เผยผลสอบ สตง. ชี้ปัญหาใช้จ่ายงบรัฐทำห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์นวัตกรรมการศึกษา อบจ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี 56 - 62 พบปัญหาเพียบ โครงการส่อเหลว - 'ห้องสมุดดิจิตอล' เปิดใช้งานไม่ได้ 13 โปรแกรม - สุ่มตรวจสอบ 38 ห้องเรียน การบริหารพัสดุมีความเสี่ยงเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ครุภัณฑ์บางรายการไม่มีให้ตรวจสอบสูญหาย จี้หาตัวผู้รับผิดชอบ
......................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมการศึกษาของ องค์การบริหารส่วน (อบจ.) จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 - 2562 ซึ่ง อบจ.กาฬสินธุ์ ได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนการศึกษาเพื่อดำเนินการจัดหาอุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาจัดการเรียนรู้ใน ห้องเรียนสร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบสตง.พบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ขณะที่การบริหารจัดการโครงการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
โดยการดำเนินงานในส่วน ห้องสมุดดิจิตอล เพื่อเป็นที่เก็บรวบรวมสื่อการเรียนในรูปแบบดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อิเล็กทรอนิกส์ วีดีทัศน์ ภาพ หรือ เสียงที่บันทึกไว้เพื่อได้ศึกษาค้นคว้า ปลูกฝังและส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์ จากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า ซอฟแวร์ (Software) โปรแกรมระบบห้องสมุดดิจิตอล ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ จำนวน 13 โปรแกรม โปรแกรมที่มีเนื้อหาที่เป็นสื่อ VDO ไม่สามารถเปิดได้
ห้องพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านวิชาการด้วยระบบ ON DEMAND จำนวน 12 โรงเรียน จาก การตรวจสอบ 9 โรงเรียน พบว่า มีเพียง 1 แห่ง ที่ใช้ประโยชน์ทั้งโปรแกรม ระบบ ON DEMAND และเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนอีก 8 แห่ง ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์- คณิตศาสตร์ (GIFTED) ก็ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน
ส่วนศูนย์การศึกษาภาษานานาชาติ จากการตรวจสอบโรงเรียนสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์ จำนวน 7 โรงเรียน พบว่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์และใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ศูนย์การเรียนรู้ประชาคมอาเซียน จากการตรวจสอบ จำนวน 9 โรงเรียน พบว่า ได้ใช้ประโยชน์จำนวน 1 แห่ง ไม่ได้ใช้ประโยชน์และ ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ จำนวน 8 แห่ง
ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้เรียนทางด้านวิชาการ (TUTOR) จากการตรวจสอบ พบว่า ใช้ประโยชน์ ไม่เต็มประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีการใช้งานในการเรียนการสอนและจัดติวให้กับนักเรียน แต่ยังไม่จัดทำเป็น ศูนย์เพื่อถ่ายทอดสดไปยังโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดตามวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ พบว่า โปรแกรมระบบ พัฒนาศักยภาพของผู้เรียนด้านวิชาการ (TUTOR) มีรายการไม่ครบตามจำนวนเมนูที่ปรากฏบนหน้าจอ
ขณะที่จากการตรวจสอบการบริหารพัสดุ ที่ได้รับตามโครงการ นั้น สตง. ระบุว่า การสุ่มตรวจสอบห้องเรียน อิเล็กทรอนิกส์ และนวัตกรรมการศึกษา จำนวน 38 ห้อง พบว่าการบริหารพัสดุของอบจ.และโรงเรียนในสังกัดมีความเสี่ยงในด้านการควบคุมภายใน ซึ่งอาจทำให้เกิดความ เสียหายแก่ทางราชการ
นอกจากนี้ ครุภัณฑ์บางรายการของห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 5 ห้อง ได้แก่ ห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 1 ห้อง ศูนย์การศึกษาภาษานานาชาติ จำนวน 3 ห้อง และศูนย์การ เรียนรู้ประชาคมอาเซียน จำนวน 1 ห้อง เช่น เครื่องแท็บเล็ต เครื่องพิมพ์ (Printer) และเครื่อง คอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) เป็นต้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและ การบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 112และ113 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หมวด 9การบริหารพัสดุ ข้อ 203
เบื้องต้น กรณีครุภัณฑ์ไม่มีให้ตรวจสอบและหรือสูญหายนั้น สตง. ได้แจ้งให้ อบจ.กาฬสินธุ์ ให้เร่งรัดการดำเนินการเพื่อหาผู้รับผิดชอบ ชดใช้ความเสียหายให้กับทางราชการโดยเร็วแล้ว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage