'อภิสิทธิ์' แนะหาจุดร่วมครั้งใหม่ก่อนเกิดความรุนแรงทางการเมือง เฉ่ง รธน. 60 ไม่เป็นประชาธิปไตย จี้แก้ ม.256 ตั้ง สสร. รื้อร่างใหม่ทั้งฉบับ - 'จาตุรนต์' ชี้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ไร้ความหมาย ถ้าไม่แก้อำนาจ ส.ว. - 'ธนาธร' ลั่นแก้ รธน.จุดเริ่มต้นการหยุดระบอบประยุทธ์ เผยทำงานมา 2 ปีหมดศรัทต่อรัฐสภาชุดนี้แล้ว
---------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ย. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง 'ประเทศไทยในทศวรรษหน้า' เนื่องในโอกาสครบ 60 ปี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี , นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะก้าวหน้า เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยใน 10 ปีข้างหน้า จะเกิดการปะทะกันทางความคิดครั้งใหญ่ เนื่องจากมีคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไปข้างหน้า และคนที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยมีแรงขับหลายด้าน เช่น ด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วมีนวัตกรรมเข้ามาทดแทนของเดิม ด้านภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก สงครามการค้า ความเหลื่อมล้ำ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ยังไม่พร้อม ทั้งหมดจะเป็นแรงขับให้มีการปะทะกันทางความคิด ทั้งนี้เราไม่สามารถนำประเทศไปด้วยโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมได้อีก ดังนั้นคนจำนวนมากต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และมีกลุ่มที่คิดว่าโครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมจะสามารถนำประเทศไปช้างหน้าได้ จึงเกิดความขัดแย้งขึ้น
“ผลของการปะทะทางความคิดรอบนี้ จะมีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ 1.เกิดการปะทะสู่การแตกหัก รุนแรง จนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง 2.วนเวียนตามวัฏจักรเดิมของประทศไทย คือมีการรัฐประหาร มีรัฐบาลเฉพาะกิจ แล้วเลือกตั้ง วนอยู่แบบนี้กันต่อไป และทางออกที่อยากเห็นคือ 3.หาจุดร่วมครั้งใหม่ โดยที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องมีความจริงใจและแก้ปัญหาในครั้งนี้ ร่วมทั้งทุกฝ่ายร่วมมือกัน อยู่บนความแตกต่างให้ได้ ”
อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ถ้าประชาชนแสดงออกจำนวนมาก แล้วผู้มีอำนาจไม่ตอบสนอง สุดท้ายจะเกิดการปะทะกัน ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นปัญหาและไม่เป็นประชาธิปไตย นำมาสู่เหตุการณ์ขัดแย้งในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ต้องรีบแก้เพื่อเปิดทางในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ด้วยผู้มีอำนาจไม่มีความจริงใจและเงื่อนไขของรอบเวลาในการแก้รัฐธรรมนูญที่ยาวนาน ทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ยิ่งตอนนี้มีปัญหาเรื่องของเศรษฐกิจ และภาวะกดดันอื่นทั้งภายนอกภายใน ถ้าไม่รีบเปลี่ยนแปลงไม่ตอบสนองต่อความคิดของคนส่วนใหญ่ อาจจะเกิดการปะทะขึ้นได้
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ทศวรรษหน้าประเทศไทยได้เจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศจะไม่เฟื่องฟูดังเดิม โลกาภิวัฒน์มีการเปลี่ยนแปลง กระแสชาตินิยมมากขึ้น รวมทั้งสงครามการค้าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะโควิดซ้ำเติม การท่องเที่ยวจากต่างประเทศและส่งออกไม่เหมือนเดิม เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น ยังมีการผูกขาดทางธุรกิจ ปัญหาของผู้สูงอายุที่มากขึ้น และสภาพการเมืองการปกครองช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาระหว่างคนที่จะพยายามพาประเทศไปข้างหน้าและดึงประเทศถอยหลัง
“เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรถ้าการเมืองการปกครองยังเป็นอยู่แบบนี้ เราต้องการเปลี่ยนแปลงปรับตัวให้ทันกับโลก แต่เรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่สอดคล้อง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่นักเรียนนักศึกษาเสนอ ให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าเราจะอยู่แบบเดิม มีรัฐประหาร ก็มีแต่ยิ่งถอยหลังไปใหญ่ ตรงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของจุดเปลี่ยน ว่าเราจะไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่อีก 10 ปีหรือจะหาทางออกเพื่อให้การเมืองเอื้ออำนวยให้เกิดการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้”
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ในตอนนี้ เป็นการผูกขาดอำนาจ อยู่ในคนกลุ่มเล็ก ๆ การแก้ปัญหา ต้องมี สสร. ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งหมด แต่ปัญหาคือใช้เวลาอย่างน้อย 15 เดือน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ถึง 15 เดือนหรือไม่ อาจมีการยุบสภา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล ไม่ใช่การแก้ปัญหาประเทศ หากยุบสภาโดยไม่แก้รัฐธรรมนูญว่าด้วย อำนาจ ส.ว. ก็จะไม่แก้ปัญหาเลย กลับมาเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง ทั้งนี้กระบวนการ สสร.หากให้ประชาชนมีส่วนร่วม การทำประชามติที่เปิดกว้างและเป็นธรรม จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
ส่วน นายธนาธร กล่าวว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าของประเทศไทย ตนอยากเห็นประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง อยากเห็นการแบ่งทรัพยากรที่เป็นธรรม ไม่ใช่ผูกขาดเพียงไม่กี่ตระกูล บริการสาธารณะที่ดี อยากเห็นการสร้างรัฐสวัสดิการ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยคนไทย อยากเห็นประเทศไทยยืนอยู่ในสังคมโลกอย่างภาคภูมิ และอยากเห็นความเสมอภาคทุกภาคส่วน เป็นต้น แต่ในเวลานี้ตนฝันแบบนี้กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นคนชังชาติ หลังจากได้เข้าไปทำงานเป็นกรรมาธิการงบประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าสิ่งแหล่านี้ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป เพราะเราใช้ทรัพยากรเปลืองมาก เรามีศักยภาพที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้
นายธนาธร กล่าวต่อว่า เราจะไปสู่จุดนั้นไม่ได้ ถ้าเราไม่แก้โจทย์ ไม่แก้ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการชุมนุมปิดเมือง การปิดสถานที่ราชการ การปิดคูหาเลือกตั้ง การสลายชุมนุม การยุบพรรคการเมือง การรัฐประหาร การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ ถ้าหากปล่อยให้การเมืองเป็นแบบเดิม ก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ เราทุกคนนำพาประเทศมาสู่ทางตันตรงนี้ ดังนั้นความฝันจะไม่เป็นจริงขึ้นได้ ถ้าในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะครบรอบ 14 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เราทุกคนไม่ย้อนมองสิ่งที่ผ่านมา ว่าเราทำอะไรไปบ้าง เพราะเรามีส่วนทำให้ประเทศถึงทางตัน ซึ่งเชื่อว่าเรายังมีโอกาส ขั้นแรกที่สุดต้องหยุดระบอบประยุทธ์ที่อยู่ในรูปของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องเริ่มที่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นบันไดก้าวแรก หลักจากนั้นค่อย ปฏิรูประบบราชการ ยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจ ปฏิรูปกองทัพ ทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด รวมถึงยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ต่อไป
“ผมไม่เหลือความศรัทธาในรัฐสภาชุดปัจจุบันแล้ว ในการทำงาน 2 ปี ที่ผ่านมา ผมไม่เชื่อว่าจะมีเจตนาที่แรงกล้าในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปข้างหน้า และหลุดออกจากความขัดแย้งในครั้งนี้ได้ วิธีเดียวที่จะหยุดความรุนแรงในครั้งนี้ได้คือการออกไปชุมนุมให้มากที่สุด เพราะต้องการให้ผู้มีอำนาจเปิดใจเจรจากันอย่างสันติไม่ต้องฆ่าฟันกันต่อไป ”
ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องกำหนดกรอบเวลาที่น้อยลงกว่านี้ ทั้งนี้ในส่วนของรัฐธรรมนูญ ตนมองว่ามาตรา 272 ควรแก้ไขด้วย เพื่อไม่ให้รัฐบาลยุบสภาหนี ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดจะถูกยกเลิกไป กลับไปใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เลือกตั้งอีกครั้ง ก็ได้ ส.ว. กลับมาโหวตนายกรัฐมนตรีอีก ก็จะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดเลย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage