมรัฐบาล และขอให้ร่วมกันพิจารณาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศต่อไป
@'อนุดิษฐ์'เชื่อประเทศเสียหายถ้าไม่แก้ รธน.
ด้าน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเห็นว่า รธน.ฉบับปัจจุบันถูกออกแบบมาให้ประเทศอ่อนแอ การเมืองก็อ่อนแอ กระทบความเชื่อมั่นของไทยส่งให้หมดความน่าเชื่อถือต่อประชาคมโลก ทั้งนี้เชื่อว่า ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลจะให้ความเห็นชอบตามญัตติที่เสนอ จึงเหลือเพียงเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เท่านั้น ส่วนประเด็นที่มีคนทักท้วงว่าการแก้ไข รธน.ทั้งฉบับจะใช้เงินจำนวนมาก ตนก็เห็นว่า หากประเด็นการแก้ไข รธน.ยังเป็นความขัดแย้งอยู่ในสังคม จะเกิดความเสียหายมากกว่าเงินในการออกเสียงประชามติ เช่นเดียวกรณีที่มีคนเป็นห่วง การแก้ไข รธน.จะทำให้การแก้ไขปัญหาประเทศด้านอื่น ๆหยุดชะงัก ตนขอยืนยันว่า การแก้ไข รธน.เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนการแก้ไขปัญหาประเทศเป็นหน้าที่ฝ่ายบริหาร จึงเห็นว่า ควรเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน และไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลแต่อย่างใด
@ปชป.พร้อมหนุนแก้ รธน.ทั้งฉบับรัฐบาล-ฝ่ายค้าน
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคได้ชูประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พรรคตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงขอยืนยันในหลักการเดิมว่า ยังสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ยังเห็นว่า ไม่ควรมีการแก้ไขหมวด 1 และ หมวด 2 ที่ถือเป็นรูปแบบของประเทศและเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการมีอยู่ของวุฒิสภา แต่ถ้า ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรจะตัดหรือควรมีอำนาจอย่างจำกัด เช่น ส.ว.ควรทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายต่อจาก ส.ส. หรือ ช่วยควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ขอยืนยันชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะลงมติรับหลักการญัติตการแก้ไข รธน.มาตรา 256 ทั้งฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage